“ขี้หลงขี้ลืม” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ สัญญาณ “โรคสมองเสื่อม”

“เอ๊ะ! เมื่อกี๊เราจะทำอะไรนะ” มีใครเคยมีอาการแบบนี้บ้าง หากเป็นบ้างในบางครั้งนาน ๆ ที สักพักก็นึกออกเอง ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็เป็นกันได้ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีอาการนี้ถี่ขึ้น ลืมนั่นลืมนี่อยู่บ่อย ๆ ลืมเรื่องสำคัญ ๆ และลืมทีก็ลืมยาวไปเลย นึกยังไงก็นึกไม่ออก ก็เริ่มจะมีสัญญาณไม่ดีแล้วว่านี่เป็นการลืมแบบชั่วคราว หรือลืมแบบที่เสี่ยงจะเป็นโรคสมองเสื่อมกันแน่

สาเหตุของอาการขี้หลงขี้ลืม

อาการขี้หลงขี้ลืม เป็นสัญญาณปกติที่บ่งบอกว่าเรา “อายุมากขึ้น” อย่างไรก็ตามถ้าเราอายุยังไม่ได้มากขนาดนั้น แต่เริ่มมีอาการขี้หลงขี้ลืม โดยเฉพาะลืมสิ่งที่ตนเองกำลังจะทำอย่างกะทันหันจนต้องบ่นอยู่บ่อย ๆ ว่า “เมื่อกี๊จะทำอะไรนะ” ล่ะก็ นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว จากข้อมูลของเว็บไซต์ Harvard Health Publishing พอจะระบุพอสาเหตุของอาการขี้หลงขี้ลืมแบบชั่วครั้งชั่วคราวได้ คือ

  • การนอนน้อย
  • การกินยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด
  • ภาวะขาดไทรอยด์
  • ความเครียด
  • โรคทางจิตเวช
  • แอลกอฮอล์

ดังนั้น หากเราลดพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดอาการขี้หลงขี้ลืม หรือรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่จนอาการดีขึ้น อาการขี้หลงขี้ลืมของเราก็จะลดลงด้วยเช่นกัน แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เรายังรู้สึกว่าลืมนั่นลืมนี่อยู่บ่อย ๆ นั่นเริ่มมีสัญญาณของภาวะของโรคสมองเสื่อมประเภทอัลไซเมอร์นั่นเอง

อาการหลง ๆ ลืม ๆ แบบที่เข้าข่ายจะเป็นโรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่การทำงานของสมองผิดปกติ ทั้งในด้านความจำ การคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาทางความคิด การตัดสินใจ พฤติกรรม และอารมณ์ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จนมีผลต่อการใช้ชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน จนในที่สุด ผู้ป่วยอาจจะเข้าสู่ภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

โรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรง หรือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s  disease) และโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ (vascular neurocognitive disorder) ในที่นี้จะพูดถึงภาวะที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรง

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการสมองฝ่อลง โดยเฉพาะสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ จากนั้นสมองส่วนอื่น ๆ จะฝ่อลงตามมา การที่สมองฝ่อลงนั้นทำให้มีผลต่อความคิด การตัดสินใจ การสื่อสาร ตลอดจนพฤติกรรม แต่ผู้ป่วยก็มักจะจำไม่ได้ว่าตัวเองลืมอะไร และคิดว่าตนเองเป็นปกติดี

การดำเนินของโรคอัลไซเมอร์จะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปจนเข้าสู่ช่วงที่มีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ การตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ สามารถชะลอความการเกิดโรคให้ช้าลง และความรุนแรงของโรคลงได้ ญาติที่อยู่ใกล้ชิดจึงต้องใส่ใจกับอาการหลงลืมที่พบในผู้สูงอายุ ถ้าบ่อยเกินไปจนเกิดผลเสียในการดำเนินชีวิต หรือสิ่งที่ลืมส่อให้เห็นว่าน่าเป็นห่วง เช่น ถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จำเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้ สิ่งที่เคยทำเป็นประจำทุกวันกลับทำไม่ได้ ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์

อาการลืมบางอย่างเป็นสัญญาณเตือนของโรคสมองเสื่อมแบบ “อัลไซเมอร์” ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอยู่พอสมควร ซึ่งอาการลืมแบบที่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์จะมีการเปลี่ยนใน 4 ด้าน คือ ด้านความจำ ด้านความคิด ด้านการใช้ภาษา และด้านพฤติกรรม โดยอาการที่เป็นเค้าลาง ส่อว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีประมาณนี้ คือ

  • ความจำแย่ลง ลืมในเรื่องที่ไม่น่าจะลืม
  • ขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันเริ่มบกพร่อง
  • สับสนวัน เวลา สถานที่ ลืมเส้นทางที่เคยใช้ประจำ
  • สิ่งที่เคยทำได้ดีกลับทำได้แย่ลง
  • มีปัญหาในการพูด การเขียน การเลือกใช้คำ
  • สับสนในภาพที่เห็น คิดหาความเชื่อมโยงไม่ได้
  • วางของผิดที่ผิดทาง หรือลืมของว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน
  • ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
  • แยกตัวออกจากสังคม
  • อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

การแก้อาการขี้หลงขี้ลืมแบบชั่วคราว

อย่างที่บอกว่าอาการของโรคอัลไซเมอร์สามารถชะลอให้เกิดช้าลง และความรุนแรงน้อยลงได้ ดังนั้น หากยังรู้สึกตัวดี และเริ่มเห็นอาการผิดปกติของตนเอง เราก็สามารถเริ่มแก้ได้ด้วยตนเองเพื่อให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ คือ

  1. พยายามอย่าทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน และทำอะไรให้ช้าลง การคิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว จะทำให้เราจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้น้อยลง ดังนั้นจะทำอะไรควรโฟกัสเพียงอย่างเดียว ทำช้า ๆ เพื่อไม่ให้สมองทำงานหนักเกินไป และสับสนในเรื่องที่ต้องจำกับเรื่องที่ควรเพิกเฉย
  2. หมั่นบริหารสมอง เพราะสมองก็เหมือนกับร่างกาย ที่ออกกำลังกายก็ยิ่งแข็งแรง โดยการออกกำลังกายสมองที่ว่าคือการกระตุ้นให้สมองได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ อย่างการเล่นเกมฝึกสมองต่าง ๆ เช่น ต่อคำ ทายคำ ซูโดกุ ต่อเพลง หมากรุก เป็นต้น
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ก็เพื่อพักสมองที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาให้ได้ผ่อนคลายบ้าง และการนอนก็สำคัญกับสมองโดยตรง ซึ่งการนอนน้อยเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ชั่วคราว ลองคิดดูสิว่าถ้าเราทำต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ความจำของเราอาจจะหายไปหมดเลยก็ได้
  4. กินอาหารบำรุงสมอง เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และคำนึงถึงประโยชน์ต่อสมองด้วย อย่างอาหารที่มีโอเมก้า 3 และวิตามินบี 12 ที่ช่วยบำรุงสมองให้แข็งแรง
  5. อย่าเครียด ความเครียดเป็นเรื่องที่ห้ามยาก เพราะคนเราสามารถเครียดได้ทุกเรื่องถ้ารู้สึกไม่พอใจ แต่กับบางเรื่องที่สามารถปล่อยวางได้ก็ปล่อยวางบ้าง เพราะไม่เพียงแต่กระทบกับสมองเท่านั้น ความเครียดส่งผลถึงร่างกายด้วย
  6. ลงมือทำอะไรใหม่ ๆ หาอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ และรู้สึกว่าอยากทำมาทำเลย เพื่อกระตุ้นสมองในส่วนของความจำให้จำในเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้
  7. จำยากก็จดบ้าง เพราะบางทีเนื้อหาที่ถูกบรรจุอยู่ในสมองอาจจะเยอะเกินไป ทำให้เริ่มหลง ๆ ลืม ๆ สับสน ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ถูก จนมีข้อผิดพลาด ทำงานบกพร่อง ดังนั้นการทำบันทึกช่วยจำ และการจัดตารางในชีวิตจะช่วยให้สมองได้ทำงานเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน ก็ช่วยให้ความจำดีขึ้นได้
  8. อารมณ์ดี ไม่ใช่เพียงแต่ไม่เครียด แต่ต้องอารมณ์ดีบ้าง อย่างการยิ้ม การหัวเราะ การทำให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย ที่เป็นการแสดงออกของความสุขนี่แหละ เพราะการหัวเราะสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ การจดจำ และความคิดสร้างสรรค์ และมีผลต่อพื้นที่ในสมองด้วย
  9. คุยกับตัวเองบ่อย ๆ คุยในที่นี้ไม่ใช้การพูดคนเดียวแบบเพ้อ ๆ แต่การพูดกับตัวเองโดยไล่เรียงว่าวันนี้เราต้องทำอะไร เราจะไปไหนบ้าง ก่อนที่จะออกจากบ้าน อย่างน้อยก็ช่วงที่แต่งตัวอยู่หน้ากระจกก็ได้ จะเหมือนกับเป็นการเตือนสติและย้ำกับตัวเองให้จำในสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน
  10. ไปพบแพทย์ หมั่นสังเกตอาการตนเอง โรคสมองเสื่อมอาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ ถ้าพยายามทำทุกอย่างแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลรามาธิบดี