มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “2012” เรื่องราวที่เกี่ยวกับวันสิ้นโลก อันเป็นเทรนด์ยุคหนึ่งของฮอลลีวูด ก่อนจะมาฮิตแนวซอมบี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีฉากหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นฉากที่ลามะรูปหนึ่ง (พระในทิเบต จะเรียกว่า ลามะ) สอนลูกศิษย์ด้วยการเทชาลงในถ้วยจนล้นแก้ว เนื่องมาจากลูกศิษย์กำลังสับสนในความคิดของตนเองและตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะทำอย่างไรดี
ลามะรูปดังกล่าว เปรียบการเทชาจนล้นแก้วว่าเปรียบเสมือน “ความคิดเห็นและการคาดเดา” ที่อยู่เต็มหัวของลูกศิษย์หนุ่ม ก่อนจะสรุปสั้น ๆ ว่า “หากในหัวยังเต็มไปด้วยเรื่องดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะพบแสงสว่างแห่งปัญญา สิ่งแรกที่ควรทำคือจงทำให้ถ้วยนั้นว่างเปล่า”
เป็นคำสอนที่น่าสนใจนะคะ เพราะเอาเข้าจริงทุกวันนี้ ผู้คนเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อในทุกเแพลตฟอร์ม เรียกว่าเต็มจนล้นทุกวัน และในเนื้อหาที่เสพนั้นไม่ได้มีแต่เพียงเนื้อหาของข่าว หากยังเต็มไปด้วยความคิดเห็นและการคาดเดา จากคนที่เราเรียกกันว่า “ชาวเน็ต” จนทำให้เกิดโลกคู่ขนาน เป็นโลกที่ทุกคนปล่อยความรู้สึกแรง ๆ ออกมาจากใจโดยคิดว่าไม่มีใครรู้จักตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา
แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นและเชื่อว่าหลายคนคงรู้อยู่แล้ว คือระบบของแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียที่คอยติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของคุณบนแพลตฟอร์ม จากนั้นเจ้า AI จะคอยจำว่าคุณชอบดูเนื้อหาเรื่องอะไรเป็นพิเศษ มีพฤติกรรมเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาไหนบ้าง หรือมีเพื่อนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันอยู่หรือไม่ หรือมีกลุ่มความคิดแบบไหนที่แนะนำให้คุณเข้าไปร่วมกลุ่ม
ซึ่งวิธีวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวของแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้ผู้ใช้งานได้เห็นแต่สิ่งที่อยากจะเห็น ได้ฟังได้ดูแต่สิ่งที่คุณชอบฟังชอบดู ทำให้หน้าไทม์ไลน์ในทุกแพลตฟอร์มจะมีการแนะนำเรื่องราวเฉพาะที่ AI จับได้ว่าคุณชอบเรื่องสไตล์นี้ และแน่นอนว่าหน้าฟีดหรือไทม์ไลน์ของคุณก็จะมีเฉพาะเรื่องราวที่คุณสนใจเท่านั้น
ซึ่งนั่นเท่ากับว่าคุณกำลังตกอยู่ในห้องของเสียงสะท้อนของตนเอง อันจะทำให้คุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณคิดหรือทำนั้นถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูลที่ได้รับ หรือความคิดเห็นที่อยู่บนหน้าฟีดเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
ที่เขียนถึงเรื่องนี้ในวันนี้ เพราะรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้เห็นการสร้างปีศาจตัวใหม่ให้เกิดขึ้นเกือบทุกวันบนทุกแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียด้วยตัวเลขของผู้ติดตาม จนทำให้คนธรรมดาหนึ่งคนที่มีวิจารณญาณเฉพาะตัว มีทัศนคติแบบที่เราไม่คุ้นชิน กลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์หรือที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย”
และกลายเป็นว่าผู้มีอิทธิพลทางความคิดเหล่านี้ติดกับดักความคิดตนเอง คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำคือถูกทุกอย่าง ทั้งที่คนภายนอกที่ไม่ได้ติดตามมองแล้วว่ามันเป็นตรรกะวิบัติ แต่เหล่าผู้มีอิทธิพลทางความคิดหลายคนที่ติดอยู่ในวังวนของผู้ติดตามที่เปรียบเสมือน “ลูกคู่” เมื่อใดที่เกิดดราม่า ขึ้นมาผู้ติดตามทั้งหลายก็พร้อมจะปกป้อง
ผู้ติดตามเหล่านี้ไม่เพียงปกป้องผู้นำทางความคิดของตนเอง หากแต่ยังเป็นการปกป้องตนเองด้วยว่าไม่ได้หลงเชื่อคนผิด และด้วยวังวนแบบนี้ เหล่าผู้นำทางความคิดในโซเชียลมีเดียจึงได้สร้างให้เกิดลัทธิความเชื่อรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาอันเป็นความเชื่อที่ทำให้สังคมปั่นป่วนไม่น้อยในเวลานี้
เอาเข้าจริงการเสพข้อมูลในปัจจุบันนั้นเราไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลจนล้นแก้วเหมือนดังที่ลามะในภาพยนตร์ท่านได้เปรียบเปรยเอาไว้ เพราะข้อมูลในปัจจุบันแม้จะมีอยู่อย่างมากมาย แต่ถ้าคัดกรองกันจริง ๆ แล้วเป็นข้อมูลที่เป็น Fact จริง ๆ เพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์นั้น กลายเป็นความคิดเห็นและการคาดเดา
ดังนั้น เสพสื่อกันเพียงพอดี วางตัวเสมือนผู้สังเกตการณ์ คัดกรองแต่ความจริงแบบ 5W1H (Who What When Where Why How) เมื่อรับรู้แล้วก็เอาแต่ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อตนเองไว้ใช้ ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ปล่อยผ่านไป เพื่อที่คุณจะได้มีพื้นที่สำหรับเก็บความรู้ที่มีประโยชน์ต่อปัญญาและชีวิตในครั้งต่อไป
โลกทุกวันนี้อยู่ยากมากขึ้นเพราะผู้คนมีเครื่องมือในการปล่อยสันดานดิบออกมาได้ง่ายเกินไป ดังนั้น ท่องเอาไว้ค่ะ “แสดงความคิดเห็นให้น้อยลง และใช้วิจารณญาณกันให้มากขึ้น”
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ