“เพศศึกษา” สำคัญแค่ไหนสำหรับเด็ก

หนังสือสอนเพศศึกษาในอินโดนีเซีย (ภาพจาก www.straitstimes.com)

จากที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กอายุ 10-14 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการมี “เพศสัมพันธ์”  และพบว่าเด็กอายุแค่ 10-11 ปี หรือเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  เริ่มมองเพศตรงข้ามกันแล้ว และอยากมีแฟน ด้วยเห็นผลต่างๆ นานา ทั้งอยากรู้ อยากลอง เห็นเพื่อนมีเลยอย่างมีบ้าง ทำให้เกิดปัญหาสังคม “ท้องก่อนวัยอันควร” ตามมา

เรื่องดังกล่าว รัฐบาลประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมองว่าส่งผลกระทบต่อ “คุณภาพชีวิต” ในทุกด้านต่อเยาวชนของชาติ

แม้ทุกคนทราบดีว่า สิ่งสำคัญในการตัดวงจรการ “ท้องก่อนวัย” ให้หมดไปจากสังคมไทย  คือการให้ความรู้เรื่อง “เพศศึกษา” กับเด็กๆ เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์  เพื่อจะได้รู้วิธีป้องกันตนเอง ทั้งจากการความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ รวมถึงความเสี่ยงในการติดโรคต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงกลับพบว่า การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในบ้านเรายังไม่เปิดกว้างมากนัก เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนยังคงมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม  เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่เด็กยังไม่ควรรับรู้ จึงพยายามปิดกั้น ส่งผลให้เด็กมีความอยากรู้อยากเห็น และแอบไปทดลองกันเองจนกลายเป็นปัญหาสังคมในภายหลัง

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหาทำนองนี้ด้วยเช่นกัน ถึงขั้นที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับเด็ก และควรเปิดหลักสูตรสอนในโรงเรียน

เด็กๆ อินโดนีเซียเรียกร้องให้มีการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน (ภาพจาก www.thejakartapost.com)

โดยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เพิ่งมีหนังสือให้ความรู้เด็กเกี่ยวกับเพศศึกษาในรูปแบบของการ์ตูนที่อ่านเข้าใจง่ายออกมา ซึ่งเนื้อหาอธิบายถึง “การสำเร็จความใคร่” ของเด็กผู้ชาย และให้ความรู้เกี่ยวกับการติดโรคทางเพศสัมพันธ์  แต่กลับถูกทางการอินโดนีเซียสั่งเก็บจากชั้นหนังสือทั้งหมด โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลว่า หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และโจ่งแจ้งเกินไป

ทั้งนี้  อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ซึ่งค่อนข้างเคร่งครัดเกี่ยวกับการแสดงออกหรือพูดคุยในเรื่องเพศสัมพันธ์ จึงทำให้ทางการไม่เห็นด้วยหากจะมีการสอนเรื่องทำนองนี้อย่างเปิดเผยและโจ่งแจ้ง

ภาพจาก www.liputan6.com

ขณะที่บางคนมองว่าแทนที่จะสอนให้เด็กหมกมุ่นในเรื่องเพศ ก็ควรจะเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กไปด้านอื่นแทน แม้ว่าหนังสือดังกล่าว มีเจตนาให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์เบื้องต้นกับเด็ก รวมถึงมีนักจิตวิทยาและกุมารแพทย์เป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยควบคุมเนื้อหาให้เหมาะสมก่อนตีพิมพ์แล้วก็ตาม

สำหรับในบ้านเรานั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตรียมพัฒนารูปแบบการสื่อสารกับเด็กๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่นเช่นกัน ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการและกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 3 ปี ก่อนจะนำรูปแบบการพัฒนาฯที่สำเร็จแล้ว ผลิตเป็นชุดเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้กับครูในโรงเรียนต่อไป

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น  พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรจะสอนให้ลูกๆ ของตนเอง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาที่ดีพอเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ “วัวหายล้อมคอก” ในภายหลัง