เพลิงไหม้สถานบันเทิง โศกนาฏกรรมที่ไม่เคยเป็นบทเรียน

“โจรปล้นสิบครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” สำนวนนี้น่าจะปรากฏเด่นชัดในจินตนาการของใครหลายคนพร้อมกับอุทานว่า “อีกแล้วเหรอ?” เมื่อได้ยินข่าวสถานการณ์เพลิงไหม้หลายครั้งหลายคราในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ข้อความดังกล่าวไม่ได้พูดเกินจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะต่อให้โจรขึ้นบ้านปล้น 10 ครั้ง ท้ายที่สุดโจรก็เอาบ้านทั้งหลังของเราไปไม่ได้ ยังเหลือที่ซุกหัวนอนและข้าวของสัพเพเหระที่ไม่ได้มีราคาค่างวดเอาไว้ให้ดูต่างหน้าบ้าง แต่ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้แล้วล่ะก็ เปลวเพลิงจะแผดเผาทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน ซึ่งแม้แต่บ้านก็อาจจะไม่เหลือ และที่สำคัญที่สุด ชีวิตเราก็อาจจะไม่รอดด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ไฟไหม้แค่ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว

และแล้วเหตุโศกนาฏกรรมที่น่าสลดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี “Mountain B” รายงานข่าวในวันนั้นพบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13 ราย ส่วนสถานการณ์ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ทำให้ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้อยู่ที่ 15 ราย

“ไฟไหม้ผับ” ถ้ายังจำกันได้ (หากทันเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คิดว่าไม่น่าจะมีใครลืมลง) ประเทศไทยเราเคยมีโศกนาฏกรรมลักษณะเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาก่อน หากนับย้อนเวลาไปคือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ “ซานติก้าผับ” ยังคงหลอกหลอนในความทรงจำของใครหลายคน แม้ว่าระยะเวลาจะล่วงเลยมานานถึง 13 ปี ซึ่งมันนานพอที่จะทำให้เด็กที่เกิดช่วงปลายปี 2551 หรือต้นปี 2552 เติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้วในปี 2565 แต่ภาพเหตุการณ์ในคืนนั้นยังชวนให้สยดสยองและรู้สึกร้อนวาบที่ตัวเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน โดยเฉพาะเหยื่อที่รอดชีวิตในคืนนั้น คงจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีทางลืมลงตลอดชีวิต คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็ลืมไม่ลงเช่นกัน

โศกนาฏกรรมที่เกิดซ้ำรอย บทเรียนที่ไม่เคยเรียนรู้

ย้อนกลับไปในคืนวันสิ้นปี 31 ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนจะออกไปเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มันไม่ใช่เรื่องผิดที่คนเหล่านั้นจะไปเที่ยวในคืนส่งท้ายปี รอช่วงเวลานับถอยหลังเคานต์ดาวน์เข้าสู่ปีใหม่ หากแต่สถานที่ที่แต่ละคนเลือกไปก็อาจจะแตกต่างกัน ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามสถานบันเทิง ตราบใดที่พวกเขาอายุถึงเกณฑ์ที่สามารถเข้าผับได้ พวกเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร

ช่วงเทศกาลแบบนั้น ทำให้สถานบันเทิงทุกแห่งแน่นขนัดไปด้วยเหล่านักท่องเที่ยวที่เข้าไปร่วมเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เช่นเดียวกับที่ ซานติก้าผับ สถานบันเทิงชื่อดังในกรุงเทพฯ ย่านเอกมัย ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวกว่า 1,000 คน ที่เข้าไปใช้บริการในช่วงเวลาของความสนุกสนาน กินดื่มกันเป็นปกติ ระหว่างนั้นก็มีการแสดงดนตรี มีการจุดพลุไฟ รวมถึงมีสเปเชียลเอฟเฟกต์หน้าเวที

หลังจากนั้นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น มีไฟลุกไหม้บนเพดานซึ่งสูงจากพื้น 5 เมตร ก่อนที่เปลวเพลิงจะลุกลามอย่างรวดเร็วในตัวอาคาร นักท่องเที่ยวทุกคนที่กำลังมีความสุขเมื่อวินาทีก่อนหน้า ต่างก็พยายามวิ่งหนีตายออกมาทางประตูด้านหน้าที่ค่อนข้างเล็ก เวลานั้นทุกคนต่างแตกตื่นและสิ้นสติไปแล้ว มีการผลักและเหยียบกันจนล้มคว่ำ บางคนลุกหนีไม่ทันเพราะมีอาการมึนเมา หลายคนสำลักควัน อีกจำนวนไม่น้อยโดนไฟคลอก เสียงกรีดร้องขอความช่วยเหลือดังระงม คืนเคานต์ดาวน์มรณะนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 67 ศพ บาดเจ็บสาหัส 45 คน และบาดเจ็บอีก 72 คน

รายละเอียดของเหตุการณ์นั้น พบว่าซานติก้าไม่มีแบบแปลนแผนผังอาคารติดตั้งแสดงไว้ ไม่มีแม้แต่ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟ รวมทั้งไม่มีการติดตั้งไฟฉุกเฉิน ประตูหนีไฟที่มีแค่ 2 ทาง แถมติดเหล็กดัดจากด้านนอก ยิ่งไปกว่านั้นตัวอาคารมีพื้นที่จุคนได้ไม่เกิน 500 คน แต่กลับมีนักเที่ยวเข้าไปใช้บริการมากกว่า 1,000 คน และที่สำคัญ มีการใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ในพื้นที่ปิด เสี่ยงต่อการที่สะเก็ดไฟจะกระเด็นไปโดนวัสดุไวไฟ แล้วทำให้เกิดเพลิงไหม้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันระบบการทำงานของอุปกรณ์ดับเพลิงด้วยน้ำแบบอัตโนมัติก็ไม่ได้มาตรฐาน ถังดับเพลิงก็มีไม่เพียงพอ

ภาพเหตุการณ์ที่เปลวเพลิงลุกโหม “สถานบันเทิง” เหมือนถูกเปิดฉายซ้ำในอีก 13 ปีต่อมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Mountain B ถูกนำไปเทียบเคียงกับซานติก้า เพราะมีจุดร่วมหลายอย่างที่เหมือนกัน อันเป็นเหตุให้ผู้ที่เข้าไปใช้บริการไม่สามารถหนีตายออกมาได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนต้องมีการกางข้อกฎหมายด้านความปลอดภัยทั้งหลาย และตั้งคำถามว่าทั้ง 2 แห่งที่ไฟไหม้มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และใบอนุญาตผับ-บาร์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการกระทำอื่น ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอีกเท่าไร แล้วสถานบันเทิงแห่งอื่น ๆ ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 ในอนาคต

กรณีของ Mountain B โดยรวมแล้วสาเหตุที่ทำให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำสองเป็นเรื่องของโครงสร้างและสภาพอาคารของสถานที่ ทั้งเรื่องของวัสดุก่อสร้างที่เป็นวัสดุติดไฟที่ร่วงลงมาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งวัสดุที่เป็นไม้บอบบาง ประดับด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคงถาวร เช่น พาสติก ไฟเบอร์กลาส และโฟม ซึ่งด้านในเป็นห้องแอร์ ที่มีโฟมซับเสียงซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อไฟติดขึ้นจะทำให้มีปริมาณควันไฟจำนวนมาก และทำให้ไฟลุกลามอย่างเร็ว

นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงสร้างอาคารที่ไม่มีความชัดเจนทางด้านความปลอดภัย ทั้งการหนีไฟ และการระบายควันไฟ เพราะประตูที่เหยื่อพากันหนีตายออกมามีเพียงประตูหน้าประตูเดียวและประตูทางออกก็ค่อนข้างเล็ก ทางออกหนีไฟไม่มี แผงวงจรไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็ยังไม่มีการตัดไฟ อีกทั้งผับดังกล่าวก็ไม่มีประกันอัคคีภัย ดังนั้น ผู้ประสบเหตุจะไม่ได้รับประกันจากร้าน เว้นแต่ว่าจะมีประกันส่วนตัว ดูเหมือนว่ายิ่งขุดลงไปลึกเท่าไร ก็จะพบเรื่องไม่ชอบมาพากลมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างการที่ผับไม่มีใบอนุญาต แถมพื้นที่บริเวณนั้นก็เป็นโซนนิ่งไม่อนุญาตให้มีสถานบันเทิง ซึ่งอาจจะสาวไปถึงการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ถือกฎหมายด้วย

ถ้าเหตุการณ์ Mountain B จะยังคงไม่ใช่บทเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายถอดบทเรียนและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น ก็เป็นเรื่องที่คนอย่างเรา ๆ คาดเดาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งหมอดูว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็คงจะมีเกิดขึ้นอีกเป็นแน่ สุดท้ายแล้วชีวิตเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่น่าสลดหดหู่ใจแบบนี้ไปอีกกี่ครั้งกัน

ไปเที่ยว ≠ ไปตาย แต่ไม่มีใครระวังความปลอดภัยได้ดีเท่าตัวเราเอง

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำก็คือ มักจะมีคนออกมากล่าวโทษเหยื่อ ในทำนองที่ว่าถ้าอยู่บ้านหรือไม่ออกไปเที่ยวในสถานที่อโคจรแบบนั้นกลางค่ำกลางคืนก็คงไม่ตาย หรือไม่ต้องมาประสบเหตุอะไรเช่นนี้ แม้ว่าคำพูดดังกล่าวจะมีส่วนจริง แต่ก็ไม่ใช่คำพูดที่ถูกกาลเทศะเท่าไรนักในสถานการณ์แบบนี้ อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด คนที่ออกไปเที่ยวก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาประสบเหตุแบบนี้ การออกไปเที่ยวต้องไม่เท่ากับไปตาย ถ้าจะว่ากันตามจริง ต่อให้นอนอยู่บ้านเฉย ๆ ก็อาจจะเกิดเหตุไฟไหม้บ้านได้เหมือนกัน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์หรอก

อย่างไรก็ดี คนที่ออกไปเที่ยวสถานบันเทิงก็อาจจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อนึ่งคือการรับรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นหากเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิง ไม่ว่าจะผับดังหรือมีชื่อเสียงแค่ไหน เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีอะไรอื่นที่ซุกไว้ใต้พรมหรือเปล่า เพราะมีเหตุการณ์ตัวอย่างให้เห็นถึงสองครั้งสองครา มันไม่ใช่แค่ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่จุดเริ่มต้นมันเริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารที่ไม่ได้มาตฐานความปลอดภัยแต่แรกเลยด้วยซ้ำไป

เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะออกไปเที่ยวสถานบันเทิง และเราไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่บ้านตลอดเวลาไม่ไปเที่ยวไหนเพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดี หากเราไม่ได้กระทำการใดที่ผิดกฎหมายหรือทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร เช่น การพยายามจะเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงทั้งที่อายุยังไม่ถึง การออกจากบ้านไปโดยที่ไม่บอกคนที่บ้านให้รู้ชัด ๆ ว่าเราจะไปไหน บอกว่าจะไปที่สถานที่หนึ่งแต่ตัวมาปรากฏอีกสถานที่หนึ่ง อันที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่สมควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น ถ้าจะว่ากล่าวกันว่าใครผิดใครไม่ผิด ก็ใช้หลักกฎหมายอ้างอิงจะดีกว่า ไม่ใช่การกล่าวโทษโดยเน้นไปที่คนที่ไปเที่ยวผับว่าเป็นคนผิด เพราะออกไปเที่ยวผับถึงได้ถูกไฟไหม้ตาย

เหตุการณ์ไฟไหม้สถานบันเทิงครั้งใหญ่เกิดขึ้นมา 2 ครั้งแล้ว บรรดานักท่องเที่ยวอาจจะต้องพยายามทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราไปสถานบันเทิงว่าเหตุใดมันจึงอันตราย เพราะสถานบันเทิงส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ปิดที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด คนเยอะที่คับแคบ ด้านในค่อนข้างมืด มีการแสดงที่ใช้ไฟหรือไฟฟ้าเป็นเอฟเฟกต์ประกอบ และที่สำคัญ สถานบันเทิงเป็นที่เที่ยวที่เราไปกินไปดื่ม ทำให้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเอาชีวิตรอดอย่างสติสัมปชัญญะนั้นไม่สมบูรณ์พอที่พาตัวเองตะเกียกตะกายออกมาได้ทันการ นอกจากนี้จึงควรมีความรู้พื้นฐานในการเอาตัวรอดกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ติดตัวไว้บ้าง โดยเฉพาะการเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ในที่แคบ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงภัยต่อชีวิต