ติดโควิด-19 หยุดงาน-ขาดรายได้ เบิกเงินทดแทนจากประกันสังคมได้

เป็นปีที่ 3 แล้วที่เรายังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เราได้รู้จักกับโรคนี้ ก็ยิ่งมีวิวัฒนาการการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ใครที่เคยรอดจากช่วงระบาดหนักในรอบก่อน ๆ รอบนี้กลับไม่รอด ทำให้ได้รับผลกระทบต่าง ๆ ตามมาหลังจากติดโรคแล้ว ที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ต้องกักตัวเอง ไม่ออกไปพบปะกับใครเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค ต้องขอหยุดงาน ซึ่งการที่ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติก็เป็นอีกหนึ่งความเดือดร้อนที่น่ากังวลของใครหลายคน เพราะหยุดงานก็คือขาดรายได้

ทว่าไม่ต้องกังวลขนาดนั้น หากคุณเป็นผู้ประกันตนในระบบสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33, 39 และ 40 หากติดโควิด-19 สามารถทำเรื่องเบิก “เงินทดแทนการขาดรายได้” หลังจากที่หายป่วยแล้วได้ ซึ่งเงินทดแทนการขาดรายได้ ก็คือเงินที่ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะได้รับหลังจากที่เจ็บป่วยและต้องพักรักษาตัวตามแพทย์สั่ง ทำให้ไม่มีรายได้นั่นเอง ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

การทำเรื่องขอเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้นี้ สามารถยื่นเรื่องได้หลังจากที่รักษาตัวหายแล้วภายในระยะเวลา 2 ปี ผ่าน 2 ช่องทาง คือ

  • ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
  • ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กรอกข้อมูล พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ส่งไปยังสำนักงานประกันสังคม และทางสำนักงานจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตน ตามที่อยู่ในเว็บไซต์ www.sso.go.th
ภาพจาก Facebook : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

รายละเอียดของการเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ของผู้ประกันตนมาตราต่าง ๆ

ผู้ประกันตน ม.33

  • กรณีลาป่วย 30 วันแรก จะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
  • กรณีลาหยุดพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน หากป่วยเรื้อรังได้รับไม่เกิน 365 วัน
  • ยื่นแบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)
  • พร้อมหลักฐานสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ (กรณีส่งเอกสาร หากติดต่อด้วยตนเองที่สาขาให้นำเอกสารตัวจริงไปแสดงด้วย) ใบรับรองแพทย์ที่ระบุวันหยุดงาน หนังสือรับรองของนายจ้าง เพื่อยืนยันว่าได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยครบ 30 วันใน 1 ปีปฏิทิน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) และแพทย์มีคำสั่งให้หยุดงานต่อ สถิติวันลาป่วยที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) กรณีที่เปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและและเลขที่บัญชี โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
  • มี 10 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ผู้ประกันตน ม.39

  • จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคำนวณจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนม.39 ซึ่งอยู่ที่จำนวน 4,800 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วันปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง จะสามารถได้เงินทดแทน ไม่เกิน 365 วัน
  • จะได้รับสิทธิ์เมื่อมีการนำส่งเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน (จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม) ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ก่อนวันเข้ารับการบริการทางการแพทย์
  • ยื่นแบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)
  • พร้อมหลักฐานสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ (กรณีส่งเอกสาร หากติดต่อด้วยตนเองที่สาขาให้นำเอกสารตัวจริงไปแสดงด้วย) ใบรับรองแพทย์ กรณีที่เปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและและเลขที่บัญชี โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
  • มี 10 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ผู้ประกันตน ม.40

  • ได้รับเงินทดแทนตามทางเลือก ดังนี้
  1. เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท กรณีที่รับการรักษาประเภทผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1และ2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)
  2. เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1และ2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)
  3. เงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี กรณีไม่ได้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือไม่ได้กักตัว มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อสำนักงาน (เฉพาะทางเลือกที่ 1 และ 2 เท่านั้น ทางเลือกที่ 3 ไม่คุ้มครอง)
  • จะได้รับสิทธิ์เมื่อนำส่งเงินสมทบครบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายใน 4 เดือนย้อนหลัง มีการส่งเงินสมทบรวมกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนที่จะประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
  • ยื่นแบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/ม40)
  • พร้อมหลักฐานสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ (กรณีส่งเอกสาร หากติดต่อด้วยตนเองที่สาขาให้นำเอกสารตัวจริงไปแสดงด้วย) ใบรับรองแพทย์หรือสำเนาเวชระเบียน (ต้องให้เจ้าหน้าที่เวชระเบียนเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมประทับตราสถานพยาบาล) กรณีที่เปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและและเลขที่บัญชี โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
  • มี 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ข้อมูลจาก Facebook : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน