นานมาแล้ว หลายคนคงได้เห็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ จากกรณีที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความสลดใจไม่น้อย การทำร้ายร่างกายอย่างทารุณกับ “ทหารหญิงรับใช้” ทั้งตี ช็อตไฟฟ้าที่หัวและตัว เอาฟุตเหล็กสับหน้า เอาไม้ตีตามร่างกายจนได้รับบาดเจ็บจนใบหน้าผิดรูป ไปจนกระทั่งการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เอาสเปรย์ฉีดตัวและจุดไฟ ก่อนเหยื่อได้รับความช่วยเหลือ โดยผู้ต้องหาในคดีทำร้ายทหารรับใช้ รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริง โดยอ้างว่ามีอาการป่วย ควบคุมตนเองไม่ได้เป็นระยะ
และข่าวดังที่กำลังเป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมา กับการสาดน้ำซุปร้อน ๆ ใส่ผู้อื่นทั้งที่รู้ถึงผลลัพธ์ว่าจะทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจ ซึ่งตัวคนทำก็น่าจะรู้ด้วยว่าตนเองอาจจะได้รับผลของการกระทำอย่างไร แต่ทำไมถึงยังกระทำความรุนแรงแบบนั้นเพื่อระบายอารมณ์ และเพื่อแสดงว่าตนเองนั้นมีอำนาจบางอย่างเหนือกว่าเหยื่อ
พฤติกรรมความรุนแรง คือการแสดงออกถึงความก้าวร้าว เช่น ด่าทอเสียดสี ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการก่ออาชญากรรม อาจไม่ใช่อาการทางจิตเวชเสมอไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพฤติกรรมส่วนบุคคล ต้องพิจารณาหลายด้านประกอบกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพฤติกรรมความรุนแรงบางประเภทก็มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตเวชได้
พฤติกรรมความรุนแรง มีสาเหตุมาจากอะไร
ภาวะทางอารมณ์
เกิดจากการถูกกดดัน หรือถูกรบกวนทางอารมณ์ ทำให้เกิดภาวะโกรธ หงุดหงิด บางรายอาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาได้ ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดจากสาเหตุนี้ มักมีเป็นครั้งคราวไม่ใช่ทุกครั้ง และการแสดงออกไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้อื่น จึงไม่เป็นอันตราย สามารถเกิดได้กับคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรค
โรคทางจิตเวช
ผู้ป่วยทางจิตเวชบางรายอาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาได้ในบางกรณี อาจมีสาเหตุมาจากการขาดยา ทำให้มีอาการหวาดระแวง ประสาทหลอน หรือในบางรายมีปัญหาทางด้านอารมณ์บางอย่าง เช่น อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า หากมีอาการมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ รวมถึงโรคสมาธิสั้น ที่อาจทำให้หงุดหงิด และยับยั้งชั่งใจได้ยาก จึงแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมความรุนแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคจิตเวชก็ไม่ได้ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมความรุนแรงเสมอไป
โรคทางกาย
การแสดงพฤติกรรมความรุนแรง อาจมีสาเหตุมาจากภาวะทางร่างกาย ยกตัวอย่าง ผู้ใช้สารเสพติดได้รับสารที่ไปกระตุ้นอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคทางจิตเวช เช่น ประสาทหลอน ทำให้มีพฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นได้ หรืออาจเกิดจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคทางระบบประสาท ลมชักบางชนิด ที่ทำให้มีอาการพฤติกรรมความรุนแรง
พฤติกรรมความรุนแรง จะเกิดขึ้นกับใคร
- สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย วัยรุ่นอาจมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความอยากลองทำอะไรเสี่ยง ๆ หรืออยากเป็นตัวของตัวเอง และมีการควบคุมหรือยับยั้งชั่งใจต่ำ
- กลุ่มคนที่มีความกดดันทางจิตใจบางอย่าง มักสะท้อนออกมาว่า ณ เวลานั้นมีความกดดันเกิดขึ้น และอยากต่อสู้หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความอันตราย เหมือนเป็นการปกป้องตัวเอง
- กลุ่มคนที่เป็นโรคหรือภาวะบางอย่าง ทำให้สูญเสียการควบคุม
การรักษาพฤติกรรมความรุนแรง
วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ก้าวร้าวรุนแรง ทั้งทางชีวภาพ ทางด้านจิตใจ และทางด้านสังคม จากนั้นประเมินความรุนแรงของอาการ ว่ามีการทำร้ายคนอื่นหรือไม่ บางรายพบว่าพันธุกรรมมีส่วนแต่ไม่เสมอไป หรือบางรายมีความกดดัน ความขัดข้องใจแล้วจัดการความรู้สึกตัวเองไม่เป็น ทำให้แสดงความก้าวร้าวออกมา นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายมีการเลียนแบบจากสื่อ เป็นต้น จากนั้นถึงจะเข้ารับการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรม
สื่อกับความรุนแรง สามารถทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- พฤติกรรมเลียนแบบ เป็นที่ทราบกันว่าการเลียนแบบเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ ซึ่งมักจะทำตามสิ่งที่พบเห็นแทบทั้งสิ้น
- สร้างความหมายใหม่ของความรุนแรง เช่น การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หากเหยื่อเป็นคนเลว การลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการแก้แค้นเป็นสิ่งที่น่าเชิดชู การกระทำรุนแรงต่อเพศหญิงเป็นเรื่องที่ทำได้
- ความชาชินที่มากขึ้น ในที่นี้หมายถึง เมื่อเรามีความชินมากขึ้น ก็จะมีผลทำให้เราเฉย ๆ ต่อการพบเห็นหรือกระทำความรุนแรง นอกจากนี้ความเคยชินยังมีผล ทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อน้อยลง
- การเพิ่มความรู้สึกตื่นตัวและความยับยั้งชั่งใจลดลง หลายการศึกษาพบว่าสื่อที่มีความรุนแรง ยังมีผลให้สมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความยับยั้งชั่งใจทำงานลดลง ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สามารถทำความรุนแรงได้ง่ายขึ้นกว่าในภาวะปกติ
- การกระตุ้นรูปแบบความคิดเกี่ยวกับความรุนแรง มนุษย์จะมีรูปแบบการคิดบางอย่างเก็บไว้ในความจำ ซึ่งสามารถถูกกระตุ้นได้โดยสิ่งกระตุ้นบางอย่าง โดยที่คน ๆ นั้นอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ส่งผลให้สิ่งกระตุ้นบางอย่างอาจจะถูกตีความ และกระตุ้นรูปแบบความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงออกมาได้ เช่น บางคนเพียงแค่เห็นภาพอาวุธปืน ก็อาจกระตุ้นให้เกิดความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นมาได้ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นเหยื่อทางเพศ เหยื่อความรุนแรง เขาก็มีความเจ็บปวด เกิดความต้อยต่ำ หากกระบวนการต้นน้ำมีทัศนคติที่มองไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอ่อนโยน หรือมองไม่เห็นปัญหา การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็คงไม่เกิดขึ้น คนที่ถูกเรียกว่าเป็นที่พึ่งของประชาชน ยังไม่สามารถสร้างตัวเองให้เป็นต้นแบบที่ดีได้ กลับเป็นผู้กระทำความรุนแรงนี้เสียเอง แล้วบ้านนี้เมืองนี้จะมีความปลอดภัยได้อย่างไร คำว่า “เหยื่อความรุนแรง” คงกลายเป็นนิยายในชีวิตจริง ที่เราคงได้เห็นข่าวกันจนชินตาหรือเปล่า
ข้อมูลจาก: med.mahidol.ac.th และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย