หลายคนเข้าใจผิด คิดว่า การยื่นภาษี=การเสียภาษี ทั้งที่ความจริงแล้ว การยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนต่างหาก ดังนั้น อาจต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการที่คุณต้องยื่นภาษี ไม่ได้แปลว่าคุณต้องเสียภาษี
แต่ที่คุณ “ต้องยื่น” แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น “หน้าที่” ของผู้ที่อาจต้องเสียภาษีทุกคน ดังนั้น ทุกคนที่มีรายได้จึงต้องยื่นภาษี แม้ว่ารายได้ของคุณจะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม
ทำไมต้องยื่นภาษี
ถ้าหากคุณเป็นบุคคลผู้มีรายได้ (หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ มีงานทำ) คุณต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อแสดงรายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี ซึ่งโดยปกติแล้ว การยื่นภาษีจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของทุกปี แต่สำหรับปีภาษี 2563 เป็นช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กรมสรรพากรขยายเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แบบภ.ง.ด.90 และภ.ง.ด.91) ออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เฉพาะแบบที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต (ปกติต้องยื่นภายใน 31 มีนาคม 2564)
ส่วนการเสียภาษีนั้น จะเป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนดว่าต้องจ่ายเท่านั้น โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คุณจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อคุณมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท/ปี เท่านั้น
ดังนั้น หากคุณคำนวณหาเงินได้สุทธิแล้ว พบว่าเงินได้สุทธิของคุณไม่เกิน 150,000 บาท/ปี แปลว่า คุณมีหน้าที่ยื่นภาษีเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่เสียภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้าคำนวณเงินได้สุทธิแล้วพบว่า คุณมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท/ปี คุณมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
การคำนวณเงินได้สุทธิ
ใช้สูตรที่ง่ายที่สุด คือ เงินได้-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน=เงินได้สุทธิ
โดย ค่าใช้จ่ายในที่นี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่เป็นต้นทุนสำหรับการทำงาน ทุกอาชีพที่สร้างรายได้ จะมีค่าใช้จ่ายในการสร้างรายได้เสมอ
- ค่าใช้จ่าย คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่คุณได้รับ เช่น เงินได้จากค่าเช่า เงินได้จากเงินเดือน เงินได้จากค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ ซึ่งไม่เหมือนกับ ค่าลดหย่อน
- ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฏหมายมอบให้โดยขึ้นอยู่กับสถานภาพและภาระของผู้เสียภาษีแต่ละคน เช่น มีภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
มีงานทำ มีรายได้ แต่ไม่ยื่นภาษีได้หรือไม่
“ไม่ได้” เพราะถ้าคุณเป็นผู้ที่มีงานทำ และมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดว่า “ต้องยื่น” คุณก็ต้องยื่นเมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าคุณอาจมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม
***มีเพียงกรณีเดียวที่คุณมีรายได้ แต่ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ คุณเป็นผู้มีรายได้ต่ำ คือ มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาท/เดือน หรือมีรายได้รวมทั้งปีภาษีไม่เกิน 120,000 บาท
เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารายได้ของคุณจะเป็นรายได้ประเภทที่ต้องเสียภาษี หรือรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (มีรายได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี) คุณก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี ยกเว้นกรณีรายได้ต่ำไม่ถึง 10,000 บาท/เดือน หรือไม่ถึง 120,000 บาท/ปี เพียงกรณีเดียว
หากคุณไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเป็นการทำผิดกฎหมายและมีโทษ
- ถ้ารายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ยื่นภาษี หากพบ จะมีโทษปรับ 2,000 บาท (จ่ายจริง 200 บาท)
- ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ แต่ไม่ยื่นภาษี หากพบ จะมีโทษปรับ 2,000 บาท (จ่ายจริง 200 บาทเช่นกัน) บวกกับดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์/เดือน หรือ 18 เปอร์เซ็นต์/ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่หมดเขตยื่นภาษีถึงวันที่เพิ่งมายื่นภาษี
ไม่ต้องเสียภาษี แต่ทำไมต้องยื่น เหตุผลคืออะไร?
1. ป้องกันการถูกตรวจสอบย้อนหลัง
เพราะกฏหมายกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้ทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ยื่น แปลว่าคุณทำผิดกฎหมายและมีโทษ ถ้าต้องการความสบายใจว่าเป็นพลเมืองที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนกรมสรรพากรเรียกไปตรวจสอบ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และไม่เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบว่าเลี่ยงภาษี ก็ยื่นให้ตรงเวลา แม้ว่ารายได้คุณจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม
2. มีหลักฐานเผื่อในการทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต
ในอนาคต คุณอาจต้องทำธุรกรรมทางการเงิน ที่จำเป็นต้องใช้เอกสารสำคัญที่เชื่อถือได้จากทางราชการ ว่าคุณเป็นผู้มีรายได้ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงเพื่อยืนยันว่าคุณเป็นคนที่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินได้
3. มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
เราทราบกันอยู่แล้วว่าการเสียภาษี เสียไปเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้เป็นงบประมาณการคลังสำหรับบริหารประเทศ นำไปพัฒนาสาธารณูปโภค ให้พลเมืองของประเทศ แม้ว่ารายได้คุณจะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ข้อมูลที่คุณยื่นไป จะถูกเก็บเป็นข้อมูลรายได้ของประชากรในประเทศ ที่รัฐสามารถเอาไปวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้เพื่อการบริหารประเทศ
ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่ไหน
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถยื่นได้ทั้งทางออฟไลน์และแบบออนไลน์
1. ยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
2. ยื่นที่ทำการไปรษณีย์ โดยการส่งทางไปรษณีย์ เฉพาะผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถส่งไปรษณีย์ได้ ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
3. ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่
- เว็บไซต์ของกรมสรรพากร
- แอปพลิเคชัน RD Smart Tax