วินัยทางการเงินเริ่มต้นได้ด้วยการทำบัญชีค่าใช้จ่ายรายวัน หลายคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพอทำบัญชีค่าใช้จ่ายรายวันแล้ว มีเงินเก็บและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้เยอะ เพราะเห็นว่าเงินของตนเองนั้นถูกใช้จ่ายไปในทางใดบ้าง มีหนี้สิน และรายรับอยู่เท่าไร แต่บางคนบอกว่าทำเหมือนคนอื่นทำทุกวันแต่เงินไม่เคยเหลือ ขณะที่หนี้ก็ยังเท่าเดิม เลยเลิกทำไปเลยเพราะไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อันใด
เลยมีคำถามว่า ทำไมทำบัญชีค่าใช้จ่ายทุกวันแล้วเงินไม่เหลือเก็บ ถ้าคุณอยู่ในวังวนแบบนี้ ลองมาดูว่าการทำบัญชีของคุณนั้นเป็นการบันทึกอย่างเดียวแล้วขาดการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของตนเองหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างไปจากการจดบันทึกที่เปลืองน้ำหมึก ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อเงินในกระเป๋า แต่ถ้าอยากให้การจดบันทึกของคุณเกิดประโยชน์ ลองมาดูกันว่าคุณต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายที่คุณจดทุกวันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง
1. พิจารณารายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือรายจ่ายที่ตัดออกได้
ถ้าคุณอยากเก็บเงินเพื่อมีอนาคตที่ดี ไม่เป็นหนี้เป็นสิน การทำบัญชีค่าใช้จ่ายช่วยได้ เพราะการจดบันทึกว่าแต่ละวันคุณจ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง คุณจะเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อาทิ ค่ากาแฟราคาแพง ค่าแท็กซี่ที่คุณนั่งมาทำงานแทนนั่งรถเมล์เพราะขี้เกียจรอ หรือค่าอาหารกลางวันที่คุณแชร์กับเพื่อนร่วมงาน ค่าชานมไข่มุกที่คุณกินทุกวัน ไม่นับรวมช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตที่คุณไม่ได้จ่ายเงินสด
เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่คุณสามารถลดได้ด้วยการมีวินัยกับตัวเอง แต่ก็ไม่ต้องถึงกับลำบากนัก ถ้ายังอยากซื้อขนมหรือเครื่องดื่ม ก็ต้องตั้งเป็น Budget ในแต่ละวันว่าซื้อได้เท่าไร ถ้าต้องการนั่งแท็กซี่ก็ต้องให้มีความสำคัญจริง ๆ เพียงเท่านี้เงินที่คุณคิดว่าไม่เท่าไร จะกลายเป็นเงินเหลือจำนวนไม่น้อยที่ทำให้คุณมีเงินเก็บได้ในเวลาไม่นาน
2. การใช้จ่ายจากบัตรเครดิตถือเป็นการใช้เงินในอนาคตต้องนับเป็นหนี้
บางคนทำบัญชีค่าใช้จ่าย แต่ไม่ยอมบันทึกรายจ่ายจากบัตรเครดิต ซึ่งนับเป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ หลายคนคิดง่าย ๆ ว่าจ่ายขั้นต่ำก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจ่ายขั้นต่ำแล้วยังคงใช้บัตรต่อไปเรื่อย ๆ คือการจุดไฟเผาบ้านตัวเองดี ๆ นี่เอง
ดังนั้นการใช้จ่ายบัตรเครดิตทุกครั้งต้องถูกบันทึก และเมื่อถึงสิ้นเดือน เงินเดือนออกคุณต้องจ่ายให้ครบตามยอดที่ใช้ไป และถ้าใช้จนไม่สามารถจ่ายตามยอดได้ครบจนต้องจ่ายเพียงบางส่วน นั่นหมายถึงคุณต้องพิจารณาหยุดใช้บัตรเครดิตทันที เพราะตัวแดง ๆ ที่เกิดขึ้นในบัญชีค่าใช้จ่ายของคุณจะไม่มีวันหายไปหากยังใช้บัตรเครดิต แล้วชำระยอดเพียงบางส่วน
3. หักเงินออมเก็บไว้ทันทีแล้วบันทึกตัวเลขทุกเดือน
การออมเงินไม่ได้หมายความว่าเหลือเงินเท่าไรค่อยออม แต่การออมเงินคือการหักเงินที่ได้รับจากเงินเดือนทุกเดือน เป็นจำนวนเท่า ๆ กันเป็นเงินออม แล้วเหลือเท่าไรค่อยเอามาแยกเป็นค่าใช้จ่าย การทำบัญชีค่าใช้จ่ายคุณควรบันทึกตัวเลขเงินออมในทุกเดือนไว้ เพื่อสร้างกำลังใจให้กับตนเองในการออมเงิน แม้จะออมเดือนละ 500 แต่เมื่อออมครบ 10 เดือนก็เท่ากับ 5,000 บาท กลายเป็นเงินก้อนที่คุณเองจะแปลกใจไม่ใช่น้อย
4. แยกยอดหนี้ และรายรับ ให้ชัดเจน
คนที่ทำบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไม่ได้ทำยอดหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดของตนเองเอาไว้ แต่จะใส่เป็นค่าใช้จ่ายว่าบัตรใบนี้จ่ายเท่าไร จ่ายค่าอะไรบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณต้องบันทึกยอดหนี้ทั้งหมดเอาไว้ เพื่อให้ได้เห็นว่า ยอดหนี้ที่คุณสร้างไว้ในบัตรเครดิตมีอยู่เท่าไร ยอดซื้อของแบบผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์เหลืออีกเท่าไร ขณะเดียวกันควรบันทึกรายรับต่อเดือนว่าได้เดือนเท่าไร เมื่อเทียบกับยอดหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน รายรับของคุณเพียงพอไหม หรือต้องหารายได้เสริมเพื่อมาใช้ปลดหนี้
ข้อนี้คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง อย่าปิดตาข้างเดียว ไม่เอาหนี้มาเปิดออกในบัญชี ถ้าเป็นแบบนั้น คุณจะไม่มีวันใช้หนี้ได้หมด และจะกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่คุณอาจถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว
5. รายรับที่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายคือสิ่งที่คุณต้องพิจารณา
ถ้าทำบัญชีค่าใช้จ่ายแล้วพบว่า รายรับต่อเดือนของคุณติดลบ แล้วคุณยังปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้นโดยไม่ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่พยายามหางานพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ การทำบัญชีค่าใช้จ่ายของคุณก็จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เพราะบัญชีค่าใช้จ่ายจะทำให้เห็นว่า เงินที่คุณได้รับในแต่ละเดือนถูกจ่ายไปเป็นค่าอะไรบ้าง หากลดค่าใช้จ่ายแล้วจะทำให้รายรับของคุณเพียงพออยู่ได้ทั้งเดือนหรือไม่
การทำงานพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้จะทำให้คุณมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน หากรายรับประจำของคุณต้องใช้แบบเดือนชนเดือน ดังนั้นการทำบัญชีค่าใช้จ่ายจึงเป็นมากกว่าการจดบันทึก คุณต้องพิจาณาด้วยว่า คุณพร้อมจะลดตัวแดงในสมุดบัญชี แล้วเพิ่มตัวดำที่เป็นเงินสดสำรองเพื่อป้องกันอนาคตที่ไม่มีความแน่นอนแล้วหรือยัง