เมื่อคู่รักตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกันเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ ในช่วงเวลานั้นคงจะเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายอยู่กับการเตรียมงานวิวาห์ไม่น้อย เรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ ที่ต้องจัดเตรียม อย่างไรก็ตาม การแต่งงานมันไม่ได้จบอยู่ที่พิธีวิวาห์เท่านั้น สิ่งที่คู่รักหลาย ๆ คู่ลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร คือเรื่องของ “การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน-ก่อนมีลูก”
แน่นอนว่าการตรวจสุขภาพคู่รักสามารถจูงมือกันไปตรวจหลังเสร็จสิ้นงานวิวาห์ได้ แต่มันจะดีกว่ามากหากตรวจก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันครั้งแรก (นั่นอาจหมายถึงช่วงระหว่างที่ยังเป็นแฟนกันและยังไม่ได้แต่งงานกันด้วย) เพราะผลลัพธ์ที่จะตามมากรณีที่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นพาหะของโรคติดต่อไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อตกลงที่จะเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่กันเรียบร้อยแล้ว มันแปลว่าโรคติดต่อบางโรคที่ต่างคนต่างไม่รู้ว่าคู่รักของตนเองเป็นพาหะ จะไม่ติดต่อกันเฉพาะพวกคุณสองคนที่เป็นคู่รักกันเท่านั้น โดยอาจถูกส่งต่อไปถึงลูกน้อยของพวกคุณได้นั่นเอง เนื่องจากพวกคุณไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดอีกต่อไปแล้ว
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน-ก่อนมีบุตรสำคัญไฉน?
เป็นเรื่องธรรมชาติที่คู่รักที่คบหากันจะมีเพศสัมพันธ์กัน (ทั้งก่อนและหลังแต่งงาน) ถ้ามีใครสักคนที่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็อาจทำให้อีกฝ่ายที่เป็นคู่นอนติดโรคนั้นมาด้วยได้ กรณีที่มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การใช้ถุงยางอนามัย (ถุงยางอนามัยป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) และยิ่งถ้าหากว่ามีใครคนใดคนหนึ่งมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างที่ไม่แสดงออกในรุ่นตนเอง แต่สามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกได้ เมื่อทั้งคู่แต่งงานกันแล้วก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดอีกต่อไป ลูกที่เกิดมาจึงอาจจะป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรม
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคติดต่อทางพันธุกรรม คือปัจจัยหลักที่ทำให้คู่รักทุกคู่ควรที่จะต้องตรวจสุขภาพก่อนที่จะแต่งงานและวางแผนมีลูก เพื่อเป็นการเช็กความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกายหรือความบกพร่องทางพันธุกรรมก่อนมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูก เพราะหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรม เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาและหาแนวทางป้องกันโรคพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรได้อย่างถูกต้อง การเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ย่อมดีกว่า ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในเรื่องสุขภาพของคู่สามีภรรยาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด โดยแพทย์แนะนำว่าควรตรวจสุขภาพทั้งชายและหญิง
พูดง่าย ๆ ก็คือ การตรวจสุขภาพของคู่รักก่อนแต่งงาน-ก่อนมีบุตร เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ หากรู้ว่าตนเองหรือคู่รักร่างกายไม่พร้อม หรือเป็นพาหะของโรคที่อาจส่งต่อโรคให้กับทั้งคู่รักและบุตรที่กำลังจะเกิดมา จะได้หาวิธีป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป ไม่ใช่เรื่องผิดที่ทั้งตัวคุณและคู่รักของคุณจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค จึงควรที่จะต้องตรวจสุขภาพก่อน การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขอยู่แล้ว
- เพื่อสกัดการส่งผ่านโรคสู่คนที่เรารัก โอกาสส่งผ่านโรคสู่กันและกันมีมาก ไม่ว่าจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านทางเลือด หรือผ่านทางพันธุกรรม บางโรคอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดในระยะแรก แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ หรือเอดส์ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงและอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน รวมทั้งลดโอกาสการส่งผ่านโรคจากแม่สู่ลูกได้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าลูกหรือคนรักติดโรคจากคุณ ทั้งที่คุณก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค
- เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค บางโรคสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ธาลัสซีเมีย ซึ่งหากคู่รักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโรคทางพันธุกรรม มีโอกาสสูงที่โรคเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดมาสู่ลูกของคุณ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจะทำให้เราทราบว่าลูกที่จะเกิดมาจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้มากน้อยเพียงใด
- เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงที่มีโรคประจำตัว อาจจะมีความเสี่ยงของโรคมากขึ้นหากตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ระหว่างการตั้งครรภ์จะไม่ปลอดภัยทั้งแม่และลูก เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะที่เสี่ยงต่อการการแท้ง การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน และการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ จะช่วยให้วางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
- เพื่อความพร้อมในการเป็นคุณแม่มือใหม่ ไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงยุคใหม่มักทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นหลัก มีแนวโน้มแต่งงานช้าลงและตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก ซึ่งการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากนั้นมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะแท้ง ภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่มือใหม่ ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
โรคอะไรบ้างที่สามารถติดต่อไปสู่คู่รักได้
ทุกวันนี้การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานอาจเป็นเรื่องปกติของคนที่คบหาเป็นแฟนกัน สังคมเปิดรับและเข้าใจมากขึ้นว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ (แต่อาจจะไม่ถูกธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมก็เท่านั้น) และยิ่งแต่งงานเป็นสามีภรรยากันด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่สามีภรรยาจะมีเพศสัมพันธ์กัน แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การที่เราเดินจูงมือกับคนรักไม่อาจทำให้เรารู้ได้ว่าเขาหรือเธอป่วยเป็นโรคหรือไม่ หลาย ๆ คนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีเชื้อนั้นอยู่ในตัว และเมื่อมีเพศสัมพันธ์กันก็สามารถนำเอาโรคติดต่อนั้นไปติดอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว
พวกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น เป็นโรคที่ติดเชื้อและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก ปัญหาใหญ่ของโรคเหล่านี้ คือ ผู้ป่วยอาจไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็น กว่าจะทราบว่ามีความผิดปกติเวลาก็ผ่านไปนาน บางคนก็เพิกเฉยต่ออาการเหล่านั้น บางคนก็อายที่จะเข้ารับการรักษากับแพทย์ เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่ประจานคนป่วยอย่างรุนแรง จึงเลือกที่จะเงียบ เมื่อเวลาผ่านไปทำให้โรคนั้นรุนแรงลุกลามเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ทันเวลา โรคที่มักจะติดต่อกันผ่านทางการร่วมเพศ เช่น
- โรคเอดส์
- ไวรัสเอชไอวี
- โรคซิฟิลิส
- โรคหนองในแท้
- โรคหนองในเทียม
- โรคเริม
- โรคหูดหงอนไก่
- ไวรัสเอชพีวี
- โรคแผลริมอ่อน
- โรคตับอักเสบบี
- โรคตับอักเสบซี
- โรคหูดข้าวสุก
โรคทางพันธุกรรมที่สามารถส่งต่อไปยังลูก
เนื่องจากพันธุกรรมของลูกเกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธุกรรมของพ่อแม่ หากพ่อแม่ แค่ใครคนใดคนหนึ่งมีภาวะของโรคแฝงอยู่ในตัว ก็สามารถส่งต่อพันธุกรรมนั้นมายังลูกได้ กลายเป็น “โรคทางพันธุกรรม” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในพันธุกรรม หรือเกิดขึ้นในโครโมโซม สามารถถ่ายทอดภายในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้ และก่อให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เรื่องน่ากังวลคือในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการและติดตามผลเป็นระยะเท่านั้น การดูประวัติการรักษาต่าง ๆ ของพ่อและแม่ตั้งแต่กำเนิดและการตรวจสุขภาพ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ได้ว่าทารกที่กำลังจะเกิดมาหรือเกิดมาแล้วนั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ การตรวจร่างกายก่อนแต่งงาน-ก่อนมีบุตร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก เพราะต้องเช็กให้แน่ใจว่าพ่อแม่เป็นพาหะที่จะนำโรคเหล่านี้ถ่ายทอดไปสู่ลูกหรือไม่ ถ้าพ่อแม่ป่วยแต่อยากมีลูก จะมีวิธีไหนที่ลดโอกาสป่วยของลูกได้ อีกทั้งยังเป็นการเช็กความแข็งแรงของร่างกายผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต่อภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ เช่น ฝ่ายพ่อมีอสุจิไม่แข็งแรง อสุจิน้อย ท่อนำเชื้อหรือท่อปัสสาวะตีบตัน หรือการเคลื่อนไหวแหวกว่ายของอสุจิผิดปกติ ส่วนฝ่ายแม่ มีความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง รังไข่ มดลูก ซึ่งถ้าพ่อแม่ไม่แข็งแรง ตั้งครรภ์ไปได้ระยะหนึ่งอาจเกิดความผิดปกติ ครรภ์เป็นพิษ แท้ง หรือเด็กอาจเกิดมาผิดปกติ พิการ
ส่วนโรคที่พ่อแม่สามารถส่งต่อไปยังลูกได้ผ่านทางพันธุกรรม เช่น
- โรคตับอักเสบบี
- โรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย)
- โรคหัดเยอรมัน (ลูกสามารถติดเชื้อได้ระหว่างตั้งครรภ์ และมีโอกาสสูงมากที่จะคลอดออกมาพร้อมความผิดปกติ)
- โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก
- โรคเลือดไหลไม่หยุด (ฮีโมฟีเลีย)
- โรคตาบอดสี
- โรคฮันติงตัน
- โรคถุงน้ำในไต
- โรคซีสติกไฟโบรซีส
- โรคลมชัก
- กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
รายการการตรวจสุขภาพทั่วไปของคู่รักเพื่อวางแผนครอบครัว
ปกติ หากติดต่อกับสถานพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพคู่รักก่อนแต่งงาน-ก่อนมีบุตร หลาย ๆ โรงพยาบาลอาจเสนอมาเป็นแพ็กเกจว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะครอบคลุมการวางแผนครอบครัวทั้งหมด คือ ตรวจร่างกายทั่วไปโดยสูตินรีแพทย์, ตรวจหมู่เลือด, ตรวจชนิดของหมู่เลือด, ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย), ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี, ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์, ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ซิฟิลิส), ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี, ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน เป็นต้น
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ให้ความรู้การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานว่ามีรายการตรวจ ดังนี้
1. ตรวจสุขภาพทั่วไปโดยแพทย์ เช่น วัดน้ำหนัง วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เช็กการทำงานของระบบหายใจ อัตรากันเต้นของหัวใจ เช็กกรุ๊ปเลือด
2. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (HBs AG) เป็นเชื้อไวรัสที่จะเข้าไปทำลายเซลล์ตับ ทำให้เกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับ ไวรัสชนิดนี้ติดต่อกันทางเลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกายรวมไปถึงจากมารดาสู่บุตร
3. ตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) คือเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันให้บกพร่อง จนเราไม่สามารถสู้กับเชื้อโรคทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายได้ การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นอันดับต้น ๆ ที่ทุกคนควรตรวจ เพราะวิธีการติดเชื้อหลัก ๆ คือ การมีเพศสัมพันธ์ การติดต่อทางเลือด การติดต่อผ่านมารดาสู่บุตร
4. ตรวจเช็กโรคทางพันธุ์กรรมของบิดาและมารดา โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือด เม็ดเลือดจาง หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ เด็กตัวเหลือง ตับ ม้ามโต ใบหน้าผิดปกติ หากคุณต้องการวางแผนมีบุตรก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยง เพราะทารกอาจเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์
5. ตรวจความพร่องเอนไซม์ (G-6-PD) การพร่องของเอนไซม์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เกิดการตัวซีด ตัวเหลือง เป็นโรคที่ส่งผ่านทางพันธุ์กรรมถึงแม้ว่าบิดามารดาจะไม่ได้เป็น แต่บุตรที่เกิดมาแล้วอาจเกิดภาวะตัวเหลืองได้ โรคนี้ไม่ได้เป็นความผิดปกติทางร่างกายหรือเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่บิดามารดาควรให้ความสำคัญ หลีกเลี่ยงอาหารหรือยาที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการไตวาย
6. ตรวจหาภูมิคุ้มกันเชื้อหัดเยอรมัน (German measles) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้ ข้ออักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นผื่นตามตัว เป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังลูกและคู่สมรส ส่วนใหญ่มักหายไปเองโดยไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่หากเกิดในมารดาที่ตั้งครรภ์ทารกอาจเกิดมาพิการ ถ้ารุนแรงอาจเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หากคุณวางแผนที่จะให้กำเนิดบุตร ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน
7. ซิฟิสลิส (Syphilis) เป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่พบในเพศชาย แต่หากเกิดในเพศหญิงจะมีโอกาสถ่ายทอดสู่บุตร โดยบุตรที่เกิดขึ้นหลังคลอดได้ 3-8 สัปดาห์ อาจมีอาการให้เห็นอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย ถ้าไม่ตรวจจนปล่อยละเลยไปเข้าสู่ขั้นที่ 4 อาจมีอาการพิการออกมาให้เห็นได้
นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม ชายหญิงควรตรวตคัดกรองแบบเจาะลึกเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงโรคร้ายในอนาคต ดังนี้
สำหรับผู้หญิง
- ตรวจภายใน ควรตรวจความปกติของมดลูกและรังไข่ ตรวจอุ้งเชิงกรานที่มีผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์และการคลอด รวมทั้งตรวจหาเนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ มะเร็งปากมดลูก
- ตรวจมะเร็งเต้านม เนื่องจากมารดาที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือมารดาที่มีบุตรเป็นคนแรกตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
สำหรับผู้ชาย
- ตรวจความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ เป็นปัญหาที่พบกันบ่อย เช่น จำนวนของอสุจิน้อยเกินไป อสุจิไม่แข็งแรง การเสื่อมของน้ำอสุจิ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ หากอสุจิของฝ่ายชายไม่สมบูรณ์ก็ทำให้มีบุตรยากได้
- ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก หากมีความผิดปกติจะส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายต่ำ
- ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถพบได้ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ สาเหตุจากสภาวะทางด้านจิตใจ การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน ๆ ความอ่อนล้า อายุที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจมีความเชื่อแบบแปลก ๆ ว่าการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเหมือนกับไม่เชื่อใจในตัวของอีกฝ่าย ไม่เชื่อใจในความสัมพันธ์ ขอให้ปรับทัศนคติและทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะแท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน-ก่อนมีบุตรนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับตรวจสุขภาพประจำปี แต่ที่เพิ่มมาคือเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ความสบายใจ และความปลอดภัยของตัวคุณเอง ตัวสามีหรือภรรยาของคุณ และตัวลูกของคุณ ลองนึกสภาพว่าถ้าพวกเขาเกิดมาผิดปกติหรือพิการสิ! คุณคงไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนั้น