เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 9 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ได้แถลงความชัดเจนของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับประชาชน อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นที่ฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม คือประเด็นที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศงดรับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ก็ทยอยแสดงความจำนงไม่รับเงินเดือน 3 เดือนเช่นกัน
จากข่าวของสำนักข่าวต่าง ๆ ได้คำนวณเงินเดือน 3 เดือนที่นายกรัฐมนตรีประกาศไม่ขอรับนั้นอยู่ที่ 376,770 บาท หากคิดเป็นจำนวนเงินต่อเดือน จะอยู่ที่เดือนละ 125,590 บาท นั่นอาจทำให้หลายคนอาจนึกสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว เงินเดือนของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีคนอื่น ๆ นั้นมีตัวเลขอยู่ที่เท่าไร ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขสุทธิหรือไม่ นอกจากนี้ตามตำแหน่งของข้าราชการประจำตำแหน่ง ยังมีสิทธิพิเศษใด ๆ อีกบ้าง
Tonkit360 จึงได้รวบรวมข้อมูลเงินเดือนของคณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา (ส.ว. และ ส.ส.) ว่าอยู่ที่เดือนละเท่าไร และได้รับสิทธิพิเศษอะไรอีกบ้าง
เงินเดือนของคณะรัฐมนตรี
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภา เรื่อง สิทธิประโยชน์ของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556 ได้แจ้งบัญชีอัตราตำแหน่ง เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการการเมืองไว้ ดังนี้
- นายกรัฐมนตรี อัตราเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมทั้งสิ้น 125,590 บาทต่อเดือน
- รองนายกรัฐมนตรี อัตราเงินเดือน 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวม 119,920 บาทต่อเดือน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 115,740 บาทต่อเดือน
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เงินเดือน 72,060 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท รวม 113,560 บาทต่อเดือน
- เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 63,200 บาท เงินประจำตำแหน่ง 18,500 บาท รวม 81,700 บาทต่อเดือน
- รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เงินเดือน 56,120 บาท เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท รวม 70,620 บาทต่อเดือน
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เงินเดือน 57,660 บาท เงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท รวม 72,660 บาทต่อเดือน
- ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 57,250 บาทต่อเดือน
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 57,250 บาทต่อเดือน
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 44,310 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท รวม 49,210 บาทต่อเดือน
เงินเดือนของสมาชิกรัฐสภา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน
- รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500บาท รวม 115,740 บาทต่อเดือน
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาทต่อเดือน
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาทต่อเดือน
หมายเหตุ ส.ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ส.ส. อีก
สมาชิกวุฒิสภา
- ประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท รวม 119,920 บาทต่อเดือน
- รองประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาทต่อเดือน
- สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาทต่อเดือน
สิทธิพิเศษอื่น ๆ
นอกจากเงินเดือนแล้ว คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภายังได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมอีก อาทิ สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทาง สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล รวมถึงเบี้ยประชุม ตามข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภา เรื่อง สิทธิประโยชน์ของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556 มีรายละเอียดดังนี้
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สำหรับการเบิกค่าเดินทางของ ส.ส. สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี
การเดินทางมาประชุมรัฐสภา
สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภา จะได้รับค่าพาหนะในการเดินทางจากจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่มายังจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภา เฉพาะการเดินทางครั้งแรกเพื่อมาเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภาได้รับค่าพาหนะในการเดินทางจากจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภากลับไปยังจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่ โดยให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ มาใช้บังคับแก่ค่าพาหนะในการเดินทางนี้ โดยอนุโลม และให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง
การเดินทางไปราชการต่างประเทศ
ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเดินทางไปราชการที่ต่างประเทศชั่วคราว สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสืออนุมัติจากประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราาฎรเท่านั้น ตามกฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี เบิกได้ตามที่จ่ายตามจริง
- รองประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี เบิกได้ตามที่จ่ายตามจริง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง เบิกได้ทั้งการเดินทางเป็นหมู่คณะหรือเดินทางคนเดียว ภายใต้เงื่อนไข คือ
- กรณีเดินทางไม่เกิน 15 วัน สามารถเบิกได้ไม่เกิน 67,000 บาท
- กรณีเดินทางเกิน 15 วัน สามารถเบิกได้ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินสวัสดิการรักษาพยาบาล
ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งได้แก่
- เงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการตรวจสุขภาพประจำปี
- การรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน
- การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งตามจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกินอัตราที่กำหนด
เบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ
เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ให้กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการรัฐสภา และกรรมาธิการร่วมกันของสภาทั้งสอง ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 1,500 บาท กรรมาธิการดังกล่าวให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวในวันหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่กรรมาธิการนั้นมีการประชุมในคณะกรรมาธิการคณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกิน 2 ครั้ง
เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการ ให้อนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมาธิการรัฐสภาและอนุกรรมาธิการร่วมกันของสภาทั้งสอง ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 800 บาท อนุกรรมาธิการดังกล่าวให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวในวันหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่อนุกรรมาธิการนั้นมีการประชุมในคณะอนุกรรมาธิการคณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกิน 2 ครั้ง
กองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา
รัฐสภาได้ออกระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2543 เพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปอย่างมีระบบและครอบคลุมถึงสมาชิกรัฐสภาทุกคน โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนเรียกว่า “กองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านการรักษาพยาบาล
ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เจ็บป่วย และเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินทดแทนจากบริษัทประกัน และไม่มีสิทธิเบิกสวัสดิการ บำเหน็จหรือบำนาญอื่นใด จะมีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนได้ไม่เกินรายละ 20,000 บาท ต่อปี (ไม่รวมถึงค่าตรวจสุขภาพประจำปี) โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานกองทุน พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล
- ด้านการศึกษาของบุตร
- ด้านการสงเคราะห์ครอบครัว กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม
ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลซึ่งเป็นผู้จัดการงานศพเป็นผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์โดยยื่น
คำขอต่อสำนักงานกองทุน เมื่อได้รับคำขอรับเงินสงเคราะห์แล้ว ให้สำนักงานกองทุนจ่ายเงินสงเคราะห์แก่บุคคลผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์โดยเร็ว รายละ 60,000 บาท และในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้สำนักงานกองทุนจ่ายเงินให้โดยเร็วแล้วเสนอคณะกรรมการเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ การขอรับเงินดังกล่าวให้กระทำ ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม
- ด้านอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการอนุมัติ
ในส่วนของเงินของกองทุนประกอบด้วย
- เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค
- เงินที่ได้รับจากการหักเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภา รายละ 500 บาทต่อเดือน
- เงินดอกผลของกองทุน
- เงินรายรับอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1-4
ข้อมูลจาก สิทธิประโยชน์ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556, iTax