ทำแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ มีเงินอย่างเดียวไม่พอ!

เช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รายงานจาก Google Trend ขึ้น Notification มาว่าคำค้นหา “ลิเวอร์พูล” กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผู้คนบนโลกออนไลน์ค้นหาคำว่า “ลิเวอร์พูล” มากกว่าสองแสนครั้ง นับว่าเป็นเทรนด์ที่แจ้งสถานการณ์ปัจจุบันที่ พรีเมียร์ลีกเปิดฤดูกาลอย่างเป็นทางการเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน และอีกประการก็ทำให้เห็นว่า พรีเมียร์ลีก นั้นยังคงเป็นทองคำที่มีมูลค่าในตลาดซื้อขาย Content อยู่

การซื้อขายลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกนั้นเกิดขึ้นในทุกรอบสามฤดูกาล สำหรับในเมืองไทยเจ้าของลิขสิทธิ์เดิมยังคงทำงานอย่างเหนียวแน่นกับ IMG ซึ่งดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ให้กับทางพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่พอจะมีเงินทุนในการซื้อ Content ระดับพรีเมียม และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เมื่อคนนึกถึงแบรนด์เจ้าดังกล่าว ภาพของความเข้มแข็งใน Content กีฬาก็จะตามมา

แต่ในรอบสามปีที่ผ่านมา ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกเอาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง มีการเปลี่ยนผ่านเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลายพื้นที่ อย่างในอินโดนีเซียที่ก่อนหน้านี้ น้องใหม่มาแรง อย่าง Mola TV ที่ตั้งเป้าในการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกเพื่อแจ้งเกิดให้กับแบรนด์ตัวเอง ไม่ไปต่อกับพรีเมียร์ลีก และกลายเป็น Emtek Airs บริษัทสื่อสารเจ้าใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้ครองลิขสิทธิ์ไป

ขณะที่ในญี่ปุ่นก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะ SPOTV บริษัทเคเบิลยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ได้ขายลิขสิทธิ์แบบ Sub License ให้กับ Abema ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งของญี่ปุ่นซึ่งจะทำให้การชมฟุตบอล 114 แมตช์นั้นชมได้ในแพลตฟอร์มของ Abema ส่วนในเกาหลีใต้รับชมการแข่งขันผ่าน SPOTV นับเป็นการแบ่งขายลิขสิทธิ์ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

ส่วนในดินแดนอุษาคเนย์ ลาว กัมพูชา สามารถรับชมได้โดยผ่านเครือข่ายของเจ้าเดียวกับในเมืองไทย พม่ารับชมผ่านเครือข่าย Sky Net ส่วนสิงคโปร์ผ่านทาง StarHub เวียดนามเจ้าของลิขสิทธิ์คือ K+ ขณะที่มาเลเซียนั้นยังเป็นเจ้าใหญ่อย่าง Astro

จะเห็นว่าสนามพรีเมียร์ลีกนั้นยังคงมีเจ้าใหม่ที่ต้องการลองตลาดเพื่อสร้างแบรนด์อยู่เรื่อย ๆ ก็คงต้องดูกันต่อว่าการทำตลาดที่มีเวลาสามปีกับคอนเทนต์ระดับพรีเมียมนั้น จะทำให้เจ้าไหนปังขึ้นมาได้บ้าง

ถึงบรรทัดนี้อยากจะยกตัวอย่างที่น่าสนใจอย่าง Amazon Prime Video ที่สร้างความจดจำให้มีต่อแบรนด์โดยใช้พรีเมียร์ลีกเป็นใบเบิกทางเมื่อสามปีก่อน แม้จะไม่ได้ครบทั้ง 380 แมตช์แต่ Amazon Prime มีรายการคู่ขนาน และกิจกรรมที่สนับสนุนให้ Content พรีเมียร์ลีกของตนเองอยู่ในความสนใจโดยตลอด

ซึ่งในสามฤดูกาลต่อจากนี้ Prime Video ยังคงลงทุนต่อเนื่องพร้อมกับ Original Docuseries ที่ทาง Prime Video ได้ใช้ฟุตภาพจากคลังภาพของ พรีเมียร์ลีกที่มี IMG ดูแล ในการสร้าง Docuseries เกี่ยวกับสโมสรในพรีเมียร์ลีก ภายใต้ชื่อ All or Nothing

Docuseries เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจไม่น้อยเพราะนอกจากจะได้รับชมภาพไฮไลต์การแข่งขันที่หาดูได้ยากแล้ว ยังได้เห็นมุมนอกสนามของนักฟุตบอลดังหลายต่อหลายคน ซึ่งการลงทุนต่อ Docuseries นั้นทำให้ชื่อ Amazon Prime Video ได้รับการจดจำโดยที่ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกครบทุกแมตช์

เอาเป็นว่าคนดูอย่างเรา ๆ ก็เฝ้ามองกันต่อไปค่ะว่าระหว่างเจ้ามือที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ พ่อค้าคนกลางที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์มาให้บริการ และเจ้าของแพลตฟอร์ม ใครจะอยู่เป็นผู้รอดได้มากที่สุด และถ้าคุณผู้อ่านอยากดู Docuseries ที่เกี่ยวกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกอย่าง All Or Nothing เชิญสตรีมชมกันได้ที่ Amazon Prime Video ที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว

แม้ไม่มีพรีเมียร์ลีกให้ชมใน Amazon Prime เหมือนที่อังกฤษ แต่ Docuseries อย่าง All Or Nothing จะทำให้คุณเห็นบางมุมจากสโมสรที่คุณรักได้ไม่น้อยเลยทีเดียว (ไม่ได้รับจ้างมาเขียน Advertorial ใด ๆ ให้ Prime นะคะแต่เห็นมีของดีเราก็อยากบอกต่อ)

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ