มารยาทในการดูงานศิลปะที่คนไทยควรเรียนรู้!

งานศิลปะในเมืองไทยนั้นถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับขึ้นแล้ว คนเริ่มเปิดใจเกี่ยวกับศิลปะ ภาพประกอบ การตกแต่ง สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ในมหาลัยต่าง ๆ ก็เปิดคณะ สาขาที่เกี่ยวกับศิลปะมากขึ้น แต่สิ่งที่คนไทยยังขาดอยู่มาก นั่นก็คือมารยาทในการชมงานศิลปะไม่ว่าจะในหอศิลป์ หรืองานศิลปะที่ตั้งอยู่ด้านนอก เพราะสิ่งที่เราจะเห็นกันบ่อย ๆ นั้นคือคนไม่ค่อยจะรู้คุณค่าของมัน เลยทำให้ปฏิบัติกับมันแบบยังไม่เห็นค่ามากพอ

บ่อยครั้งที่เราจะเห็นคนที่เดินหอศิลป์เข้าไปสัมผัสงาน เข้าไปยืนพิงเพื่อหามุมถ่ายรูปสวย ๆ ลงโซเชียลมีเดีย เข้าไปหยิบ จับ เหยียบ หรือนั่งบนผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ที่ตั้งอยู่ หรือเแม้แต่กดเครื่องเล่นที่ศิลปินนำมาตั้งเพื่อเปิด-ปิด Video Art นั่นก็มีมาแล้ว

วันนี้ Tonkit360 จึงมีหลายเหตุผลที่ว่าทำไมคนไทยจึงควรเรียนรู้เรื่องการดูงานศิลปะที่ดี เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลงาน และเพิ่มความ “แพง” มี “ความเป็นผู้ดี” ในการดูศิลปะของตัวเอง

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในคืนเดียว

งานศิลปะก็เช่นกัน ไม่ว่าจะรุ่นเล็กระดับมหาวิทยาลัยหรือรุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติ ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยกันทั้งนั้น แรงกาย แรงใจ แรงสมองที่ใช้ไปเพื่อให้ผลงานหนึ่งชิ้นสำเร็จนั้น ทำให้มันออกมามีคุณค่าในตัวเอง การให้เกียรติทั้งผลงานและผู้สร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งที่เหล่าผู้ชมควรจะมีเมื่อชมงานศิลปะ

ไม่ว่าจะรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ แต่ความใส่ใจไม่แพ้กัน

เวลาคนไปดูงานศิลปะ ถ้าขึ้นชื่อว่าผลงานนั้นเป็นของศิลปินใหญ่ ชื่อดัง ผลงานอลังการ ความเกรงใจและมารยาทในการดูงานอาจจะเพิ่มขึ้นมาอีกนิด ด้วยความที่พอจะประมาณมูลค่าของงานเหล่านั้นได้ แต่ถ้าเป็นศิลปินรุ่นเล็กรุ่นน้อยระดับมือสมัครเล่น หรือนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยล่ะจะเป็นอย่างไร? ด้วยความโนเนม ชื่ออาจจะไม่ดัง ผลงานอาจจะไม่ปังมาก แน่นอนว่าคงจะไม่ได้เป็นที่รู้จักวงกว้างเหมือนศิลปินเบอร์ใหญ่ ความเกรงใจของผู้ชมที่มีต่อผลงานก็จะลดน้อยลงไปด้วย (ในกรณีที่คนคนนั้นยังไม่เห็นคุณค่าของงานแต่ละชิ้นมากพอน่ะนะ) ทั้งที่ความจริงแล้ว ศิลปินแต่ละคนก็ใส่ใจในงานแต่ละชิ้นไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเลย

ความชำรุดเสียหาย เกิดขึ้นได้จากการ “สัมผัส” 

บางคนอาจจะคิดว่า “แค่แตะนิดเดียวมันจะเสียหายเท่าไหนกันเชียว?” แต่สำหรับคนทำงานศิลปะ เรียกได้ว่าดูแลผลงานตัวเองเหมือนลูกที่ประคบประหงมมากับมือ ยุงไม่ให้ตาย (บนผลงาน) ไรไม่ให้ตอมเลยทีเดียว

งานบางชิ้นทำบนกระดาษ ซึ่งบางครั้งแค่นิ้วแตะโดนก็จะทำให้กระดาษเหลือง เป็นรอยนิ้วมือได้ถ้าผ่านไปเป็นเวลานาน และจะทำให้งานศิลปะชิ้นนั้นสมบูรณ์แบบได้ไม่นานเท่าที่ควร นั่นทำให้เวลาสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินแทบจะไม่ใช้มือแตะโดนกระดาษเลย

ไม่อยากให้ป้ายเตือนบดบังทัศนียภาพในการดูงาน ก็ต้องเริ่มปรับที่ตัวเอง / ภาพจาก Tonkit360

แล้วเวลาดูงานศิลปะ ต้องทำอย่างไรล่ะ? 

ง่าย ๆ ไม่ต้องทำอะไร และไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นก็คือการดูอย่างมีมารยาทนั่นแหละ งานศิลปะส่วนใหญ่ที่ทำขึ้นแบบ 2 มิติ ลงบนกระดาษหรือผ้าใบ จุดประสงค์ของมันก็คือเพื่อให้ผู้ชมนั้นได้ดู และคิดไปตามคอนเซ็ปต์ที่ศิลปินต้องการจะสื่อว่าสะท้อนอะไรออกมา ต้องการให้เราคิดอะไรต่อได้จากผลงาน และสื่อให้เราเห็นถึงเทคนิคในการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือวาดหรือเพ้นต์

ผลงานบางอย่างที่เป็นการจัดวาง มีของเยอะ ๆ ตั้งรวมกัน (หรือเรียกว่า Installation Art) ประติมากรรม เป็น 3 มิติ จุดประสงค์ก็เพื่อดูเช่นเดียวกัน บางอย่างเราสามารถมีส่วนร่วมกับผลงานได้ อย่างเช่นผลงานที่มีกลไกให้ผู้ชมได้ลองเล่น ลองสัมผัส ก็ควรทำอย่างระมัดระวัง ป้องกันการเสียหาย

หากต้องการจะถ่ายรูป ก็ทำได้ไม่มีใครว่า (ยกเว้นว่าตัวหอศิลป์จะแปะป้ายห้ามถ่าย นั่นก็เป็นอีกกรณีนึง) แต่สิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่งก็คือการเข้าใกล้มากเกินไป หรือการสัมผัสผลงาน เพราะจะทำให้ผลงานเสียหายได้

ดังนั้น เมื่อรู้ถึงคุณค่าของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นที่ศิลปินตั้งใจสร้างสรรค์แล้ว หากได้มีโอกาสเข้าชมงานที่หอศิลป์หรือไม่ว่าที่ไหนก็ตาม การที่เราให้ระยะห่างจากงานมากพอจะทำให้เห็นสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อออกมามากขึ้น และเรื่องราวในแต่ละชิ้นนั้นจะให้อะไรกับเรามากกว่าคำว่า “ดู”