“ออกกำลังกาย” ไม่ช่วยให้ “วัยกลางคน” ผอมลง


“ออกกำลังกาย” ไม่ช่วยให้  “วัยกลางคน” ผอมลง

“อย่าออกกำลังกาย ถ้าคิดจะทำเพื่อลดน้ำหนักสำหรับวัยกลางคน” ประโยคนี้อาจจะสะเทือนใจคนฟังอยู่บ้าง หากใครอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 45-65 ปี

แม้ว่าการออกกำลังกาย เป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง เมื่อคิดจะลดน้ำหนักส่วนเกินของตัวเอง แต่ดอกเตอร์รอย เทย์เลอร์ ศาสตราจารย์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลของอังกฤษ บอกว่า หากต้องการการลดน้ำหนัก สิ่งที่ต้องทำ คือการเลือกกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ

จากผลการวิจัยของศาสตราจารย์เทย์เลอร์ พบว่า คนเราสามารถลดน้ำหนักได้มากถึง 15 กิโลกรัม ภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น หากควบคุมการรับประทานอาหารให้เหลือแค่ 600 แคลอรี่ต่อวัน

แต่ใช่ว่าการออกกำลังกายจะไร้ความหมายเสียทีเดียว เพราะความเป็นจริงแล้ว กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างการออกกำลังกายนั้น ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เทย์เลอร์ยังทดลองให้คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 11 คน ควบคุมปริมาณอาหารให้เหลือ 600 แคลอรี่ต่อวันด้วย โดยพบว่าสามารถคุมเบาหวานได้ดีหลังผ่านไป 2 เดือน และเมื่อทดลองต่ออีก 3 เดือน พบว่า คนไข้ 7 ใน 11 คน ยังคงมีน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เป็นปกติ

ดังนั้น หากต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผล ก็ควรใช้วิธีควบคุมการกินอาหารให้พอเหมาะ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็งด้วย

แต่หลังจากลดน้ำหนักได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผลการศึกษาก่อนหน้านี้ของศาสตราจารย์ เจมส์ ฮิลล์ แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์ Colorado Anschutz Medical Campus พบว่ามีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ผู้ลดน้ำหนักยังคงรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ไว้ได้โดยไม่ออกกำลังกาย

พร้อมกันนี้ ยังแนะนำด้วยว่า ใครที่ลดน้ำหนักลงไปได้มากๆ แล้วไม่อยากกลับไปอ้วนฉุเหมือนเดิม ก็ควรออกกำลังกายให้ได้วันละ 70 นาที ส่วนคนที่ไม่มีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มง่าย ก็อาจออกกำลังกายในสัดส่วนที่เบาลงได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าฟิตเนสหรือยิมแต่อย่างใด