เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน หลาย ๆ คนน่าจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นทั้งบนโลกออนไลน์และทางออฟไลน์ ตามโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าแอคเคาท์ของเพจต่าง ๆ หลาย ๆ แบรนด์หรือองค์กรทยอยเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ให้มี “สีรุ้ง” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาพ ส่วนออฟไลน์ ตามห้างร้านหรือสถานที่หลาย ๆ แห่งก็จะมีสัญลักษณ์สีรุ้งเข้ามาเป็นตกแต่งเช่นกัน รวมถึงมีการจัดงานที่เรียกว่า Pride Parade เพื่อเฉลิมฉลองในเดือนนี้ด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนให้สังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศ
สำหรับความเป็นมาที่ทำให้เดือน มิถุนายน ได้รับการเลือกให้เป็น Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังที่เราจะเห็นการจัดกิจกรรมและการแสดงสัญลักษณ์สีรุ้งเต็มโซเชียลมีเดียตลอดทั้งเดือนนั้น ก็เพื่อสดุดีและระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวิติศาสตร์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เหตุการณ์นั้นก็คือ Stonewall Riots (การจลาจลสโตนวอลล์) เหตุการณ์การเรียกร้องของกลุ่มคนที่แค่อยากจะใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคม ยุติการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องสิทธิ-เสรีภาพการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมในสังคมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
คร่าว ๆ ของ เหตุการณ์และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ชาว LGBTQIAN+ ภาคภูมิใจ เกิดขึ้นช่วงเช้ามืดวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ณ Stonewall Inn บาร์เกย์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ที่มักจะเป็นที่รวมตัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่นี่เป็นสถานที่ที่พวกเขาจะได้เปิดเผยตัวตนของตนเองออกมา เพราะในเวลานั้น คนกลุ่มนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม คนที่รักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมทั้งการแต่งกายที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดบาปในสังคม พวกเขาไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนของของตนเองได้เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ
ระหว่างที่ตำรวจมาตรวจบาร์ตามปกติ กลับเกิดเหตุการณ์ที่ต่างจากปกติ ในวันนั้น ผู้คนในบาร์เกย์แห่งนี้เลือกที่จะแสดงความขัดขืนต่อการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่าจากนี้จะไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังและใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมนี้เล่นงานอีกต่อไป จนเกิดปะทะกันรุนแรงระหว่างกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลายเป็นจลาจลที่ขยายวงกว้างออกมาถึงบนถนนหน้าบาร์ ทั้งตำรวจและฝูงชนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในวันนั้นค่อย ๆ สงบลงและยุติในที่สุด
แต่เรื่องมันไม่ได้จบลงง่าย ๆ แค่นั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงกับคนกลุ่มนี้เหมือนว่าพวกเขาไม่ใช่คน เพียงเพราะว่าพวกเขา “ไม่ใช่” คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แบบที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม สิ่งที่ถูกกำหนดโดยสังคมและวัฒนธรรม คืนต่อมามีผู้คนจำนวนหลายพันคนมาที่บาร์เพื่อชุมนุมและแสดงพลังของ LGBTQ+ สู่ชาวโลก
เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ Pride March) อีกครั้งในปีถัดมา (วันที่ 28 มิถุนายน 1970) ที่นิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่คือ ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก ทำให้จากนั้นเป็นต้นมา ชุมชน LGBTQ+ ก็เริ่มออกมาแสดงจุดยืนของตนเอง และรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จนพัฒนามาเป็นการเฉลิมฉลองของกลุ่ม LGBTQ+ และผู้สนับสนุนในที่สุด
สังคมออกจะใหญ่ จะคาดหวังให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้!
การแสดงจุดยืนเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศยังคงดำเนินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2000 ที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน (Gay & Lesbian Pride Month) และอีก 9 ปีต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เพิ่มให้สังคมตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
สำหรับที่มาที่ไปของ Pride Month นั้น เอาเข้าจริงเป็นเรื่องน่าเศร้า การที่คนกลุ่มหนึ่งแค่อยากจะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็น มันกลับกลายเป็นความผิดบาปจนถึงขั้นที่ต้องใช้ความรุนแรง ในสมัยนั้น มันเป็นความขมขื่นที่คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับ แค่พวกเขาแตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนปกติ พวกเขาจึงกลายเป็นคนที่ “ผิดปกติ” พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง ถูกตีตราด่าว่าด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามด้อยค่าความเป็นคน แสดงท่าทีรังเกียจ แปะป้ายว่าคนกลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิต เป็นอาการป่วยที่ต้องรักษา
ทำไมแค่ “เพศ” ที่พวกเขาไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็น “หญิง” หรือ “ชาย” มันถึงได้กลายเป็นปัญหา ถึงขนาดที่ทำให้ผู้คนเกลียดชังกันและลุกขึ้นมาทำร้ายกันได้ หลาย ๆ ประเทศ (เคย) ใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับคนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศประหนึ่งว่าพวกเขาเป็นอาชญากรร้ายแรงที่ต้องถูกกำจัดให้สิ้นซากเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่พวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกันกับทุกคน เพียงแต่ต้องการระบุเพศด้วยตนเองเท่านั้น ไม่เป็นชาย ไม่เป็นหญิง ไม่ขึ้นอยู่กับกรอบ ของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของสังคม เหตุใดความแตกต่างจึงเป็นความผิดหนักหนาสาหัสขนาดนั้น
โลกของเรานั้นมันใหญ่เกินกว่าที่จะมากำหนดว่าเพศของมนุษย์ต้องมีแค่ 2 เพศ คือ ชายกับหญิงเท่านั้น ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เขาไม่ได้รู้สึกอินกับการแบ่งเพศตามสรีระและอวัยวะที่ใช้บ่งบอกเพศที่ได้มาตั้งแต่เกิด มันเป็นความหลากหลายที่พวกเขาควรมีสิทธิ์เลือกนิยามตัวเองหลังจากที่ได้เรียนรู้และค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง แต่สังคมโดยรวมกลับไม่เปิดรับและต่อต้าน ผู้ที่จิตวิญญาณและเพศสภาพขัดแย้งกัน คนที่มีลักษณะการแสดงออกทางเพศไม่ตรงกับกายภาพมักจะถูกสังคมรังเกียจและรังแก กลายเป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ เพียงเพราะแบ่งหญิงชาย
เปิดใจ ยอมรับให้ได้ว่าคนเราแตกต่างและหลากหลาย
ในสังคมเรานั้นมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าที่เราเห็นว่ามันมี อะไรที่เราไม่เคยพบไม่เคยเห็นก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มี แต่การเรียนรู้ที่จะเปิดใจยอมรับและเข้าใจถึงความแตกต่างต่างหากคือหัวใจสำคัญที่เราควรจะมี เพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ในเมื่อความหลากหลายทางเพศของคนกลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องของพวกเขา เขาไม่ได้มาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ฉะนั้น เราก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนอะไรกับเขาก็ได้ แค่ต่างคนต่างอยู่ ต่างใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการไป เรื่องทุกอย่างมันจะง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก แค่เพศที่หลากหลาย เราควรจะอยู่ร่วมกันได้
ความหลากหลายด้าน อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คือสิ่งที่สังคมต้องสร้างความเข้าใจ ที่มาของตัวอักษร LGBTQIAN+ มีที่มาทุกตัว และสีรุ้งแต่ละสีที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศก็มีความหมายทุกสี หากคนในสังคมแค่ลองที่จะเริ่มต้นจากการหาความหมายของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ก็อาจทำให้เราเข้าใจคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น โดย LGBTQIAN+ ย่อมาจาก
- L – Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง
- G – Gay กลุ่มชายรักชาย
- B – Bisexual หรือกลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
- T – Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย
- Q – Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก
- I – Intersex คือ ภาวะเพศกำกวม ผู้ที่เกิดมามีสองเพศ (ทางกายภาพ)
- A – Asexual คือ เพศที่ไร้ความรู้สึกทางเพศ ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับเพศไหน ๆ
- N – Non-binary คือ บุคคลที่ไม่ต้องการระบุเพศสภาพของตนว่าเป็นชายหรือหญิง
- เครื่องหมาย + คือ การแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วความหลากหลายทางเพศยังมีมากกว่าที่ปรากฏเป็นตัวย่อข้างต้น และบุคคลหลากหลายทางเพศจะไม่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หยุดนิ่งหรือตายตัว เครื่องหมาย + จะช่วยให้การนิยามความหลากหลายทางเพศเปิดกว้างขึ้นและสามารถลื่นไหลต่อไปได้ในอนาคต
ส่วนสีบนธงสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทน “ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” อย่างเป็นสากล ถูกสร้างโดย กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ปัจจุบันมีอยู่ 6 สี แต่ละสีก็ประกอบไปด้วยความหมายแฝงที่แตกต่างกัน ดังนี้
- สีแดง หมายถึง ชีวิต
- สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
- สีเหลือง หมายถึง แสงแห่งความหวัง
- สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
- สีฟ้า หมายถึง ความสามัคคี
- สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
ถึงอย่างนั้น การต่างคนต่างอยู่อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าหากคนกลุ่มนี้ถูกกีดกันทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพบางประการเหมือนคนที่ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนปกติ นั่นหมายความว่าต่อให้ผู้คนในสังคมจะเปิดใจยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มนี้ และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่เหตุใดพวกเขาถึงไม่มีโอกาสได้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ เหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจในสังคมต้องทำการบ้านต่อไป ถึงมนุษย์ในสังคมจะมีความแตกต่าง แต่สิ่งที่ต้องไม่แตกต่างคือสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกัน มันเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นชายหรือหญิงหรือไม่ใช่ทั้งชายและหญิงก็ตาม
ทำใจยอมรับอาจจะยาก แต่แค่สงวนท่าทีและสงบปากสงบคำอาจจะง่ายกว่า
แม้ว่าสังคมสมัยนี้จะเปิดกว้างในกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากกว่าแต่ก่อน เห็นได้จากการที่เริ่มยอมรับคนกลุ่ม LGBTQIAN+ เป็นวาระสำคัญระดับนานาชาติ แต่ปัญหาก็ยังอยู่ที่ตัวบุคคล เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เปิดใจ มีความคิดว่าบนโลกนี้ ต้องมีแค่ชาย-หญิง และผู้ชายต้องคู่กับหญิงเท่านั้น มีผลให้ในหลาย ๆ กรณี คนกลุ่ม LGBTQIAN+ ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไร้ตัวตน ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัว กลายเป็นความเจ็บปวดในใจ คิดว่าตัวเองผิดปกติ ไม่ยอมรับตัวเอง และถ้าสังคมรู้ก็อาจได้รับอันตราย โดยเฉพาะในสังคมที่มีค่านิยมรังเกียจอย่างรุนแรง
การแสดงออกว่ารังเกียจคนกลุ่มนี้เคยมีความรุนแรงจนถึงขนาดที่ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ คนกลุ่ม LGBTQIAN+ มักจะถูกกระทำราวกับว่าเขาไม่ใช่คน การถูกตราหน้าว่าผิดเพศ ผิดปกติทางจิต เป็นเหยื่อความรุนแรง ทั้งการใช้วาจา การแสดงความคิดเห็นแบบเหมารวมในแง่ลบ การล้อเลียนส่อเสียด การประทุษร้ายร่างกาย ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกอคติ ถูกกีดกันจากสังคม การแสดงสายตาและท่าทีรังเกียจ ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการด้อยค่าความเป็นคนของคนกลุ่มนี้ทั้งสิ้น ทั้งที่พวกเขาก็เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากเรา ๆ ทั้งหลายเลย
กระทั่งที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องมีมติรับรองว่า การรักร่วมเพศ (Homosexual) หรือความพึงพอใจในเพศเดียวกันนั้น ไม่จัดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช เกิดเป็น วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (International Day against Homophobia : I.DA.HO) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และยุติพฤติกรรมการด้อยค่าความเป็นคนของพวกเขาเสียที
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าการเปิดใจยอมรับอะไรที่แตกต่างไปจากตัวเราอาจต้องใช้เวลา ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ถึงข้อดี เรียนรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งไม่ดี ไม่ใช่ความผิดปกติ ค่อย ๆ เปลี่ยนทัศนคติว่าการที่พวกเขาเป็นผู้ที่หลากหลายทางเพศมันไม่ได้ส่งผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนอะไรให้แก่ตัวเรา ก็ไม่จำเป็นต้องไปรังเกียจพวกเขา รวมถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมของพวกเขา พวกเขาแค่ต้องการการยอมรับตามกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม ไม่ได้หมายความว่าสิทธิและเสรีภาพเดิมของเราจะถูกพรากไปหากพวกเขาได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปขัดขวาง
การที่ยังยอมรับความแตกต่างไม่ได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การแสดงออกกับพวกเขาแบบรังเกียจต่างหากที่ผิด ถ้ายังเปิดใจยอมรับความหลากหลายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่สงวนท่าทีและสงบปากสงบคำตนเองไม่ให้ไปแสดงพฤติกรรมหรือใช้วาจาทำร้ายจิตใจพวกเขาก็พอ การควบคุมตนเองน่าจะง่ายกว่าการยอมรับ แค่ทำตัวเป็นคนมีอารยะ มีการศึกษา มีมารยาท มีสมบัติผู้ดี และไม่พูดจาถากถางเหยียดหยามคนอื่น เก็บความเกลียดชังและคำพูดรุนแรงชั่วร้ายไว้ในใจ ไม่ต้องแสดงหรือพรั่งพรูออกมาให้คนอื่นเขารู้ว่าเป็นคนมีทัศนคติแบบไหน เป็นคนเช่นไร จิตใจหยาบแค่ไหน ไม่น่าจะยากเกินไป