รู้ให้ทัน ก่อนตกเป็นทาสการตลาด “ช้อปปิ้งออนไลน์”

ภาพจาก freepik.com

อย่างที่รู้กันดีว่าปัจจุบัน กระแสการช้อปปิ้งออนไลน์กำลังได้รับความนิยมมาก ไม่ว่าจะกดผ่านเว็บไซต์หรือผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ เพราะสะดวกสบาย แถมยังตอบโจทย์ความต้องการในหลายรูปแบบ ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านต่าง ๆ และสินค้าทั่วไป สั่งกันสนุกสนาน กดจ่ายกันเป็นว่าเล่น บางคนถึงขั้นที่ของมาส่งวันเว้นวันเลยก็มี

นอกจากนี้แล้ว การช้อปออนไลน์ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “โปรโมชั่นและดีลเด็ด” ประจำเดือนที่หลากหลาย โดยเฉพาะ “แคมเปญเลขคู่” มีมาตั้งแต่ต้นปี 1.1 ยันปลายปี 12.12 เลยทีเดียว ทำให้เราเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้ในราคาที่ถูกกว่าเดิม แต่รู้หรือไม่? ว่าคุณกำลังตกเป็นทาสการตลาดโดยไม่รู้ตัว จากสิ่งที่เรียกว่า “ส่วนลดพิเศษประจำเดือน”

ก่อนจะเผลอใจกดจ่ายเพลินไปมากกว่านี้ เราต้องรู้ให้ทันก่อนว่าส่วนลดประจำเดือนที่ว่า ทำให้เรา “ได้” มากกว่า “เสีย” หรือเปล่า และตั้งสติคิดหน้าคิดหลังให้ดีว่าที่จะซื้อมาเนี่ย “คุ้ม” หรือไม่

จัดแคมเปญทุกเดือน

อย่างที่นักช้อปออนไลน์หลายคนต่างพากันเฝ้ารอกันทุกเดือนกับ “แคมเปญเลขคู่” ลดจัดหนักจัดเต็มกันตั้งแต่วันแรกของปี 1.1 ไล่ยาวไปยันสิ้นปี 12.12 ซึ่งเราต่างก็ไม่ทันได้เอะใจกันสักเท่าไร ลดราคาได้ทุกเดือนก็ยิ่งดี แต่ถ้ามาคำนวณดูดี ๆ จะพบว่าเงินเดือนเราถูกแบ่งมาจ่ายค่าช้อปออนไลน์ตรงนี้ทุกเดือน แถมช่วงรอยต่อปลายปีเก่ากับต้นปีใหม่ก็ห่างกันแค่ไม่กี่วัน ลองคิดเล่น ๆ ดูว่าถ้าเราช้อปทุกเดือน มันจะไม่จบแค่ทุกเดือน แต่จะกลายเป็นทุกปีแทน

เก็บ code ส่วนลด

การเก็บ code ส่วนลด เป็นอีกหนึ่งอย่างที่หลอกล่อจูงใจเราได้เป็นอย่างดี ช้อปครั้งนี้ครบ…บาท จะได้ส่วนลด…บาทไว้ช้อปครั้งหน้า ไหน ๆ เดือนหน้าก็ต้องช้อปอยู่แล้ว ก็ซื้อให้ครบแล้วเก็บเอา code ไปใช้เดือนหน้าซะเลยสิ สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นวงวารไม่จบไม่สิ้นเหมือนแคมเปญเลขคู่ เก็บส่วนลดไว้ใช้ครั้งหน้า และหน้า ๆๆ จ่ายกันรัว ๆ ทุกเดือนแบบนี้ ทาสการตลาดชัด ๆ เลย

ลดกระหน่ำ ลดตาแตก

ธรรมชาติของของ SALE ก็จูงใจให้คนตัดสินใจซื้อได้อยู่แล้ว ยิ่งมาเจอคำว่า “ลดกระหน่ำ ลดตาแตก ลดแบบไม่มีอะไรมากั้น” พร้อมกับเส้นสีแดงขีดฆ่าราคาที่ขายปกติ ก็ยิ่งกระตุ้นความอยากได้อยากมีเข้าไปกันใหญ่ ถ้าพลาดครั้งนี้ล่ะก็ ครั้งหน้าก็ต้องจ่ายราคาเต็มสิ ในเมื่อของมันต้องมีก็ซื้อเลยแล้วกัน อันนั้นก็อยากได้ อันนี้ก็อยากมี แถมลดราคาอีกต่างหาก เลือกไปเลือกมากลายเป็นว่าของเต็มตะกร้า จ่ายกันสนุกสนานไปเลย

ข้อจำกัดด้านเวลา

ถ้าแบ่งเป็นช่วงต้นปี กลางปี และปลายปี จะมีโปรโมชั่นล่อก็คือ ช่วงเวลาพิเศษของปีอย่าง “New Year SALE” “Mid Year SALE” และ “Year End SALE” เมื่อเป็นช่วงเวลาที่คนรู้สึกว่ามันพิเศษ ก็ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงการจำกัดเวลาแบบนับ countdown ว่าลดแค่วันที่…ถึงวันที่… ตอนนี้เหลืออีก…ชั่วโมง จะหมดช่วงลดราคา ก็ยิ่งกดดันให้คนต้องตัดสิ้นใจซื้อเดี๋ยวนั้น กดจ่ายกันจ้าละหวั่นกลัวไม่ทันเวลาโดยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังอีกที

เอาราคามาล่อ

สำหรับบางช่วงหรือบางร้านจะมีโปรโมชั่น “ซื้อครบ…ลดทันที…บาท” หรือ “ช้อบครบ…ส่งฟรี” ล่อตาล่อใจกันขนาดนี้ใครจะกล้าพลาด เพราะหลายคนมีความคิดว่าค่าส่งนั้นแพง ซื้อน้อยชิ้นก็ไม่คุ้มกับค่าส่ง ไหน ๆ ซื้อกี่ชิ้นก็ค่าส่งเท่าเดิม สู้ซื้อให้คุ้มกับค่าส่งไปเลยไม่ดีกว่าหรือ หรือแค่เพิ่มเงินอีกไม่กี่บาทก็ได้ส่วนลดแล้ว หรือแค่ซื้อเพิ่มอีกนิดหน่อยก็มีส่งฟรีอีก ท้ายที่สุดก็กดซื้อมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ใช้ไหมด้วยซ้ำ