อย่างที่ทราบกันดีว่าพิษจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยมานานกว่า 1 ปีแล้ว เห็นได้จากภาพข่าวที่นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศ ปรากฏการณ์ที่พบคือ จากสถานที่ที่เคยคราคร่ำไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติกลายสภาพเป็นเมืองร้าง ผู้ประกอบการหลายรายบ่นกันระงมว่าบางวันไม่สามารถขายของได้แม้แต่บาทเดียว หลายคนตกงาน หลายกิจการปิดดำเนินการถาวร ซึ่งทุกครั้งที่สถานการณ์ทำท่าว่าจะดีขึ้น ก็มีการระบาดระลอกใหม่มารั้งจนชะงักทุกครั้งไป เป็นภาพสะท้อนว่าการท่องเที่ยวไทยเสียหายรุนแรงที่สุดกว่าครั้งใด ๆ ที่ผ่านมา
ภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเดินเข้าประเทศ 39,916,251 คน ขณะที่ปี 2563 ที่ผ่านมาเหลือเพียง 6,702,396 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งติดลบไปกว่าร้อยละ 83 และตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2564 ถึงเดือนมีนาคม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยก็หายไปถึงร้อยละ 99.70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่วนรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 สูงถึง 1,911,807.95 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2563 เหลือเพียง 332,013.03 ล้านบาทเท่านั้น!
ทำให้เรามองว่า “วัคซีน” คือความหวังที่จะกู้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นฟูกลับมา จึงเป็นที่มาของโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อทดลองรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว ให้สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ เพื่อช่วยดึงการท่องเที่ยวไทยให้ขึ้นมาจากเหว นำร่องด้วยโมเดลเปิดเมือง Phuket Sandbox (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์)
โมเดลเปิดเมือง Phuket Sandbox เป็นนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทย (บินตรงภูเก็ต) โดยไม่ต้องกักตัว ระหว่างนี้จะเที่ยวที่ไหนก็ได้ แต่ต้องอยู่เฉพาะในภูเก็ตเท่านั้นเป็นเวลา 14 วัน หลังจากนั้นถึงจะเดินทางข้ามจังหวัดได้ ส่วนพนักงานให้บริการก็ต้องฉีดวีคซีนแล้วร้อยละ 70
โดยภูเก็ตจะนำร่องมาตรฐาน SHA Plus+ หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration Plus (ซึ่งต่อยอดมาจาก SHA) เพื่อใช้กับโครงการ Phuket Sandbox นี้ และจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
เงื่อนไขการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยในโมเดล Phuket Sandbox
1. เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด ซึ่งจะต้องมีระยะเวลาการฉีดมาแล้วมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี โดยเป็นผู้เดินทางมาจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
2. เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาได้ แต่เด็กที่อายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อ เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต
3. มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนที่ฉีดจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียบร้อยแล้ว
4. จะต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน
5. จะต้องเข้าพักในโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ เป็นเวลา 14 คืน (ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนได้ผ่าน www.ภูเก็ตต้องชนะ.com) โดยหลังจากที่ครบตามระยะเวลา 14 คืนแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้
6. จะต้องรายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 3 ครั้ง ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข
7. สามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน D-M-H-T-T-A
- Distancing (อยู่ห่างไว้)
- Mask wearing (สวมใส่มาส์ก)
- Hand washing (หมั่นล้างมือ)
- Testing (ตรวจโรคให้ไว)
- Thai Chana (ใช้ไทยชนะและหมอชนะ)
หากโมเดล Phuket Sandbox สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี จะพิจารณาขยายพื้นที่ไปอีก 5 เมืองท่องเที่ยวหลัก คือ กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่ ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ นอกเหนือจากการลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 7 วัน (สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว) และ 10 วัน (สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฉีดวัคซีน) ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกาที่ยังต้องกักตัว 14 วันเช่นเดิม ส่วนกรุงเทพฯ ชะอำ หัวหิน และบุรีรัมย์ ก็เสนอเสนอหลักการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วแล้วเช่นกัน โดยจะพิจารณาตามสถานการณ์เป็นระยะ
นี่จึงเป็นความท้าทาย ว่าโมเดลนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยจะตื่นจากฝันร้ายได้หรือไม่ คือสิ่งที่หลายคนคาดหวังจาก “Phuket Sandbox”
ข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา