เรื่องราวจากปากที่ 1 “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6”

ถ้า “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ได้ทำให้คุณผู้อ่านได้เห็นสถานการณ์ผ่านมุมมองของฝ่ายเจ้านายในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ชัดเจนขึ้น “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6” (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6) บทนิพนธ์ที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้โดยชี้แจงไว้ในต้นเรื่องว่า

“มีหนังสือหลายเล่มที่ผู้เขียนกล่าวถึงราชวงศ์จักรีเท่าที่เขาจะรู้ได้ ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าได้อ่านแล้วโดยมาก และยังไม่พบเรื่องใดที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักพระราชวงศ์นี้โดยถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงอยากจะเขียนไว้บ้าง เท่าที่ได้เล่าเรียนมาทั้งจากหนังสือเก่า ๆ และจากเสด็จป้า เสด็จอา คุณย่า และเสด็จพ่อ พระราชวงศ์นี้ไม่เคยขาดการติดต่อกัน…”

ซึ่งคำชึ้แจงที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงปรารภไว้ในข้างต้นนั้น ทำให้พระนิพนธ์ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” นั้นมีเรื่องราวที่จะทำให้คุณผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวของราชวงศ์จักรีใน รัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ก่อนหน้านี้มีเรื่องซุบซิบในแนวทางที่เข้าใจผิดไปจากความจริงอยู่มาก และหนังสือเล่มนี้น่าจะไขความกระจ่างได้ดี เพราะองค์ผู้ทรงนิพนธ์นั้นอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด

ดังเช่นเรื่องพระมเหษี (สะกดตามพระนิพนธ์) ของรัชกาลที่ 6 ที่มีเรื่องให้ซุบซิบกันมาตลอด ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ได้ทรงนิพนธ์เอาไว้ว่า ”ด้วยมนุษย์สนุกในการพูดเรื่อง Sex Affair เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบางกอกด้วยแล้ว เกือบไม่พูดเรื่องอื่นกันเลยทีเดียว มีคนพูดว่าทรงมีพระชายาไม่ได้ อนิจจา คนที่มีอำนาจบังคับตัวเองได้เป็นพิเศษแทนที่จะได้รับการชมเชยหรือบูชา กลับถูกหาว่าเป็นผู้ไม่ปรกติ”

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ใช่บันทึกทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่เมืองไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ แต่พระนิพนธ์จากหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย นั้นก็เรียกได้ว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวจาก “ปากที่ 1” หรือเรื่องราวที่มาจากผู้เป็นต้นเรื่องทั้งนั้น ซึ่งจะทำให้คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้เข้าใจสถานการณ์ในเวลานั้น และพิจารณาด้วยตัวเองได้ว่า เรื่องเล่าใดเป็นเรื่องที่เกินความจริง หรือถูกแต่งแต้มเสียจนไม่เหลือเค้าโครงของเรื่องจริง

ในยุคที่คนทั่วไปใช้คำว่า “เขาบอกว่า” หรือ “เขาเล่าว่า” มากล่าวอ้างถึงเรื่องราวในทางประวัติศาสตร์นั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ ผู้เสพควรหาความจริง ด้วยการอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนที่มีการค้นคว้าและมีประสบการณ์จริง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เรื่องที่คุณคิดว่าเป็นความจริง อาจเป็นเพียงเรื่องที่บางคนแต่งแต้มเติมสี เพื่อให้เกิดอรรถรสในการเล่าแต่ความจริงในเรื่องดังกล่าวไม่เจอเลย