เราอยู่ในยุคที่ต้องแยกให้เป็นระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องโกหก

“ถ้ามีข่าวเครื่องบินตก คุณคิดว่าคนไทยจะสนใจเรื่องอะไร” นี่คือคำถามในการสัมภาษณ์งานครั้งแรกของผู้เขียน ถูกบรรณาธิการท่านหนึ่งถามเมื่อประมาณปี 2538 คำตอบที่โพล่งออกไปแบบไม่ได้คิดอะไรมากคือ “สนใจว่าบนเครื่องบินลำนั้นมีคนไทยอยู่ด้วยหรือไม่” กลายเป็นคำตอบที่ถูกต้องและคำถามนี้ก็กลายเป็นคำถามที่ผู้เขียนมักเอามาใช้ในการสัมภาษณ์ทีมงานที่จะเข้ามาร่วมงานกับ Tonkit360 แต่หลัง ๆ ไม่ได้ใช้แล้วเพราะรู้สึกบริบทของสังคมเปลี่ยนไป และคนยุคนี้มีเนื้อหาหรือ Content ให้เสพมากเกินไปจนทำให้พวกเขาไม่สามารจับใจความสำคัญได้

ที่ระลึกถึงคำถามที่ตนเองเคยตอบในอดีตขึ้นมา เพราะนึกถึงประโยคที่ว่า “ถ้าคุณอยากรู้ว่าคนในสังคมไหนเป็นอย่างไร ให้ดูข่าวที่พวกเขาสนใจ” และสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะชัดเจนว่าสังคมไทยเป็นอย่างไรเมื่อข่าวของ “ลุง” และหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เพราะ “ลุง” ที่ถูกสื่อดันจนดังคนนั้นดันระงับอารมณ์ไม่อยู่และมีปัญหากับนักข่าว และข่าวของ “ลุง” ยังไม่ทันเงียบหาย วันรุ่งขึ้นข่าว “ดีเจ” อีกคนก็ยึดพื้นที่สื่อ เพราะกลายเป็นหนึ่งในจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เรื่องราวของ “ลุง” และ “ดีเจ” ไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่ข่าวหรือพื้นที่โซเชียลมีเดีย แต่บนโต๊ะกินข้าว พี่วินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้าในตลาด จนถึงลูกค้าในร้านอาหาร ต่างถกเรื่อง “ลุง” และ “ดีเจ” กันอย่างจริงจัง

ถามว่าเวลานั้นมีข่าวอื่นที่น่าสนใจหรือไม่ คำตอบคือมี และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือรอบที่สองของผู้ที่ต้องประสบกับปัญหาว่างงาน หรือเงินขาดมือในช่วงของการระบาดรอบสอง มีข่าวการคาดการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 รวมไปถึงข่าวต่างประเทศที่มีพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน รวมไปถึงการแข่งขันแบดมินตันรายการระดับโลกในเมืองไทย แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่ข่าวทั้งหมดเป็นเหมือนข่าวล้อมกรอบ ไม่สามารถเรียกความสนใจจากผู้คนได้

เป็นเรื่องน่าแปลกไหม คำตอบคือไม่แปลกใจเลยเพราะเรื่องฉาว ๆ คาว ๆ หรือความทุกข์ยากของผู้อื่น เรียกความสนใจจากผู้คนได้เสมอ หรือที่ภาษาข่าวจะใช้คำว่า Human Interest แต่ถ้าถามว่า “สื่อ” ทั้งสื่อกระแสหลักหรือสื่อโซเชียลมีเดีย ทำซ้ำเรื่องราวเหล่านี้บ่อยครั้งจะเป็นการดีไหม คำตอบคือ “ไม่” เพราะผู้คนจะเสพติดดราม่า จากเนื้อหาที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น เมื่อได้เสพครั้งที่หนึ่งก็มีครั้งที่สอง และ เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ จนผู้ที่ติดการเสพข่าวประเภทนี้ไม่สามารถแยกได้ว่าข่าวไหนคือข่าวลวงและข่าวไหนคือข่าวจริง

เมื่อเสพติดมาก ๆ เข้าก็เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรม เพื่อให้ไปอยู่ในจุดเดียวกับเนื้อหาที่เพิ่งเสพมาจากสื่อ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนดังที่มีข่าวดราม่าผ่านสื่อ สุดท้ายแล้วพวกเขายังพอมีพรรคพวก มี Connection ที่พอจะจัดการเรื่องราวยุ่ง ๆ ให้กลายเป็นเรื่องที่เงียบหายไปกับสายลมได้ แต่สำหรับคนทั่วไปการจ้างทนายความ หรือ แม้แต่ถูกหมายเรียกจากศาลไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมันไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่าย แต่หมายถึงการเสียเวลาที่ต้องมาบดบังเวลาทำมาหากิน และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องกลายเป็นการประนีประนอมเพื่อให้เรื่องจบ ในขณะที่ชื่อเสียงของคุณนั้นเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว

ยังคงย้ำเหมือนกับสัปดาห์ที่แล้วว่า “เราอยู่ในยุคที่เรื่องไม่ปกติ กลายเป็นเรื่องปกติ” แม้คุณบอกว่าคุณไม่ได้เสพข่าวที่สังคมกำลังให้ความสนใจ แต่คุณไม่มีทางหนีกระแสที่อยู่รอบตัวได้ และคุณเองก็ไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ ดังนั้น ตั้งสติค่ะ เพราะสติเท่านั้นที่จะทำให้คุณรอดจากการฟัง อ่าน พูด ในห้องของเสียงสะท้อนได้ ขอแค่ตั้งสติแล้วพิจารณาด้วยเหตุและผล คุณจะรู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนโกหก เพราะเอาเข้าจริงแล้วแล้ว “เรื่องจริงมักเกิดขึ้นจากเหตุที่ไม่ซับซ้อน”

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ