หลังจากที่มีการเสนอมาตรการเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กลับมาระบาดในรอบใหม่ ทำให้หลายคนต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการควบคุมโรค ในโครงการ “เราชนะ” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเดือนละ 3,500 บาทรวมทั้งสิ้น 2 เดือนนั้น
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของ “เราชนะ” คือกลุ่มอาชีพอิสระ และ/หรือผู้มีรายได้น้อย (ประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40) จึงได้กำหนดเกณฑ์ว่า ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 7,000 บาทนี้
แต่ในเมื่อความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ประกอบอาชีพอิสระเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แล้วคนที่อยู่ใน “ประกันสังคมมาตรา 33” จะได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบ้าง ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจาก “COVID-19” เช่นเดียวกัน Tonkit360 รวบรวมไว้ให้แล้ว
การเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม
กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย “COVID-19”
ลูกจ้างที่อยู่ใน “ประกันสังคมมาตรา 33” มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา ในกรณีที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจาก “COVID-19” ระลอกใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
- เป็น “ลูกจ้าง” ที่ต้องหยุดงานกรณีกักตัว หรือราชการสั่งปิดสถานที่เนื่องจากเหตุสุดวิสัย COVID-19
- มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวัน โดยจะได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวัง หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว (ตามแต่กรณี)
- รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
- ถ้าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง ก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ “เหตุสุดวิสัย”ที่มีการ “จ่ายเงินทดแทนได้” หมายถึง ภัยที่เกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ จึงมีการกำหนดกรณีเหตุสุดวิสัย และหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
ขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยากรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย “COVID-19”
กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย “COVID-19” ระลอกใหม่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดจากรัฐ จะต้องดำเนินการเพื่อขอรับ “เงินเยียวยา” กับ “นายจ้าง” ตามขั้นตอนดังนี้
1. ให้ลูกจ้างกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) แล้วส่งให้นายจ้างพร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก
2. นายจ้างจะรวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) จากลูกจ้าง
3. นายจ้างบันทึกข้อมูลในระบบ e-Service ผ่าน www.sso.go.th (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนก่อน) ได้แก่
- ข้อมูลลูกจ้างตามแบบ (สปส.2-01/7)
- หนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
4. นำส่งแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้างที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service เรียบร้อยแล้ว ไปที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (แบบลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service
5. เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องและครบถ้วน จะอนุมัติจ่ายรอบแรก โดยเงินจะเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ
กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง
ได้รับเงินชดเชย 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน (จากเดิมได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ปีละไม่เกิน 180 วัน)
กรณีว่างงานจากการลาออก
ได้รับเงินชดเชย 45 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ปีละไม่เกิน 90 วัน)
ลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
ลูกจ้าง-นายจ้าง เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ (เดิม 5 เปอร์เซ็นต์) ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564
ใช้สิทธิ์จาก “คนละครึ่ง”
“คนละครึ่ง” เป็นโครงการที่ให้เปิดให้ลูกจ้างที่อยู่ใน “ประกันสังคมมาตรา 33” สามารถร่วมลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ได้ทุกครั้งที่มีการเปิดให้ลงทะเบียน แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของจำนวนสิทธิ์ที่ให้ และการลงทะเบียนที่เป็นไปในลักษณะชิงโชคก็ตาม
โครงการ “คนละครึ่ง” เป็นโครงการที่ภาครัฐช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งภาครัฐจะช่วยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ในการซื้อสินค้าตามที่โครงการกำหนด และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ไม่เกิน 300 บาท/คน/วัน (รัฐ 150 ประชาชน 150) และรวมตลอดทั้งโครงการไม่เกิน 3,500 บาท โดยในแต่ละวันไม่จำเป็นต้องใช้เต็มวงเงิน 150 บาท เพราะระบบจะนำเงินที่เหลือไปทบให้ใช้ในวันถัดไป
ทั้งนี้ แม้ว่าการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการคนละครึ่งรอบล่าสุด (รอบเก็บตกของเฟส 2) ที่เปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 ม.ค. 64 จำนวนสิทธิ์จะเต็มแล้ว แต่ทางกระทรวงการคลังกำลังเตรียมพิจารณาโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 แต่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ หรือลงทะเบียนรับสิทธิ์ไม่ทัน สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งหากมีความคืบหน้า Tonkit360 จะแจ้งให้ทราบในภายหลัง
ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเทอร์เน็ต
1. ค่าไฟฟ้า
ปรับลดค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 โดย
- บ้าน ที่อยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
- บ้าน ที่อยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่เงื่อนไขกำหนด
- ประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
2. ค่าน้ำประปา
ปรับลดค่าน้ำประปาลง 10 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะบ้าน ที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564
3. ค่าอินเทอร์เน็ต
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และผู้ประกอบการที่ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต จะเพิ่มความเร็วและความแรงของเน็ตบ้าน มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ ให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการ Work from Home และให้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชันหมอชนะฟรี ไม่คิดค่า data เป็นระยะเวลา 3 เดือน