สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังยืนล้างจานที่บ้าน เสียงจากโทรทัศน์ที่เปิดอยู่กำลังเข้าสู่รายการเล่าข่าว เป็นการปล่อยเสียงของนายตำรวจระดับสูงท่านหนึ่งที่ได้รับโทรศัพท์จากหญิงสาวที่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไป พร้อมกับบทสนทนาที่ต้องเรียกว่าเป็นการต่อปากต่อคำ ที่ชวนให้สงสัยว่าหญิงสาวคนดังกล่าวทำไมถึงกล้าใช้คำพูดกับคนที่เธอไม่เคยรู้จักได้ขนาดนั้น
นายตำรวจที่ถูกคุกคามท่านนั้นได้โพสต์คลิปเสียงและส่งให้กับสื่อเพื่อร้องขอความเป็นธรรม เพราะกลายเป็นว่าการทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายนั้นกำลังถูกบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่แสดงตัวตนแสดงพฤติกรรมและวาจาในลักษณะคุมคาม
กรณีนี้ถ้าตัดเอาความรู้สึก “สะใจ” (ที่คนหลายคนในสังคมยุคนี้เสพติด) สิ่งที่นายตำรวจท่านดังกล่าวต้องเจอนั้นเป็นเรื่องน่าเห็นใจมากค่ะ เพราะยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความถูกหรือผิดที่ต้องพิสูจน์ หากแต่ผลของการตรวจสอบนั้นยังต้องถูกใจและตรงความกระแสที่คนส่วนมากอยากให้เป็นอีกด้วย ส่วนหนึ่งเพราะเราอยู่ในยุคที่ทฤษฎีสมคบคิดกำลังเบ่งบาน
คำว่า “ทฤษฎีสมคบคิด” หรือ Conspiracy Theory นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่สร้างความเชื่อโดยการ สร้างทฤษฎีจากสิ่งที่ตนเองเชื่อ เอาสิ่งที่ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องรอบตัวมาตั้งสมมติฐาน พร้อมกับคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้น โดยที่ไม่มีการพิสูจน์ หากมีแต่ความเชื่อว่าทฤษฎีของพวกเขานั้นถูกต้อง
ในยุคก่อน “ทฤษฎีสมคบคิด” อาจอยู่แค่ในกลุ่มที่มีความเชื่อร่วมกัน แต่ในปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดีย การเผยแพร่ความเชื่อหรือข้อมูลในรูปแบบ “ทฤษฎีสมคบคิด” กลายเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนเชื่อเป็นตุเป็นตะ จนกระทั่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อความจริงที่มีการพิสูจน์แล้ว และความเข้าใจดังกล่าวได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด ดังเช่น นายตำรวจท่านดังกล่าวก็ต้องเจอ
วิธีการทำให้ผู้คนอินจนเชื่อว่าข้อมูลปลอมกลายเป็นข้อมูลจริงในยุคโซเชียลมีเดียนั้นไม่ยากเลย ความชาญฉลาดของอัลกอริธึมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่จับพฤติกรรมของผู้คนว่าชื่นชอบเรื่องแบบไหน มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นเจ้าอัลกอริธึม จะจัดการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้ใช้งานได้เสพ ยิ่งเสพเข้าไปมาก ๆ ก็เหมือนอยู่ในห้องเสียงสะท้อนของตนเอง และคิดว่าคนรอบข้างก็คิดเห็นแบบเดียวกัน
จากจุดเริ่มต้นของข้อมูลที่เกิดขึ้นจากทฤษฎีสมคบคิด เป็นข้อมูลแบบจับแพะชนแกะ แต่ความถี่ของการเสพ ความพยายามทำให้คล้อยตามด้วยภาพและเสียง (อันหาที่มาที่ไปไม่ได้) สุดท้ายผู้คนก็อินไปกับข้อมูลและเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
ทั้งนี้ทฤษฎีสมคบคิดนั้นจะเผยแพร่ได้ดี หรือมีอิทธิทางความคิดสำหรับคนที่รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีพลังอำนาจใด ๆ ในสังคม หรือเป็นกลุ่มที่พร้อมจะถูกหลอกให้คล้อยตาม (กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน) ทั้งสองกลุ่มนี้พร้อมจะรับชุดข้อมูลที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีสมคบคิดจะเชื่ออย่างสนิทใจ
ประกอบกับยุคสมัยนี้โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่คนในปัจจุบันขาดไม่ได้ การเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด จึงเป็นไปได้ง่าย และนำไปสู่การทำความเข้าใจต่อความจริงที่เกิดขึ้น และแม้จะมีการพิสูจน์ความจริงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน คนเหล่านี้ก็จะยังไม่เชื่ออยู่ดี หากแต่เชื่อมั่นว่ามีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง หรือ นำเสนอความจริงในแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น
วิธีการหักล้างทฤษฎีสมคบคิด เพื่อให้เจอความจริง ที่เป็นความจริงจากหลักฐานนั้นมีด้วยกันสี่วิธีค่ะ 1. โต้เถียงต่อทฤษฎีสมคบคิดโดยนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง 2. ใช้เหตุและผลในการยืนยันข้อมูล 3. หาข่าวจากแหล่งข่าวที่แท้จริง 4. ส่งข้อความที่คุณสงสัยให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ ซึ่งทั้งสี่วิธีนี้เรียกว่าเป็นวิธีการพื้นฐานสำหรับการต่อสู้กับข่าวลวง ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจากทฤษฎีสมคบคิด
แต่เหนือกว่าสี่วิธีนี้ คือการทำให้ประชาชนรู้ว่าตนเองมีอำนาจหรือมีสิทธิ์โดยชอบธรรมตามกฎหมายและ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วคือการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักในสังคมปัจจุบัน อาจต้องใช้เวลาอีกยาวนาน แต่ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตำรวจท่านดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ข่าวสารที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด หรือทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมต่อไป ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้กันหรือไม่เท่านั้นเอง
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ