ชวนเทียบ 2 วัคซีนที่เข้าไทย “เหมือน-ต่าง” กันอย่างไร?

ในช่วงเวลานี้ หลายคนน่าจะได้รับข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 ที่ประเทศไทยสั่งซื้อจากต่างประเทศ ว่าวัคซีนนั้นมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ววานนี้ (24 ก.พ. 64) ซึ่งวัคซีนที่ไทยนำเข้ามาในครั้งนี้ เป็น 2 วัคซีน จากแอสแล้วมีจำนวน 117,000 โดส และซิโนแวค ไทยสั่งจองจำนวน 2 ล้านโดส ล็อตแรกที่ถึงไทยแล้วมีจำนวน 200,000 โดส โดยที่พร้อมจะฉีดเข็มแรก 27 ก.พ. นี้

Tonkit360 จะชวนเทียบว่าวัคซีนของทั้ง 2 เจ้าที่ถึงไทยเรียบร้อยแล้วนั้น มีความเหมือน-ความต่างกันอย่างไรบ้าง

Oxford-AstraZeneca (อ๊อกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา)

วัคซีน COVID-19 ของแอสตราเซเนกานี้ ชื่อว่า “AZD1222” พัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนแอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผลิตด้วยเทคโนโลยี “เวกเตอร์อะดีโนไวรัส” ด้วยวิธีการใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ (ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วและไม่ทำให้เกิดโรค) นักวิจัยดึงยีนจากเชื้อ COVID-19 มาตัดต่อพันธุกรรมให้โปรตีนของไวรัสไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน แล้วนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่ออยู่ในเซลล์ เชื้อไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายจะส่งผ่านสายพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 กระตุ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

จากการทดสอบทางคลินิก ประสิทธิภาพที่ได้สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้ตัวเลขอาจสูงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หากปรับขนาดยา

ข้อดีข้อหนึ่งของวัคซีนอ๊อกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา คือ สามารถเก็บไว้ในสภาพแช่แข็งปกติที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้สามารถจัดเก็บ ขนส่ง และจัดการได้ง่าย ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain System) ในการเก็บรักษาความเย็นในระหว่างขนส่ง

วัคซีน COVID-19 ของแอสตราเซเนกา สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ฉีด 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 28-84 วัน อาจพบผลข้างเคียงคือ ผื่นขึ้น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นไข้

Sinovac (ซิโนแวค)

วัคซีน COVID-19 ของซิโนแวค ชื่อว่า “CoronaVac (โคโรนาแวค)” เป็นวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน ผลิตด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลืตวัคซีน (วัคซีนเชื้อตาย) คือ นักวิจัยจะนำเชื้อไวรัสไปผ่านความร้อน หรือใช้พิษจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เพื่อทำให้เชื้อไวรัสตาย และไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แต่โปรตีนและโครงสร้างต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสยังอยู่ครบถ้วน

เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงาน โดยใช้โปรตีนจับบนพื้นผิวเซลล์ ที่ภูมิคุ้มกันจะจดจำได้ในฐานะสิ่งแปลกปลอม หรือแอนติเจน แล้วสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีที่มีรูปร่างเหมือนกับโปรตีนของไวรัส COVID-19 และป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย ที่สำคัญ วัคซีนเชื้อตายของซิโนแวคนั้นค่อนข้างที่จะมีความปลอดภัยสูง เพราะใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมที่เคยใช้ในวงการผลิตวัคซีนต้านไวรัสตับอักเสบเอ และไวรัสป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

แต่เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ ข้อมูลจากสถาบันบูตันตัน ทำการทดสอบวัคซีนซิโนแวคทางคลินิกในบราซิล พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ที่ตุรกี ซึ่งเป็นสถานที่ทดลองทางคลินิกเช่นกัน เผยว่าประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 91.25 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนยังเป็นที่น่ากังขา เนื่องจากประสิทธิภาพในการทดสอบไม่ใกล้เคียงกัน อยู่ในช่วง 50-91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นช่วงที่กว้างมาก แต่ทางองค์การอนามัยโลกก็รับรองวัคซีนชนิดนี้เรียบร้อยแล้ว

ข้อดีของวัคซีนซิโนแวคคล้ายกับของแอสตราเซเนกา คือ สามารถขนส่งได้โดยไม่จำเป็นต้องแช่แข็ง เก็บได้ที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป แต่ข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา คือ สามารถเก็บได้นานถึง 3 ปี

วัคซีน COVID-19 ของซิโนแวค สามารถฉีดได้ในผู้ที่อายุ 18-59 ปี ฉีด 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 28 วัน อาจพบผลข้างเคียงคือ เป็นไข้รู้สึกอ่อนล้า

ข้อมูลจาก BioSpace