ความเป็นไปของเศรษฐกิจในระดับใหญ่นั้น ไม่ใช่แค่ข่าวที่นั่งอ่านผ่าน ๆ ไปและคิดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเรา หากแต่เศรษฐกิจในภาพใหญ่ ทั้งนโยบายจากภาครัฐหรือนโยบายทางการเงิน การค้าของต่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อกระเป๋าเงินของพวกเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ยิ่งในยุคที่เกิดสงครามโรคเช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ ก็ย่อมส่งผลมาถึงมูลค่าเงินที่อยู่ในมือเราท่านทั้งนั้น
ความหวังของเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นคืนได้หลังมีวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพออกมาใช้ในการรักษาโรค หากแต่ในความเป็นจริงการฟื้นตัวได้หรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัคซีนเพียงอย่างเดียว นโยบายจากภาครัฐที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ การจัดการกับหนี้สินครัวเรือน รวมไปถึงความสามารถของคนทำงานในการปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่หลังโควิด-19 ผ่านพ้น
ทั้งหมดจะกลายเป็นภาพรวมที่คาดการณ์ หรือฉากทัศน์ของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2565 คุณคิดว่าคุณพร้อมจะเจอกับฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจแบบนี้แล้วหรือยัง
ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการยังคงได้รับผลกระทบหนัก
การระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบอย่างหนัก และทำให้ ผลผลิตมวลรวมของประเทศไทย (GDP) นั้นลดลงถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ซึ่งนับว่าหนักสุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นรายได้หลักของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกมาก
เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการไม่สามารถขับเคลื่อนได้ นั่นหมายถึงจำนวนคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันแรงงานที่ไร้ฝีมือ หรือมีทักษะในการทำงานค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้แล้วเด็ก และผู้หญิงที่อยู่ในวัยแรงงานจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกคัดออกจากสายงานการผลิต
จากภาพรวมจะทำให้เห็นว่าเหตุการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาลงแรงงานที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องสู้อย่างหนัก ขณะเดียวกันแรงงานไร้ฝีมือหรือลูกจ้างรายวันรวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ต่างต้องรู้จักปรับตัวและพัฒนาฝีมือตนเอง เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพราะถึงแม้ธุรกิจขนาดใหญ่ในธุรกิจโรงแรมและบริการจะปิดตัวเองไป แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่ยังพอประคองตนเองได้ด้วยลูกค้าประจำ จะสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานที่มีฝีมือ
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์
ช่วงกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมาศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb คาดการณ์ว่าหนี้สินครัวเรือนไทยจะสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ และเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก ทั้งนี้ ปริมาณหนี้ครัวเรือนที่ไทยที่เติบโตเร็วขึ้นในช่วงวิกฤตเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1.ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง 2.รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว
จากปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ถึงแม้จะเป็นปัญหาระดับครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กล่าวคือ หากครัวเรือนสะสมหนี้เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สูงแล้ว ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนก็จะลดลง ส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพต่ำลง เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผลที่ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว
แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนให้ตรงจุดนั้น ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหา และมีความเปราะบางต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น กลุ่มครัวเรือนยากจน เกษตรกร เป็นต้น เพราะหนี้สินส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อที่อยู่อาศัยและใช้จ่ายในครัวเรือน
ความกังวลใจของผู้คนกับสภาพเศรษฐกิจและการฟื้นตัวแบบตัว K
ความกังวลใจของคนส่วนใหญ่หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 จะออกมาในรูปการใช้เงินที่ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยเท่าเดิม เพราะเข็ดขยาดกับการระบาดของไวรัส และกังวลใจถึงสภาพเศรษฐกิจ ที่ยังไม่มีสัญญานในทางที่ดี เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลเองก็ไม่สามารถทำให้เชื่อถือได้
ขณะเดียวกันนโยบายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หากนโยบายส่วนใหญ่เอื้อให้ธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า ขณะที่ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแม้ได้รับความช่วยเหลือก็เหมือนไม่ได้ช่วยเหลือ แม้ว่าจะมีการปล่อยเงินกู้ออกมา แต่ข้อจำกัดหรือข้อกำหนดของสถาบันการเงิน ก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ
ธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มข้นถึง 1.5 ล้านคน ขณะเดียวกันยังมีการวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบตัว K คือการฟื้นตัวที่ ธุรกิจด้านหนึ่งจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ธุรกิจอีกประเภทจะต้องใช้เวลาในการกลับมาฟื้นตัว อธิบายให้ชัดเจนจะเห็นว่าธุรกิจส่งออก หรือธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีจะสามารถเติบโตได้เร็ว ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก ซึ่งจะสร้างความเลื่อมล้ำของเศรษฐกิจและผู้คนที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก
อัตราการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น และแรงงานที่ไม่ปรับตัวจะหางานทำได้ยากขึ้น
ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการว่างงานในประเทศก็มีตัวเลขที่น่ากังวลอยู่แล้ว เนื่องจากจำนวนแรงงานที่จบใหม่ มีความสามารถไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่หลายธุรกิจถูก Disrupt และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะที่ภาคการศึกษาไทยยังคงเป็นรูปแบบการศึกษาแบบเก่า หากบัณฑิต หรือนักศึกษาที่จบมาไม่สามารถปรับทักษะเพื่อให้เข้ากับอาชีพยุคใหม่ได้โอกาสที่จะไม่ได้งานทำก็มีสูง
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ของแรงงานจบใหม่ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หลายรายต้องล้มหายไป หรือบางแห่งปรับขนาดให้เล็กลงมีความกระชับในการทำงานมากขึ้น พนักงานหนึ่งคนต้องมีความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ ก็มีการปรับขนาดองค์กรเช่นกัน ดังนั้นการเลือกแรงงานที่จบใหม่จึงลดลง ขณะที่คนที่มีประสบการณ์การทำงานแต่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปได้ หรือไม่มีทักษะของโลกยุคดิจิทัล โอกาสที่จะได้ย้ายงาน หรือหางานใหม่ก็จะลำบาก
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แย่ลงไปกว่านี้ คือการเข้ามาดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมไปถึงธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ออกนโยบายมาแล้วไม่ได้ดูถึงความเหมาะสมและความเป็นจริง เพราะแรงงานที่จบใหม่ส่วนใหญ่มักจะผ่านการทำงานจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อเก็บประสบการณ์ก่อนจะเติบโตในสายงานของตนเอง แต่ถ้าพวกเขาไม่มีแม้แต่บริษัทที่จะสามารถรองรับได้ โอกาสในการพัฒนาฝีมือก็จะหมดไป
เรียบเรียงข้อมูลจาก IMF News, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ttb