BCG Tourism เป็นการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์กับมิติด้านการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนมากขึ้นในทุกมิติ เริ่มต้นด้วยการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไปสู่เมืองรอง การเสริมศักยภาพชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สนับสนุนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี เน้นตลาดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง รวมถึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นเมืองเกษตรกรรม จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่สามารถต่อยอดร่วมกับ BCG Tourism ด้วยการชูโรงอาหารที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติและความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค และยังสามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเชิงคุณภาพ เช่น การดูแลผลผลิต การควบคุมคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ การตลาด รวมไปถึงการสร้างช่องทางเชื่อมโยงกับผู้บริโภคผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและเห็นถึงความจำเป็นในการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว ตัวอย่างที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว คือ TOCA Platform ช่องทางร้านค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ออนไลน์ ภายใต้การร่วมมือกันของ ททท. และสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย เส้นทางของการผลิตอาหารที่ยั่งยืนมากกว่าอดีตใช้เป็นจุดขายที่เพิ่มคุณค่าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จนสามารถเพิ่มรายได้มากขึ้นให้แก่พี่น้องเกษตรกร
ที่มา : https://thailand.go.th/issue-focus-detail/001_02_356?hl=th
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]