ใครที่เกิดไม่ทันในยุคสงครามโลก อาจเข้าไม่ถึงคำว่า “ข้าวยากหมากแพง” ที่คนสมัยก่อนเคยเผชิญ ปัจจุบันเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียในครั้งนี้ดำเนินไประยะเวลากว่า 100 วันแล้ว เป็นสงครามที่ยืดเยื้อและยังไม่มีวี่แววจะจบสิ้น จากสงครามส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในภาพรวมปรับตัวลดลง ราคาอาหารโลกในเดือนเมษายนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น 29.8% เป็นเหตุทำให้หลายประเทศเริ่มเผชิญหน้ากับการขาดแคลนอาหาร ปัจจุบันก็มีอีกหลายประเทศประกาศใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหารบางประเภทอีกด้วย
การที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออกอาหาร ทำให้เริ่มมองได้ว่าต่อไปนี้โลกของเรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ วิกฤติอาหารโลก และประเทศไทยเองก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ผลกระทบที่เราได้รับ วัตถุดิบทางการเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้น ผลพวงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก
แม้ว่าประเทศไทยของเราจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารและส่งออกในอันดับต้น ๆ ของโลก ที่อาจจะไม่เผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหารเช่นประเทศอื่น ๆ นับว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง แต่ไทยเองต้องบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของสินค้าอาหารไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง ล้วนเป็นสิ่งที่ไทยยังต้องพึ่งพิงนำเข้า หากขาดแคลนก็จะกระทบต่อผลผลิตที่ลดลงได้ทันที นั่นหมายความว่าหากสงครามยังยืดเยื้อไม่มีวันจบสิ้น ประเทศไทยเองก็อาจเจอสภาวะขาดแคลนอาหารได้เช่นเดียวกัน
วิกฤติอาหารโลก รุนแรงแค่ไหน
สิ่งที่เราได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ ราคาสินค้าต่างทยอยกันปรับราคาสูงขึ้น ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพุ่งสูงขึ้น นั่นแปลว่าประชาชนต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น ในประเทศที่มีอัตรารายได้น้อยนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด
การที่ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤติที่เรียกว่า The Great (Food) Shortage หรือภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลก
ประเทศไทยได้รับผลกระทบยังไง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราเห็นได้อย่างชัดเจนจากราคาน้ำมันที่มีการปรับราคาสูงขึ้นแทบทุกวัน รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารที่มีการปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาหมูที่เพิ่มขึ้น ไข่ไก่ น้ำมันพืช และอื่น ๆ ส่งผลให้ร้านค้าจำนวนมากต้องติดป้ายขอขึ้นราคาอาหาร จากวัตถุดิบแพงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่ราคาขายแบบเดิมได้ ยังไม่รวมแก๊สหุงต้ม LPG ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าทางด่วน แต่ก็ไม่แปลกอะไรหากเราจะคิดว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบต่าง ๆ สูง ย่อมทำให้ราคาสินค้าจะแพงขึ้น หากสินค้าอุปโภคบริโภคต่างปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบนี้ ประชาชนอาจได้รับความเดือดร้อน กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะที่รายได้ของประชาชนยังคงเท่าเดิม
อย่าประมาท ควรเตรียมตัวรับมือ
วิกฤติอาหารจะไม่จบง่าย ๆ โดยเฉพาะถ้าสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังยืดเยื้อ ประเทศเราแม้เป็นประเทศส่งออกอาหารก็ต้องไม่ประมาท ต้องเตรียมรับมือให้พร้อม เมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามเรามักได้รับผลกระทบ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยสะดวกสบายจะเกิดขัดข้องไปหมด เช่น การคมนาคม อาหารการกิน เสื้อผ้า ยารักษาโรค และของใช้บางอย่าง เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเตรียมรับมือจากผลกระทบครั้งนี้
ความขาดแคลนอาหารสำหรับประเทศไทยของเรา อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างเห็นได้ชัดคือ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในทุก ๆ วันเป็นวิกฤติที่เราเองต้องเฝ้าระวังในฐานะที่เป็นผู้อุปโภคบริโภค ต้องตั้งสติในการใช้จ่ายให้มากขึ้น และควรปรับตัวการใช้ชีวิตให้อยู่ได้ในสภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้
สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมตัวเสมอก็คือ วางแผนการเงินเสมอ ควรมีการกระจายเงินออมและเงินลงทุนให้เหมาะสม ต้องไม่ลืมสำรองเงินสดไว้ในระดับที่เหมาะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทองคำก็จัดเป็นสินทรัพย์มั่นคงสำคัญในยามเกิดวิกฤติต่าง ๆ เพราะมีมูลค่าในตัวของมันเอง ขณะเดียวกันควรจับจ่ายใช้สอยด้วยความระมัดระวัง สิ่งของฟุ่มเฟือยควรหลีกเลี่ยง ที่สำคัญอย่าพยายามก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ราคาสินค้าหลาย ๆ อย่างไม่ได้ต่ำลง และบางอย่างยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบนี้ ก็อย่าชะล่าใจ เพราะจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา เราจะรู้ว่าวิกฤติเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครคาดการณ์ได้แม่นยำ 100% ดังนั้นผู้ที่พร้อมที่สุดจะเป็นผู้รอดเสมอ