ตั้งแต่เข้าสู่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เคยซุกเอาไว้ใต้พรมก็ถูกนำมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาทางการศึกษา ครูที่ไม่มีคุณภาพ ทำร้ายร่างกายเด็กบ้าง พูดจากับเด็กไม่ดี สร้างบาดแผลในใจให้เด็กก็มี ซึ่งกรณีต่อไปนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมกำลังให้ความสนใจ
เรื่องของ “คำหยาบ” เป็นเรื่องที่โดนบ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาโดยตลอด และโดนในทุกคนทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ดารา นักร้อง ยันนักวิชาการ หรือนักการเมือง เป็นเรื่องที่ก่อดราม่าได้เป็นประจำ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ดราม่าที่ใหญ่โตมาก แต่เป็นดราม่าตลอดเวลา ล่าสุดเกิดกระแสดราม่าเกิดขึ้นระหว่างครูกับนักเรียน โดยใช้คำพูด เชือดเฉือน ประชดประชัน ครูเหยียดเด็ก เรียนโง่ = ผู้ชายที่ไหนจะเอาทำพันธุ์ ข้อความดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะในฐานะครู หรือในฐานะมนุษย์ก็ตาม
สังคมสมัยนี้คนพูดคำหยาบกันจนเป็นเรื่องปกติ โดยความเห็นส่วนตัว มันเป็นเรื่องของรสนิยมและกาลเทศะ แต่ประเด็นที่อยากเขียนในวันนี้ คำหยาบไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ พูดจาหยาบคาย
“คำหยาบ” ใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา
สมัยก่อนเราอาจจะรู้สึกหน้าชาไปกับคำหยาบคายที่รุนแรง หรือกลายเป็นสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ ทำเอาเราจุกจนพูดไม่ออกไปทั้งวัน ทุกวันนี้เรากลับเห็นว่าคำหยาบที่เคยสร้างความเจ็บแสบ ได้กลายเป็นคำทั่วไปในชีวิตประจำวัน แถมยังลดทอนพลังของคำเหล่านั้นด้วยการนำไปใช้ในบริบทอื่น ๆ คำพูดไหน เป็นคำหยาบแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน ตราบใดที่การพูดนั้นอยู่ในความเหมาะสม อยู่ในกาลเทศะ บางคนอาจรู้สึกว่าพูดแล้วให้ความเป็นกันเอง เข้าถึงคนอื่นง่าย สร้างบรรยากาศครึกครื้น สนุกสนาน เฮฮา
แต่การเป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนนักเรียนให้พวกเขาเติบโตเป็นไปตามแบบแผนและบรรทัดฐานของสังคม กลับมีพฤติกรรมใช้ถ้อยคำหยาบคาย โดยไม่มีกาลเทศะ ใช้ไม่ถูกที่ ใช้ไม่ถูกเวลาแบบนี้ เรายังสามารถดูเป็นตัวอย่างที่ดีได้อยู่หรือไม่ คำพูดจะบอกให้รู้ว่าคุณเป็นคนยังไง ถ้าคุณใช้คำหยาบก็แสดงว่าคุณเป็นคนหยาบคายคนหนึ่งที่ไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น
ปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของครูบางคน ส่งผลให้อาชีพครูเสื่อมเสีย ทำให้ในสายตาประชาชนมองอาชีพครูไม่ดี และทำให้ผู้ปกครองของนักเรียนขาดความเชื่อใจ และความเชื่อมั่นในตัวของครู ไม่ให้เกียรติคนเป็นครู และมองว่าอาชีพครูใคร ๆ ก็เป็นได้ ทุกวันนี้ “จรรยาบรรณ” ความเป็นครู ไม่มีอยู่แล้วหรืออย่างไร หรือมอง “ครู” เป็นเพียงแค่อาชีพหนึ่งที่เช้าก็มาทำงาน เย็นก็กลับบ้าน และรับเงินในสิ้นเดือนเท่านั้น จะประพฤติหรือปฏิบัติตัวอย่างไรก็ได้แบบนี้หรือ
ครูควรทำตัวให้เหมาะสมกับคำกล่าวที่ว่า “ครู” เปรียบได้กับแม่พิมพ์ของชาติ วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ได้รับการแต่งตั้งอย่างมีเกียรติ ครูต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ศิษย์ ไม่ใช่ใช้อำนาจการเป็นครูทำตามอารมณ์ตน หากเรายังไม่สามารถระงับพฤติกรรมให้ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรไม่ได้ แบบนี้จะไปสอนใครให้เป็นคนดีได้
สิ่งที่สังคมรับไม่ได้ “การพูดจาหยาบคาย”
สังคมวิถีใหม่ที่อยู่ในโลกไซเบอร์ชีวิตผู้คนมีกิจกรรมออนไลน์ มีสมาร์ทโฟนประจำตัว ใช้โปรแกรมสื่อสังคม social media กันมาก เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ติ๊กต่อก ฯลฯ มีการสื่อสารพูดคุยกัน ส่งข้อความทางออนไลน์ เข้าถึงง่ายขึ้น การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่สุภาพ ในพื้นที่ social media มีให้พบเห็นกันอย่างมากมาย การแสดงความคิดเห็นแบบไม่เห็นหน้ากัน สื่อสารผ่านบทความแบบไม่เห็นหน้ากันนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะพูดอะไรก็ได้ จะหยาบคายแค่ไหนก็ได้
ไม่ว่าคน ๆ นั้นอาจมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน เป็นเด็กที่ชอบทำตัวมีปัญหาอยู่บ่อย ๆ หรือจะเป็นบุคคลที่เราไม่ชอบ ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยในการกระทำต่าง ๆ แต่เสรีทางความคิด เสรีทางการพูด คือสิ่งที่ควรผ่านกระบวนการวิเคราะห์ของปัญญาชน ก่อนที่จะปล่อยความเสรีนั้นออกสู่สาธารณะ ดังนั้นไม่ควรพูดจาหยาบคายใส่ใคร เหมือนดั่งคำพูดที่ว่า “ไม่ชอบคนแบบไหน ต้องไม่ทำตัวแบบนั้น” การพูดให้คำแนะนำที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำที่หยาบคายก็ได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง
“ถ้าพูดดีไม่ได้” ก็อย่าพูดเลยเสียดีกว่า
การใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ไม่ถูกกาลเทศะ เพราะเป็นการกระทำที่ส่งผลเสียมาที่ตัวเราและคนรอบข้างเรื่องแบบนี้มันต้องดูที่เจตนาและกาลเทศะ เราเลือกใช้คำหยาบได้ แต่อย่าติดนิสัย “หยาบคาย” จนแยกแยะไม่ออกว่าสถานการณ์แบบไหนควรหรือไม่ควร ความปรารถนาดีต่อกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ยังคงเป็นคติธรรมที่สังคมไทยควรรักษาเอาไว้ ถ้าในสถานการณ์นั้นหาคำพูดดี ๆ ไม่ได้ก็ขอให้มีสติยั้งคิด หรือเลือกที่จะไม่พูดออกไปเสียดีกว่า
เพราะคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ คำพูดที่งดงาม ตราตรึงอยู่ในความทรงจำได้ฉันใด การฝึกตัวเองให้แวดล้อมไปด้วยสติแห่งการคิดก่อนพูดก็คือความงดงามในชีวิตของผู้พูดเองฉันนั้น มีกรณีศึกษาอยู่มากมายเลยทีเดียว “คำพูด” สามารถทำให้ชีวิตดีหรือแย่ได้ เพียงแค่คำ ๆ เดียวก็สามารถเปลี่ยนชีวิตคนมานักต่อนักแล้ว
สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล “การสอนที่ดีไม่จำเป็นต้องหยาบ”
ความหยาบคาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมด้านลบ ประกอบด้วย ความหลงตัวเอง ความไร้เมตตา และการเห็นคนอื่นเป็นเหยื่อ และความเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งสามารถระบายความรู้สึกได้ด้วยถ้อยคำที่ออกแนวรุนแรง หยาบคาย ผู้คนจึงแสดงอารมณ์แง่ลบออกมาได้อย่างเต็มที่ การสอนหรือการว่ากล่าวตักเตือนนักเรียน ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำหยาบคาย เพียงแค่ใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เป็นการใช้ปิยวาจา เอาใจใส่ให้มากขึ้น แล้วใช้คำพูดไปสร้างแรงบันดาลใจ นักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ดีจากเกรดร่วง ก็อาจทำให้เกรดรุ่ง จากคนที่ไม่มีจิตใจในการเรียน ก็กลายเป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน
สุดท้ายแล้วครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่อาจมีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งการจะเป็นครูที่ดีได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะหมายความว่าครูสามารถบรรลุความสมบูรณ์แบบจนไม่ต้องการความพยายามเพิ่มเติมในการปรับปรุงใด ๆ และครูในลักษณะแบบนี้ คือครูในฝันและครูในอุดมคติของใครหลายคน