เลี้ยงตอนเด็กมีผลถึงตอนโต “จิตวิทยาเด็ก” วิชาเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ต้องรู้

ทุกวันนี้เรามักจะเห็นข่าวความรุนแรงจากสื่อต่าง ๆ เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่น เด็ก ๆ ล้อเลียนกลั่นแกล้งด้วยการทำร้ายร่างกายกัน คุณครูไม่พอใจจนใช้ความรุนแรงกับเด็ก เป็นต้น แต่น่าแปลกที่สังคมเรากลับให้ความสำคัญกับเรื่องความรุนแรงค่อนข้างน้อย รวมทั้งบางคนกลับมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ อาจเพราะสังคมหล่อหลอมให้เราเคยชินกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เช่น ภาพดาราตลกที่ใช้ถาดฟาดศีรษะอีกคน แล้วสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้ สิ่งนี้เองค่อย ๆ หยั่งรากลึกให้เราชินชาไปกับความรุนแรง

เพราะเหตุนี้เอง การใช้ความรุนแรงจึงยิ่งทวีคูณในสังคมไทยแบบไม่จบสิ้น คุณฉัตรมงคล ฉ่ำมาก
นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ เล่าให้คนต้นคิดฟังว่าพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว อาจสร้างผลกระทบให้กับเด็กและลูกหลานเราโดยไม่รู้ตัว เพราะเด็กเป็นเหมือนกระจกสะท้อนที่ทำให้เด็กลอกเลียนแบบได้ ในการเลี้ยงดูเด็กในแต่ละช่วงวันให้ดีได้นั้น ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์เชิงบวก และการเสริมแรงทางบวกมาอธิบายเรื่องความรุนแรงในปัจจุบัน

เป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว วันนี้คนต้นคิดเลยขอให้ คุณฉัตรมงคล ฉ่ำมาก แนะนำวิธีที่ในการดูแลเด็กในแต่ละช่วงวัยโดยอาศัยหลักจิตวิทยาเด็กในการเลี้ยงดู ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เป็นอย่างไร อ่านได้จากบทสัมภาษณ์คนต้นคิดวันนี้

จิตวิทยาเด็กคืออะไรกันแน่

จริง ๆ แล้วจิตวิทยาเด็กเป็นสิ่งที่ง่ายมาก แต่เรามักละเลยกัน เพราะการจะสร้างเด็กสักคนขึ้นมานั้นมีหลายมิติ มนุษย์คนหนึ่งเกิดมา นอกจากจะดูเรื่องว่าร่างกายแข็งแรงไหม เรียนเก่งไหม ยังมีมิติอื่น ๆ เช่น นิสัย บุคลิก การรู้จักควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม จิตวิทยาเด็ก คือศาสตร์ที่เราจะเรียนรู้ทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นเด็กหนึ่งคน นั่นคือ หนึ่ง ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สอง สมองคิดได้อย่างสมบูรณ์ สาม สติปัญญา พัฒนาการเรื่องการรู้ การคิด แก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม สี่ เรื่องบุคลิกและสังคม ดูว่าเขาเป็นคนลักษณะอย่างไร มีคุณลักษณะแบบไหน มีความถนัดอะไร มีความสามารถในการอยู่ในสังคมในระดับดีมากน้อยแค่ไหน

เด็กเล็กที่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของภาษาในการสื่อสารสักเท่าไร ผู้ปกครองอาจจะต้องแปลความหรือตีความ หรือในบางครั้งอาจจะต้องให้แนวทางในเรื่องภาษาของเขา เด็กเล็กที่กำลังต้องพัฒนาทักษะการเข้าสังคม อาจจะลองผิดลองถูก ตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นคนแนะนำ ดูแลคอยชี้แนะแนวทางในการเข้าสังคมของเขา ส่วนวัยรุ่นก็มีการดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ปกครองก็เปลี่ยนเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ เวลาที่เขาต้องไปเผชิญกับความผิดหวังบางเรื่อง เกี่ยวกับการเข้ากลุ่ม การอยากเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ผู้ปกครองเองก็ต้องรับฟังและต้องให้การแนะนำกับเขาซึ่งก็เป็นวิธีการดูแลเด็กในแต่ละช่วงวัย

เรื่องจิตวิทยาเด็ก เป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละช่วงวัย เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่ควรจะเรียนรู้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ดี ทำให้เขามั่นใจในการที่จะออกไปเข้าสังคม ออกไปทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้เป็นอย่างดี

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เลี้ยงลูกก็ต้องเปลี่ยน

เทคโนโลยีมันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ซึ่งในยุคปัจจุบันเรื่องเทคโนโลยีมีบทบาทมาก มีคำศัพท์คำหนึ่งคือ “Digital Parenting” คือการใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงดูลูก เทคโนโลยีช่วยในการเลี้ยงดูลูกคือเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เด็กมีการสื่อสารกับเราง่ายขึ้น เมื่อก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีแบบนี้เราก็จะใช้การเขียนจดหมายหากัน ต่อมาก็มีโทรศัพท์ และก็มีการพัฒนาระบบที่มันง่ายขึ้นมองเห็นหน้ากันได้ มีการส่งข้อความที่รวดเร็วขึ้น เราจะเห็นว่าสิ่งนี้มันทำเรามีการติดต่อสื่อสารที่ง่ายขึ้นมาก

สองคือใช้ในการพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลงร่วมกัน มีอะไรที่สามารถตอบสนองความชอบที่หลากหลายขึ้น และเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เข้าถึงการเรียนออนไลน์ การหาข้อมูลอะไรก็ตามก็ง่ายขึ้นเยอะเลย

ทั้งหมดที่กล่าวมา มีความสำคัญอยู่ตรงที่จะต้องอยู่บนความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เราจะพบว่าเทคโนโลยีพออยู่กันคนละมุม มีความชอบคนละอย่าง ตรงนี้แหละทำให้ความสัมพันธ์มันหายไป บางมุมก็ทำให้มีการห่างเหินกันเกิดขึ้น การที่ลูกจะได้พูดคุยกับพ่อแม่ได้รับคำแนะนำต่าง ๆ หรือพ่อแม่เป็นตัวแบบที่ดีก็ลดน้อยลง เพราะว่าการให้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ โดยที่เราไม่ได้กลับมาทำกิจกรรมร่วมกันเลย เราต้องเข้าใจและต้องใส่ใจในเรื่องนี้มาก ๆ เทคโนโลยีไม่ได้ผิด เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพียงแต่เราต้องใช้อย่างรู้เท่าทันมัน และใช้ให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดเท่านั้นเอง

เด็กในแต่ละเจนฯ มีความแตกต่างกัน วิธีการเลี้ยงดูต้องแตกต่าง

คำว่าเจนเนอเรชันค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งก็มีหลายเจนฯ เราจะแบ่งเป็น Baby Boomer, GenX, GenY และ GenZ เดิมเนี่ยเราจะมีความเข้าใจว่ามันคือการแบ่งกลุ่มคน เพื่อทำความเข้าใจหรือตอบสนองได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เช่น การโฆษณา การคิดผลิตภัณฑ์มีการออกแบบให้เหมาะสมก็อาจจะมีความสำคัญ

แต่จริง ๆ แล้วเจนเนอเรชันมันทำให้เราเกิดความเข้าใจภาพบางอย่าง ที่อาจจะคลุมเครือหน่อย เช่น เราจะเข้าใจว่าเด็ก GenY และ GenZ เขาเป็นแบบนี้ทั้ง ๆ ที่เด็กแต่ละคนมีอะไรที่แตกต่างกัน ความแตกต่างของเขาอาจจะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดู เกิดขึ้นจากสภาพครอบครัว นิสัยใจคอของเขา มันถูกคัดออกมาจากครอบครัว จากความเชื่อ และแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงการตอบสนองเด็กในหลายเจนฯ หรือคนในแต่ละเจนฯ ในภาพของหลักจิตวิทยาก็จะมีการตอบสนองในลักษณะของเขา แต่ในรายละเอียดที่ลึกลงไปในแต่ละครอบครัวมันย่อมมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติของครอบครัวเด็ก ซึ่งมันก็อาจจะอธิบายด้วยคำว่าเจนเนอเรชันในภาพรวมไม่ได้

สิ่งนี้เองเป็นเรื่องที่เราต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจ เวลาเรามีลูกที่อยู่ในเจนฯ นี้ต้องดูแลเขาเป็นพิเศษ เช่น เรื่องเทคโนโลยีมันเยอะขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเด็กก็จะมีโอกาสที่จะเชื่อได้ง่าย หน้าที่ของพ่อแม่ คือ อธิบาย เพราะประสบการณ์เขาน้อย หรือจะเลี้ยงดูเขาแบบเป็นเพื่อน ที่ทำให้เขาไว้ใจในการที่เขาจะพูดบางอย่างกับเรา แบบที่เขาไม่ต้องรู้สึกว่าเขาจะถูกลงโทษ ก็จะเป็นวิธีการเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตามพื้นฐานก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีเช่นเดียวกัน เรื่องเจนเนอเรชันเป็นเรื่องที่กว้าง แต่เรื่องรายละเอียดในครอบครัวก็เป็นเรื่องที่แต่ละครอบครัวก็ต้องมีการดูแลที่ดี

ทำไมนักจิตวิทยาไม่แนะนำให้ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง

ถ้าเรามองในมมุมมองการลงโทษด้วยการตีก็ทำให้เขาเจ็บ “ความเจ็บ” จะทำให้เขาจำเขาจะได้ไม่ทำอีก กับอีกมุมหนึ่งคือไม่มีการลงโทษด้วยวิธีการรุนแรงแต่ใช้วิธีการสอน เพราะคิดว่าการสอนจะทำให้เขาเกิดการจำขึ้น จะเห็นได้ว่าทั้งสองวิธีเน้นในวัตถุประสงค์เดียวกันคือ “การจำจะได้ไม่ทำอีก” แต่ว่าเครื่องมือมันคนละอย่าง

ทำไมยุคก่อนเครื่องมือหนึ่งมันถึงได้ผล การตีทำไมมันเกิดผลที่ดี ในช่วงก่อนมีความเชื่อที่เกิดขึ้นคือ มีวัฒนธรรมที่ครูตีนักเรียน พ่อแม่ก็ตี เด็กก็เชื่อฟังผู้ใหญ่ มันมีกรอบความเชื่อนี้ชัดเจนและแข็งแรง เราก็จะไม่ก้าวล่วงอำนาจของคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู เราถือว่าเขาถือสิ่งนั้นอยู่ และหน้าที่ของเราก็คือเราเชื่อว่าเขาหวังดีกับเรา เรามีความเชื่อแบบนั้น และแน่นอนตอนโดนตีแล้วเจ็บไม่มีใครชอบ เราก็เรียนรู้วิธีการแบบนั้นมา ถ้าไม่อยากโดนตีก็ห้ามทำอีก ก็ผ่านช่วงเวลานั้นมา เราก็จำกรอบนั้นมาว่า การตี เท่ากับ ผิด พ่อแม่ตีแสดงว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าเราคิดแบบนี้ก็ทำให้เรามีกรอบความเชื่อแบบนั้น

มาถึงเด็กในยุคปัจจุบัน ก็อยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันก็เป็นผลผลิตของคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ อาจจะมีบางส่วนที่เขามองเห็นว่าการตีอาจไม่ทำให้เกิดการจำจริง ๆ มนุษย์เราการให้เกียรติกันโดยการพูดกันด้วยเหตุผลมันน่าจะดีกว่าการลงโทษกันโดยที่ไม่ได้ฟังอีกฝ่ายหนึ่งเลยว่า “ทำเพราะว่าอะไร” ก็เลยเกิดการพัฒนาประเด็นนี้ขึ้นมา และที่สำคัญเริ่มมีการศึกษาวิธีการลงโทษหรือการเลียนแบบเกิดขึ้น เราเชื่อว่ามนุษย์เราเห็นพฤติกรรมในสภาพแวดล้อมแบบไหน เราจะมีพฤติกรรมแบบหนึ่งมาจาก 2 ทฤษฎีหลักคือ

  • ทฤษฎีกระจกเงา เชื่อว่ามนุษย์ลอกเลียนแบบคนอื่นได้ ในการเชื่อมการเชื่อมโยงของสมองแล้วเกิดการจำ จะมีเซลล์ตัวหนึ่งเรียกว่าเซลล์สมองกระจกเงา มันจะจำเหมือนภาพสะท้อน ของพฤติกรรมที่เราเห็น เราก็จะเกิดการจำและฝังลงไปในสมอง เมื่อเราโดนลงโทษรุนแรง เราคิดหรือเราเห็น เราก็จำวิธีการแบบนั้นมาใช้ โดยที่จำมาใช้เลยโดยที่ไม่ได้ทดลองใช้เครื่องมืออื่น นี่มาจากทฤษฎีเซลล์กระจกเงา
  • การลอกเลียนแบบทางสังคม มนุษย์จะมีพฤติกรรมต่างกันมาจากสังคมที่เขาเห็น เช่น เห็นพฤติกรรมก้าวร้าว ก็จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา ก็จะเห็นว่ามนุษย์มีการเลียนแบบเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้ามีการเลียนแบบโดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องมีพฤติกรรมเลียนแบบ มันก็จะมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงกันต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเขารู้ว่าเป็นแบบนี้ เขาเลยย้อนกลับมาที่การใช้เหตุผลก่อนการลงโทษด้วยการตี นี่เป็นความเชื่อยุคใหม่ ๆ

แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้น มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อเมื่อผลลัพธ์จากพฤติกรรมที่ทำมีการตอบสนองที่ไม่ได้ผล ก็จะมีการเปลี่ยนวิธีการ เมื่อก่อนพฤติกรรมที่เราทำ ทำให้เราโดนตี เราก็ไม่ชอบการถูกตี เราก็จะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมไป แต่กับเด็กรุ่นใหม่พอเกิดการคุยแล้ว การพูดคุยนั้นไม่ได้ส่งผลมากพอที่จะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะพฤติกรรมที่เขาทำไปยังทำให้เขารู้สึกสนุกอยู่ ยังทำให้เขาได้บางอย่างอยู่ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมเขาก็ยังคงอยู่ สิ่งนี้ก็อาจทำให้เกิดปัญหา

นักจิตวิทยาเชื่อว่าการลงโทษเด็กด้วยวิธีการรุนแรง ไม่ได้เกิดผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน เพราะเวลาที่ตีเด็กจะกลัว แต่ความกลัวไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำเพราะว่าอะไร ยิ่งบ้านที่ตีแล้วพูดว่า “จะจำไหม คราวหลังอย่าทำ” แต่ไม่ได้บอกเหตุผล เขาก็แค่หยุดพฤติกรรมนั้นเท่านั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่เขาก็มีโอกาสที่จะทำพฤติกรรมแบบนั้นอีก หรือถ้าเขาเจอผู้ใหญ่ที่ไม่ว่าเขา เขาก็จะทำพฤติกรรมแบบนั้นขึ้นมาอีก เพราะสิ่งที่เขากลัวคือกลัวการถูกตีจากผู้ใหญ่ เขาไม่ได้เกิดการเรียนรู้ว่าพฤติกรรมของเรามันผิด

บางทีการลงโทษที่รุนแรงอาจสัมพันธ์กับการระบายอารมณ์ของผู้ใหญ่ เช่น ความโกรธ กลัวเสียหน้า ยกตัวอย่างเหตุการณ์เด็กไม่ส่งการบ้านแล้วคุณครูดุมา อาจจะโกรธที่ลูกไม่ส่งการบ้าน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่มีความรู้สึกเสียหน้าไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยบวกมาที่แรงที่ตีลูกขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกแย่ และเด็กก็อาจจะมีการเลียนแบบพฤติกรรม ก้าวร้าว และนำไปใช้ในรุ่นต่อ ๆ ไป

ดังนั้น นักจิตวิทยาถึงได้จริงจังกับพฤติกรรมการลงโทษ การที่เราจะทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำผิด อาจต้องทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันไม่ถูกเพราะอะไร กับวิธีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยการเสริมแรงทางบวกอาจจะดีกว่าการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น ถ้าเขาทำพฤติกรรมที่ดีสิ่งที่เด็กต้องการมาก ๆ เช่น เด็กเล็ก อาจจะเป็นสิ่งของ หรือคำชมของพ่อแม่อันนี้คือสิ่งที่เขาต้องการ เด็กโตขึ้นมาหน่อยเด็กวัยรุ่นสิ่งที่เขาต้องการคือการยอมรับ ยอมรับจากคนที่เขาให้คุณค่า เช่น กลุ่มเพื่อน คุณครู พ่อแม่ เป็นต้น

ถ้าเราแสดงให้เขาเห็นว่าถ้าเขาทำพฤติกรรมที่ดีเขาจะได้รับการยอมรับ เด็กก็จะเรียนรู้ว่านี่เป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เด็กก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เขาก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขา ดังนั้น การเสริมแรงทางบวกเลยถูกเรียกร้องให้ใช้เรื่อย ๆ ในสังคมปัจจุบัน

จากเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ จิตวิทยาเด็กมีกระบวนการช่วยเหลืออย่างไร

ถ้าเราเห็นจากข่าวในช่วงนี้เราจะเห็นมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้น มีทั้งอาชญากรเด็ก หรือแม้แต่ข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผลผลิตของเหตุการณ์เหล่านี้มีเด็กที่เป็นเหยื่อ และมีเด็กเป็นคนทำให้เกิดเหตุ มีทั้งสองมุมเลยคือ เกิดจากการเลียนแบบ และคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด

เพราะเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงอยู่แล้วเป็นปกติ อาจจะเกิดจากการที่ไม่ถูกอบรม แต่ก็มีอย่างอื่นประกอบกัน เช่น เด็กบางคนอาจใช้วิธีการบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจก็ได้ ก็เลยแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงกรณีนี้ก็พบได้เหมือนกัน แต่ในส่วนใหญ่จะพบในพฤติกรรมที่ก่อกวนสังคมมากกว่า เพราะว่าเขารู้สึกว่าไม่ได้เป็นที่ยอมรับ หรือเป็นที่สนใจของคนอื่น ทั้งหมดมีพื้นฐานมาจากสภาพแวดล้อมและครอบครัวเลี้ยงดูมา

มาถึงเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ แล้วเดินมาบอกคุณครูหรือคนที่เขาไว้ใจ ส่วนใหญ่เราจะเจอความตกใจของคนที่รับฟัง พอตกใจพฤติกรรมหรือคำพูดที่เราแสดงออกไปมันก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น พูดว่า “จริงเหรอ!…เธอไปทำอะไรเขาหรือเปล่า” มันจะมีชุดคำพูดบางอย่างที่เกิดจากอคติเรื่องเพศ มักจะเกิดขึ้นกับเหยื่อที่เป็นเด็กผู้หญิง เช่น เธอแต่งตัวไม่มิดชิดไหม มักจะกล่าวโทษเหยื่อว่าเป็นคนผิดมากกว่าที่จะพูดถึงเรื่องราวจริง ๆ ว่ามันเป็นเพราะอะไร นี่เป็นอคติทางเรื่องเพศทำให้เกิดการกล่าวโทษกันเป็นเรื่องที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย หรือบางทีก็คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของเคราห์กรรมที่ต้องเจอ เป็นความเชื่อบางอย่างที่ทำให้ไม่เกิดการแก้ปัญหา

วิธีการแก้ไขเรื่องเหล่านี้ต้องไปแก้เรื่องของความเชื่อว่าจริง ๆ แล้วทุกคนทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน ต้องเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามสามารถถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อายุเท่าไร มีสิทธิที่จะโดนเหมือนกันหมด ขั้นตอนการดูแลของนักจิตวิทยาเด็กสิ่งแรกที่เราต้องทำเลยคือ เราต้องรับฟังเขา ขณะที่เรารับฟังเราต้องยังไม่ตัดสินว่าใครผิดใครถูก เรายังไม่รู้เลยว่าตัวเด็ก หรือคนที่เขากระทำเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นอย่างไรเรายังไม่ทราบ เราอย่าเพิ่งเชื่อ และอย่าเพิ่งจินตนาการหรือคิดไปเอง เราฟังเขาก่อนเพราะถ้าเด็กตัดสินใจเล่าให้คุณฟัง แสดงว่าเด็กไว้ใจเราในระดับหนึ่ง การฟังจะนำไปสู่การตัดสินใจในขั้นต่อไปว่าเราจะทำอย่างไรต่อ

อันดับแรกถ้าสงสัยว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศจริง ๆ จำเป็นจะต้องแจ้งใคร เช่น อยากแจ้งความไหม หรือบางทีเขาอาจจะแค่อยากให้ใครคนหนึ่งรับรู้ความข้องใจของเขา หน้าที่ของนักจิตวิทยาหรือผู้ที่รับฟัง ต้องให้ผู้โดนกระทำเป็นคนตัดสินใจว่าเขาต้องการแบบไหน เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าเหยื่อเป็นเด็กการพูดคุยกับผู้ปกครองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การตรวจร่างกายเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศจริงไหม เรื่องนี้จะหลักฐานสำคัญ ขั้นตอนต่อไปก็แจ้งตำรวจ ซึ่งขั้นตอนก็สามารถเลือกทำอะไรก่อนหลังก็ได้ แล้วแต่ละเหตุการณ์ไป

ถ้ากรณีประเมินถึงสภาพจิตใจแล้วว่าเด็กแย่มาก การแนะนำหรือการส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแล เช่น พบแพทย์ พบนักจิตวิทยา เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สุดท้ายสำคัญที่สุดคือเราต้องไม่เล่าเรื่องนี้ต่อให้ใครฟังเพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของผู้ถูกกระทำ ที่เราเห็นบางกรณีเป็นข่าวมันเกิดจากการเล่าต่อโดยไม่เหมาะสม มีการเล่าต่อ ขุดคุ้ยเรื่องราวซึ่งมันก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเหยื่อ เหมือนการประจานเขา นี่ก็เป็นวิธีการช่วยเหลือ

ในกรณีที่เป็นคดีแล้วก็จะมีประมวลกฎหมาย กฎหมายจะชี้ชัดเลยว่าถ้าเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นคนร่วมสอบปากคำร่วมกับอาญาการ ซึ่งจะมีทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสัมภาษณ์เด็กโดยใช้ถ้อยคำที่ไม่กระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็ก

สถาบันครอบครัว เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุด 

การล่วงละเมิดทางเพศตามข่าวเราจะเห็นว่ามักเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว ปัจจุบันครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันใช้ความรุนแรงต่อกัน เด็กก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีหลักยึด ไม่มีคุณค่า เด็กกลุ่มนี้ก็อาจจะเกิดความไว้ใจคนได้ง่าย เพราะเขาต้องการที่พึ่งพิง หรือต้องการให้คนเห็นคุณค่าเขา ดังนั้น ก็เสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่สองคือพ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดและฝากลูกไว้กับญาติหรือคนใกล้ชิดดูแลเ ด็กก็ถูกล่วงละเมิดได้ง่ายเพราะเด็กถูกสอนให้เชื่อฟัง แต่ผู้ใหญ่ไม่เคยอธิบายว่าเชื่อฟังแบบไหน พ่อแม่เชื่อว่าคุณลุงคนนี้เป็นคนดี แต่ไม่ได้อธิบายให้ลูกฟังว่าถ้าลุงมีท่าทีแบบนี้ ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ ไม่เคยบอกเด็กเลย เราขาดการสอนเพราะเราไม่ยอมรับว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกัน เรื่องการระมัดระวังตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุย ทุกบ้านจำเป็นจะต้องสอนเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ เลยว่าต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองแบบนี้ และการปฏิเสธผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องผิด

“มีลูกเมื่อพร้อม” มีความสำคัญอย่างไร 

มีลูกเมื่อพร้อม หลายคนอาจจะถามว่า “พร้อมอะไรบ้าง” ซึ่งแต่ละคนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าต้องมีบ้านก่อนนะ ต้องมีเงินเท่านี้ก่อนนะ ถึงจะวางแผนมีลูก มีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ มันมีเรื่องความพร้อมที่แตกต่างกันเลย แต่เรื่องความพร้อมจริง ๆ คือเรื่องการดูแลกายใจของเขา ความยากในการมีลูกถ้ามาในตอนที่เราไม่อยากมี เราจะไม่พร้อม แล้วถ้าอยากมี ประเด็นนี้ถ้ามีแล้วเราจะเลี้ยงดูเขาให้ดีได้อย่างไร อาจแบ่งได้ 3 ส่วนคือ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย และสุขภาพร่างกาายของพ่อแม่ก็ต้องแข็งแรง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี เราก็จะเป็นตัวแบบที่ดีของเขา

สำคัญที่สุดเลยคือเรื่องของวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้เป็นพ่อแม่ ถ้าเราเป็นคนเกรี้ยวกราดมาก ๆ หรือไม่มีความพร้อมที่จะดูแลใคร คิดว่าการมีใครเข้ามาสักคนแล้วเป็นภาระของชีวิต ลักษณะแบบนี้ไม่เรียกว่าพร้อม เพราะลูกเปรียบเป็นภาพสะท้อนในกระจก ถ้าเราเกรี้ยวกราดลูกก็จะเกรี้ยวกราด เราพูดคำหยาบเขาก็พูดคำหยาบ เราใจร้อนเขาก็เป็นคนใจร้อน มันมีหลายอย่างที่ลูกจะเลียนแบบเรา ถ้าวุฒิภาวะของเราไม่พร้อม แน่นอนเลยว่าเราก็จะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดี

ความพร้อมเรื่องเงิน ถ้าเรายังทำงานอยู่ก็สามารถสะสม หรือหาเพิ่มเติมได้ไม่ยาก แต่ในส่วนของวุฒิภาวะทางอารมณ์ถ้าไม่มีเลยตั้งแต่แรกการดูแลเด็กเพียงแค่หนึ่งคน ก็เป็นไปได้ยาก ผมให้ความสำคัญความพร้อมเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์มากกว่าเรื่องอื่น ๆ เราจะเห็นว่าครอบครัวที่มีความพร้อมเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์จะสามารถเลี้ยงลูกได้ดี

ในมุมของวงการจิตวิทยาเด็ก เราจะให้ความสำคัญกับคุณพ่อคุณแม่ที่พร้อม สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีความรู้ในการดูแลลูกในแต่ละช่วงวัย เทคนิคการสังเกตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น สังเกตว่าตอนนี้ลูกไม่โอเคเพราะเด็กอาจจะสื่อสารไม่เป็น หรือกลัวว่าเมื่อบอกเรื่องบางอย่างกับเราแล้วจะโดนดุหรือไม่เป็นที่รักของพ่อแม่ เพราะฉะนั้น การสังเกตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เรื่องต่อมาคือเทคนิคการปรับพฤติกรรม สำคัญมาก ๆ ใช้ตั้งแต่เด็กเล็กเลย เราต้องรู้จักการวางเงื่อนไขที่ถูกต้อง เรามีการปรับพฤติกรรมที่ถูกต้อง เราไม่ต้องตีเขาเลย ใช้การสื่อสารพูดนิดเดียวลูกเราเข้าใจ เขาก็จะคัดกรองพฤติกรรมของเขาได้

ถ้าในประเทศไทยมีโรงเรียนพ่อแม่ ในการสอนพ่อแม่ตั้งแต่แต่งงานแล้วอยากมีลูก ก็มาเข้าโรงเรียนพ่อแม่ เพื่อมาเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับเด็ก พ่อแม่ก็จะเกิดความรู้ และมีทักษะบางอย่างที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ๆ ถ้าพ่อแม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง สามารถดูแลลูกในแต่ละช่วงวัยได้อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มากมายเลยครับ