การกำหนดให้มีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยนั้น มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกหลายตระกูล สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และสามัญชนทั้งชายและหญิงที่ได้ทำคุณงามความดีแก่บ้านเมือง โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่คนไทยมักจะได้ยินชื่ออยู่บ่อยครั้งนั้น ทางทีม Tonkit360 ได้เรียบเรียงมาเพื่อให้เป็นความรู้เผยแพร่ต่อไป โดยรายละเอียดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับเกียรตินั้น มีดังนี้้
ราชมิตราภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ (ร.ม.ภ.)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2505 เพื่อพระราชทานประมุขของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีสัมพันธไมตรีกับประเทศเป็นการเฉพาะ โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงที่สุดของไทย ทั้งนี้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้แก่ประมุขของรัฐต่างประเทศ
มหาจักรีบรมราชวงศ์
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2425 เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรสด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่ประมุขของต่างประเทศด้วย ปัจจุบัน มหาจักรีบรมราชวงศ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่สองรองจากราชมิตราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแด่ประมุขของต่างประเทศเท่านั้น
นพรัตนราชวราภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างดารานพรัตน์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2394 ต่อมาในรัชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างดวงตรามหานพรัตน์สำหรับห้อยสายสะพายและแหวนนพรัตน์สำหรับพระราชทานพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีชั้นเดียว เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 3 รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนจะได้รับพระราชทาน
จุลจอมเกล้า
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพ.ศ. 2416 ด้วยทรงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี ก็ด้วยความจงรักภักดี และการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ “จุลจอมเกล้า” เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายหน้า (บุรุษ) มี 3 ขั้น 7 ชนิด
- ขั้นที่ 1 มี 2 ชนิด คือ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และปฐมจุลจอมเกล้า
- ขั้นที่ 2 มี 2 ชนิด คือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และทุติยจุลจอมเกล้า
- ขั้นที่ 3 มี 3 ชนิด คือ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ตติยจุลจอมเกล้า และตติยานุจุลจอมเกล้า
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายใน (สตรี) มี 4 ขั้น 5 ชนิด
- ขั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า
- ขั้นที่ 2 มี 2 ชนิด คือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และทุติยจุลจอมเกล้า
- ขั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า
- ขั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า
รามาธิบดี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2461 สำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ซึ่งทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยชั้นเสนางคะบดีจัดเป็นชั้นสูงสุด
พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดีเฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดี
ช้างเผือก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู้หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2404 แต่มิได้กำหนดให้มีสายสะพาย ต่อมาในปีพ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดขั้นและสายสะพายประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ขั้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก เป็นตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย หนึ่งใน 8 ตระกูลที่สำหรับพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้กระทำคุณความดีทั้งบุรุษและสตรี
โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกนี้ สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน โดยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานของรัฐบาล เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศอย่างสูงแก่ผู้ได้รับพระราชทาน พระราชทานทั้งบุรุษและสตรี หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ให้ประกาศรายนามในราชกิจจานุเบกษา ปกติแล้วจะประกาศในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม ของทุกปี แยกเป็น 2 ฉบับ คือชั้นต่ำกว่าสายสะพาย และชั้นสายสะพายคือ
- ขั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- ขั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- ขั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- ขั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
- ขั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- ขั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
- ขั้นที่ 6 เหรียญทอง (ร.ท.ช.)
- ขั้นที่ 7 เหรียญเงิน (ร.ง.ข.)
มงกุฎไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยเป็นตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยหนึ่งใน 8 ตระกูลที่สำหรับพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้กระทำคุณความดี ทั้งบุรุษและสตรี โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยนี้สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน โดยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานของรัฐบาล เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศอย่างสูง แก่ผู้ได้รับพระราชทาน พระราชทานทั้งบุรุษและสตรี
หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ให้ประกาศรายนามในราชกิจจานุเบกษา ในอดีตจะประกาศในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีโดยแยกเป็น 2 ฉบับ คือชั้นต่ำกว่าสายสะพาย และชั้นสายสะพาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2412 สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน ชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมี 8 ขึ้นคือ
- ขั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- ขั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- ขั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
- ขั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- ขั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
- ขั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
- ขั้นที่ 6 เหรียทอง (ร.ท.ม.)
- ขึ้นที่ 7 เหรียญเงิน (ร.ง.ม.)
ดิเรกคุณาภรณ์
เหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 เพื่อพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน แบ่งออกเป็น 7 ชั้น พระราชทานแก่บุรุษและสตรีตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร
- ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
- ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.)
- ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)
- ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
- ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.)
- ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ท.ภ.)
- ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.)
เรียบเรียงข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (soc.go.th)