
ประเด็นที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีคณะทำงานผู้ติดตามร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกแฉว่ากักตุนหน้ากากอนามัยมากถึง 200 ล้านชิ้น เพื่อขายต่อให้นายทุนจีนและผู้อื่น พร้อมทั้งตั้งราคาขายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
แม้ว่าเบื้องต้น ร้อยเอกธรรมนัสชี้แจงว่านายพิตตินันท์ รักเอียด ลูกน้องที่ตกเป็นข่าวได้ยืนยันกับตนเองว่าไม่ได้ซื้อขายหน้ากากอนามัยกับผู้ที่กักตุนสินค้า แต่หากภายหลังพบว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจริงก็พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีทันที
ในกรณีที่ลูกน้องสร้างปัญหาให้กับนายจ้างแบบนี้ หากมองในมุมคนทำงานก็คงต้อง “ไล่ออก” สถานเดียวถ้าเกิดพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะรังแต่จะนำความเดือดร้อนมาให้ แต่ถ้าใครไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบนี้ Tonkit360 มี 5 สัญญาณเตือน “ลูกน้องแบบนี้ต้องไล่ออก” มาฝากกัน
1.มีพฤติกรรมแย่ ๆ แบบหนักข้อ
เมื่อมีการตักเตือนลูกน้องถึงพฤติกรรมหรือผลงานที่ตกต่ำไปแล้ว แต่ยังไม่ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น และมีพฤติกรรมที่แย่ ๆ แบบหนักข้อขึ้นทุกวัน ก็คงไม่จำเป็นต้องให้โอกาสคนแบบนี้อีกต่อไป
2.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
หากคิดจะปลดพนักงานสักคน สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย นั่นคือประสิทธิภาพในการทำงานว่าลดลงจากเดิมหรือไม่ ต้องพึ่งพาทีมงานคนอื่นมากเกินไป หรือเป็นต้นเหตุให้งานเสร็จล่าช้าหรือไม่
3.ความกระตือรือร้นเริ่มหดหาย
ถ้าลูกน้องไม่สามารถจดจ่อกับการทำงานได้เหมือนเคย หรือไม่สามารถทำงานให้เสร็จได้ทันกำหนดเวลา เพราะความกระตือรือร้นเริ่มหดหาย ก็ไม่ควรปล่อยให้กินแรงเพื่อนร่วมงานต่อไป
4.มีความกบฏอยู่ในตัว!
การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่หากพนักงานคนใดมีความคิดเห็นเชิงลบ คอยปลุกปั่นเพื่อนร่วมงาน นินทาและแข็งขืนต่อคำสั่งหัวหน้า ก็อาจถึงเวลาที่ต้องปล่อยพวกเขาไปตามทาง
5.ถูกตำหนิจากลูกค้าหรือบริษัทที่ดีลงานด้วย
เมื่อใดก็ตามที่ต้องคอยแก้ตัวให้ลูกน้องอยู่บ่อย ๆ หลังจากถูกลูกค้าหรือบริษัทที่ติดต่องานด้วยตำหนิมา ก็อาจต้องพิจารณาอย่างจริงจังเสียทีว่าจะยังให้โอกาสพนักงานคนนี้ทำงานต่อไปหรือไม่
ที่มา : themuse.com