แยกให้ออก เส้นบาง ๆ ระหว่าง “แรงบันดาลใจกับก๊อปปี้”

การสร้างสรรค์งานประเภทศิลปะนั้น บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นงานชิ้นหนึ่ง “คล้าย” กับงานอีกชิ้นหนึ่ง หรือจริง ๆ แล้วงานในกลุ่มเดียวกันก็มักออกมาคล้าย ๆ กันหมด แต่ถ้าหากดูดี ๆ จะพบว่าสิ่งที่ไม่เหมือนกันนั้นคือ “เอกลักษณ์” ที่เจ้าของผลงานใส่ไว้

การที่เราเห็นประเด็นดราม่าอยู่บ่อยครั้ง ว่าผลงานของคนนั้น “คล้าย” กับผลงานของคนนี้ แต่เมื่อพิจารณาหาเอกลักษณ์แล้วกลับไม่เห็น ทำให้งานนั้นดู “เหมือน” มากกว่าคล้าย และดูจะเป็นการ “คัดลอก” มามากกว่าได้แรงบันดาลใจหรือแค่บังเอิญเหมือน ซึ่งคัดลอกไม่ได้มีความหมายแค่แบบ copy-paste อย่างที่เราเข้าใจ เพราะลักษณะที่เค้าโครงเดิมยังอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนแค่บางส่วน นั่นก็เรียกว่า “คัดลอก” เช่นกัน ซึ่งถ้าเทียบกันแบบช็อตต่อช็อตแล้วจะเห็นทันทีว่าแทบไม่มีอะไรต่างกันเลยนั่นเอง

แต่เชื่อว่าหลายคนทราบดีว่าการคัดลอกผลงานนั้นมีความผิดทางกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีคนที่กระทำอยู่เรื่อย ๆ นั่นอาจเป็นเพราะการใช้คำว่า “ได้แรงบันดาลใจ” เพราะการสร้างสรรค์งานศิลปะต่าง ๆ นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับแรงบันดาลจจากผลงานชิ้นหนึ่ง แล้วนำมาสร้างในลักษณะของตัวเองที่คิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่การคัดลอกมาทั้งดุ้น ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ที่ยังดูออกว่าเป็นการก๊อปปี้มา

แล้วแรงบันดาลใจกับคัดลอกมานั้นต่างกันอย่างไร

จริง ๆ แล้ว แรงบันดาลใจกับการคัดลอกนั้นอยู่ใกล้กันมาก มันมีแค่เส้นกั้นบาง ๆ เท่านั้น นั่นหมายความว่าในหลาย ๆ กรณีเราอาจจะไม่สามารถบอกได้เลยด้วยซ้ำว่านี่คือการคัดลอกหรือแค่ได้แรงบันดาลใจกันแน่

ทำให้เราอาจต้องทำความเข้าใจกันดี ๆ ว่าแรงบันดาลใจกับคัดลอกนั้นมันต่างกันอย่างไร แต่วิธีง่าย ๆ ที่จะดูว่าเรากำลัง “ก๊อปปี้” หรือเราเพียงได้ “แรงบันดาลใจ” ให้ดูดังนี้

หากเป็น “แรงบันดาล” คือ การนำส่วนใดส่วนหนึ่งมาสานต่อ (แม้เพียงเล็กน้อย) โดยสิ่งนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด การพัฒนาเป็นงานใหม่ จุดประกายในสมองให้ได้ยินเสียง “ปิ๊ง!” จากนั้นจะผ่านกระบวนการแปรรูปให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง จากสิ่งหนึ่งที่เคยมีคนทำไว้ ไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีใครทำ โดยที่ตัวเราจะมั่นใจเองว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่เหมือนใคร (และไม่อยากให้ใครมาเหมือน)

แต่ถ้า “ก๊อปปี้” หรือ “คัดลอก” เราจะเห็นเค้าโครงเดิมเกือบทั้งหมด ปรับเปลี่ยนแค่รายละเอียดยิบย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งถ้าหากเอามาเทียบกับผลงานที่อ้างว่าเป็นต้นแบบ เราจะเห็นได้ทันทีแบบไม่ต้องสังเกตว่าจุดไหนที่เหมือนหรือคล้ายกัน และนั่นเท่ากับว่าไม่มีอะไรใหม่เลย

การที่ผลงานสร้างสรรค์บังเอิญเหมือนกันนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ถ้าเทียบแล้วพบว่าเห็นเค้าโครงเดิมในหลาย ๆ ช็อต นั่นแปลว่าคุณกำลังคัดลอก ฉะนั้น เส้นบาง ๆ ที่กั้นอยู่นั้น แรงบันดาลใจ คือ การแปรรูป ไม่ใช่ การปรับเปลี่ยน ถ้าคุณ “ปิ๊ง” นั่นเป็นผลงานของคุณเอง