9 สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน รู้ทันป้องกันได้

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณของน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้ลดลง ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ของโรคเบาหวานยังน่าเป็นห่วง โดยสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี ค.ศ.2045 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคนทั่วโลก จาก 463 ล้านคนในปี ค.ศ.2019 และเพื่อให้คนทั่วโลกเล็งเห็นถึงความอันตรายของโรคเบาหวาน สหพันธ์เบาหวานนานาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก”

โดยในประเทศไทยโรคเบาหวานถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่คนไทยเป็นมากถึง 4.8 ล้านคน และในหลายรายจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพียง 35.6 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลจากผู้ป่วยทั้งหมดที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา และมีผู้ป่วยมากกว่า 200 รายในแต่ละวันที่เสียชีวิตเพราะโรคเบาหวาน ดังนั้น การสังเกตสัญญาณเตือนโรคเบาหวานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ

เบาหวานเป็นภัยเงียบที่มาแบบไม่รู้ตัว

เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ดังนั้น ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน อาทิ ผู้ที่มีภาวะอ้วน มีญาติหรือคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน แม้ยังไม่มีอาการก็ควรตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นหนักและเกิดผลข้างเคียงที่ยากจะรักษาได้

9 สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน

นอกจากเราควรหมั่นสังเกตอาการของเราว่ามีความผิดปกติที่เข้าข่าย อาการของโรคเบาหวานหรือไม่ 9 สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางทันที

  • กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะปริมาณมากกว่าปกติ
  • หิวบ่อย กินอาหารมากกว่าเดิม
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • มีแผลแล้วแผลหายช้ากว่าปกติ
  • ชา ปวดแสบ ปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่ที่ปลายมือปลายเท้า
  • ผิวหนังแห้ง คัน

โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้สองชนิด

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย หรือผลิตได้น้อยมาก และมักตรวจพบตั้งแต่วัยเด็ก หรือเริ่มเข้าวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักต้องรับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ในประเทศไทย (ประมาณร้อยละ 95) และผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ทั่วโลก โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น ตับอ่อนยังคงผลิตอินซูลินได้ แต่อาจผลิตในปริมาณที่ไม่เพียงพอ เพราะอินซูลินที่ผลิตออกมาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน

เบาหวานโรคที่ต้องระมัดระวัง

เบาหวานถือเป็นโรคที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะหากเป็นแล้วไม่สามารถควบคุมได้อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ หรือโรคไตตามมาได้ ถ้ามีแผลที่เท้าแล้วไม่หายอาจติดเชื้อ และอาจลุกลามทำให้ต้องตัดขา รวมถึงถ้าป่วยเป็น COVID-19 ช่วงที่น้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้โรค COVID-19 เป็นมากจนถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตามการดูแล และเช็กตัวเองอยู่เสมอจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ห่างไกลจากเบาหวานและผลข้างเคียงจากเบาหวานได้

ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงโรคเบาหวานหรือไม่ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันโรคเบาหวานเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้ทุกคนรับประทานอาหารที่เหมาะสมและมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ และตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้รู้เท่าทันและห่างไกลจากโรคเบาหวาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ