ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ ข่าวที่น่าจะสร้างความอึกทึกครึกโครมให้กับสังคมปากว่าตาขยิบได้มากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นประเด็นของน้องคนหนึ่ง จากแพลตฟอร์ม 18+ ที่ได้รับความนิยมกันอย่างเงียบบ้างไม่เงียบบ้างในเมืองไทย (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อเว็บและนามของน้อง)
ในสังคมที่เต็มไปด้วยความคิดของผู้คนอย่างหลากหลาย เมื่อเรื่องแบบนี้เป็นข่าวขึ้นมาคนย่อมกระหายใคร่รู้เป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าผิดศีลธรรมอันดีของสังคม (สังคมที่เรา ๆ ต่างก็รู้ดีว่ามีคลับลับอีกหลายที่ที่ต้อนรับเฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่ม และเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อสังคมเสียด้วย)
เท่าที่นั่งดูข่าวโทรทัศน์ นั่งอ่านเนื้อหาข่าวจากสื่อออนไลน์ที่เป็นสื่อกระแสหลักทั้งหลาย ดูเหมือนข่าวออกไปในทิศทางเดียวกันว่าแพลตฟอร์มที่มีคลิปประเภทลับเฉพาะสมาชิกนั้น ได้ทำให้เกิดดาราหน้ากล้องซึ่งแสดงภาพที่ขัดต่อกฎหมาย และทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าจะเกิดการเลียนแบบ เพราะตัวเลขรายได้ที่เกิดขึ้นนั้น มันน่าจะเย้ายวนอยู่ไม่น้อย ทางราชการเลยต้องเข้ามาจัดการ
ส่วนจะถึงขั้นปิดกั้นการเข้าถึงหรือไม่นั้นคงต้องคอยติดตามกันไป เพราะเจ้าก่อนหน้านี้ที่ว่าปิดกั้นการเข้าถึง ก็ยังมีเสียงบอกต่อ ๆ กันมาว่า ยังเข้าได้ไม่มีปัญหา
เรื่องนี้ก็คงกับเหมือนอีกหลาย ๆ เคสที่มีลักษณะเดียวกัน พอเงียบ ๆ ไป ทุกอย่างก็กลับสู่สภาพปกติ (ปกติแบบที่เข้าถึง และไปดูกันได้) แต่ที่จั่วหัวเอาไว้ก็อยากจะชวนคุณตำรวจไซเบอร์ ที่ต้องอยู่กับเรื่องแบบนี้ไปอีกยาว ๆ มาดูซีรีส์ญี่ปุ่นที่น่าจะสะท้อนสังคมอีกด้านของสื่อเฉพาะทาง กับนวนิยายของนักเขียนชาวแคนาดา มาร์กาเร็ต แอ็ดวูดส์ ซึ่งเป็นนิยายประเภท ดิสโทเปีย
สำหรับซีรีส์ The Naked Director นั้นเรื่องราวจะเป็นการเปิดเผยวงการภาพยนตร์ และหนังสือเฉพาะทางของญี่ปุ่นอยู่ระหว่างกลางบนเส้นบาง ๆ ระหว่างศีลธรรมอันดีกับอนาจาร (เอาเข้าจริงในสังคมแบบ The Naked Director ไม่มีคำว่า ศีลธรรมอันดีหรอกค่ะ หากแต่แวดวงนี้ก็ได้ช่วยให้คนในสังคมได้มีโอกาสปลดปล่อยบ้าง) ขณะที่การนำเสนอเนื้อเรื่องนั้นเราจะเห็นว่าในการทำภาพยนตร์ หรือหนังสือเฉพาะทางนั้น จะมีวิธีการป้องกันอย่างไร เพื่อให้สามารถเผยแพร่ได้
ขณะที่นวนิยายเชิง ดิสโทเปีย สังคมในจินตนาการที่ผู้คนถูกควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งต่างจาก ยูโทเปีย สังคมในอุดมคติ อันสังคมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยศีลธรรมอันดี (คุณว่ามันมีจริงได้หรือ) นวนิยายที่มีชื่อว่า The Handmaid’s tale เรื่องราวของหญิงรับใช้ที่ต้องทำหน้าที่ “ผลิต” เผ่าพันธุ์มนุษย์โดยไม่ต้องใช้ความรักหรือความรู้สึกทางเพศเข้าไปปะปน หากแต่ฝ่ายชายมีสิทธิ์ที่จะมีความรู้สึกได้ ถ้าเขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถควบคุมสังคมได้
ทั้งซีรีส์ The Naked Director และนวนิยาย The Handmaid’s Tale ของ มาร์กาเร็ต แอ็ตวู้ดส์ นั้นสะท้อนให้เห็นหลายเรื่องในสังคมปัจจุบันกับมุมมองเรื่องเพศและการมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการผลิตสื่อลักษณะเฉพาะ
ในซีรีส์ The Naked Director นั้น ได้แสดงให้เห็นว่า สื่อเฉพาะทางที่ต้องควบคุมให้อยู่ในเรท 18+ นั้นช่วยคนบางกลุ่มได้จริงในการปลดปล่อยความต้องการ แต่มันจะกลายเป็นเรื่องไม่ดีไปในทันที หากผลิตออกมานลักษณะอนาจาร ทั้งอายุของนักแสดง ใช้วิธีการบังคับให้แสดง หรือแม้แต่ให้เห็นอวัยวะในที่สงวน
ขณะที่นิยาย The Handmaid’s Tale นั้นชัดเจนในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดโดยที่ต้องแลกกับการกดขี่ทางเพศ ที่ผู้หญิงอยู่ภายใต้อาณัติและการควบคุมของกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่กำหนดกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อความต้องการของตนเอง
ซีรีส์นั้นมีให้ติดตามชมกันใน Netflix ขณะที่นิยายได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมานานแล้ว และสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือ หรือซื้อในร้านหนังสือออนไลน์ก็ได้ ที่อยากให้คุณ ๆ โดยเฉพาะท่านที่ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ดูกัน จะได้เห็นมุมมองอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคำว่าลามกอนาจาร ที่ท่องติดอยู่ในหัว เพราะโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น บางเรื่องคนที่โตมากับโลกอะนาล็อก อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด
เพราะยิ่งปิดแค่ไหน คนก็ยิ่งอยากรู้นะคะ แต่ถ้าทำให้มันอยู่ในความพอดี ความอยากรู้ หรือการใช้วิจารณญาณ ของคนก็จะมีมากขึ้นเหมือนที่เขาว่า “When there is nothing left to hide, there is nothing left to seek. (เมื่อไม่มีอะไรที่ต้องปิดบัง ก็ไม่มีความน่าสนใจที่จะค้นหาอีกต่อไป)” ฝากไว้ค่ะ “ท่านผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์”
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ