ดูเหมือนว่ามาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในโครงการ “ม.33เรารักกัน” เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากโครงการ “เราชนะ” จะมีปัญหาให้ต้องตามแก้กันไม่จบไม่สิ้น
ไม่จำกัดรายได้ขั้นต่ำ ลดปัญหาในองค์กร
ปัญหาหลักของโครงการ “ม.33เรารักกัน” อยู่ที่การกำหนดคุณสมบัติผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่าใครจะเข้าข่ายรับเงิน ซึ่งเงื่อนไขแรกนั้น ผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 3 แสนบาทต่อปี หรือมีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท จะหมดสิทธิ์รับเงินเยียวยาดังกล่าว ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การเยียวยาใหม่เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ
โดย ไม่มีการจำกัดรายได้ขั้นต่ำ เพื่อเลี่ยงปัญหาภายในองค์กร ที่จะทำให้พนักงานในบริษัทรู้โดยอัตโนมัติว่าใครมีอัตราเงินเดือนเท่าไร เพราะหากไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา ก็แสดงว่ามีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท ซึ่งเรื่องเงินเดือนถือเป็นความลับของบริษัท
อย่างไรก็ตาม นอกจากหลักเกณฑ์เรื่องรายได้ขั้นต่ำ เงื่อนไขอื่น ๆ ในการรับเงินเยียวยาจากโครงการ “ม.33เรารักกัน” ยังคงเดิม ดังนี้
- มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33
- ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
- มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท
โดยผู้ที่เข้าข่ายข้างต้น ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 9.27 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 4,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 4 ครั้ง ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สัปดาห์ละ 1,000 บาท ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.- 12 เม.ย.64 เพื่อนำไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่ร่วมโครงการ เช่นเดียวกับ “เราชนะ”
ตัดสิทธิ์เงินฝากเกิน 5 แสน เพราะเงินไม่พอ
แม้ว่ามีการปรับคุณสมบัติใหม่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างต่อเนื่องว่าเหตุใดรัฐบาลถึงไม่ช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ครบทั้งหมดกว่า 11 ล้านคน แต่กำหนดเงื่อนไขเงินฝากในธนาคาร ทำให้มีบางส่วนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล และมองว่าเป็นการเยียวยาที่ไม่เท่าเทียมไม่เสมอภาค
อย่างไรก็ตาม สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเดียวกับโครงการ “เราชนะ” ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และ เหตุที่ต้องกำหนดเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นเพราะเม็ดเงินที่กระทรวงการคลังมีอยู่ ไม่เพียงพอช่วยเหลือทุกคนได้ทั้งหมด จึงขอให้ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท เป็นผู้เสียสละในการไม่รับเงิน 4,000 บาท เพราะเงินที่ได้รับคิดแล้วไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์จากเงินฝากที่มีอยู่เสียด้วยซ้ำ และด้วยเหตุผลทางการเงิน ทำให้ “ม.33เรารักกัน” ไม่สามารถจ่ายเงิน 7,000 บาท เท่ากับโครงการ “เราชนะ” เพราะจะทำให้มีคนถึง 4 ล้านคนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา จึงต้องลดจำนวนลงเหลือ 4,000 บาท
ส่วนจำนวนเงินฝากนั้น ทางกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ออกเงินในโครงการดังกล่าว จะคิดจากเกณฑ์เงินฝากในช่วงสิ้นปี 2563 หากถอนเงินออกไป เพื่อให้บัญชีของตนเองมีไม่ถึง 5 แสนบาท จะสามารถตรวจสอบได้อยู่ดี
“เพิ่งตกงาน” ได้เงินเยียวยาจากโครงการใด?
ส่วนปัญหาอีกประการที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับผลกระทบคือ พนักงานบริษัทที่เพิ่งอยู่ในสถานะ “ตกงาน” ไม่ทราบว่าตนเองต้องลงทะเบียนในใครงการใด หลังจากโครงการ “เราชนะ” เปิดให้เช็กสิทธิ์ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา และปรากฏว่าตนเอง “ไม่ได้รับสิทธิ์” เนื่องจากยังมีชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ขณะที่โครงการ “ม.33เรารักกัน” ก็ไม่เข้าข่าย เพราะไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทอีกต่อไปแล้ว
เรื่องนี้ บุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมชี้แจงว่า ทางสำนักงานประกันสังคมได้ส่งทะเบียนข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้กับโครงการ “เราชนะ” โดยอัพเดทข้อมูลของผู้ประกันตน ณ วันที่ 19 ม.ค.64 นั่นหมายความว่า พนักงานบริษัทที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง ก่อนวันที่ 19 ม.ค.64 จะเข้าข่ายสามารถรับเงินจาก “เราชนะ” ได้
ทั้งนี้ หากระบบแจ้งว่าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ ให้ “ยื่นทบทวนสิทธิ” กับโครงการ “เราชนะ” ได้ ที่เว็บไซต์ www.เราชนะ.com และกดปุ่ม “ทบทวนสิทธิ” สีเหลือง ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินตรวจสอบข้อมูลส่วนนี้ให้เป็นราย ๆ ไป ส่วนพนักงานบริษัทที่ไม่ได้ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง ณ วันที่ 19 ม.ค. 64 จะเข้าข่ายในการรับเงินผ่านโครงการ “ม.33เรารักกัน” แทน
สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิจากโครงการ “เราชนะ” ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
- ไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฎิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการการเมือง หรือผู้รับบำนาญ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
- ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลล่าสุด
- ไม่เป็นผู้มีเงินฝากรวมทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลล่าสุด
ข้อมูล : กระทรวงการคลัง, สำนักงานประกันสังคม