กรมศิลปากรให้ของขวัญปีใหม่ เปิดให้บริการและงดเก็บค่าเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและอุทยานประวัติศาสตร์ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2563 โดยเปิดให้เที่ยวชมแบบฟรีๆ ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2562 ไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่ง 11 อุทยานประวัติศาสตร์ มีดังต่อไปนี้
1. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เคยเป็นอดีตราชธานีของชาติไทยที่มีอายุกว่า 417 ปี โดยในปี พ.ศ.2534 ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จาก UNESCO ซึ่งภายในอุทยานมีโบราณสถานที่สำคัญมากมาย อาทิ พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดราชบูรณะ วิหารพระมงคลบพิตร วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดธรรมิกราช เป็นต้น
2. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกทางประวัติศาสตร์ของไทยอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกเช่นกัน เนื่องจากในอดีตเมืองสุโขทัยเคยเป็นราชธานีของไทย และมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ภายในอุทยานประกอบด้วยสถานที่สำคัญๆ อันได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กำแพงเมืองสุโขทัย วัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม เนินปราสาทพระร่วง วัดตระพังเงิน วัดสระศรี วัดศรีสวาย
3. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ในปี พ.ศ.2534 เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ถือเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ โดยโบราณสถานในอุทยาน มีรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 215 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเมืองโบราณศรีสัชนาลัย หรือ โบราณสถานภายในกำแพงเมือง ที่สำรวจพบแล้ว 28 แห่งสำคัญ
4. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้วัสดุศิลาแลง และรูปแบบศิลปกรรมไทยดั้งเดิม โดยได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2534 โดยโบราณสถานภายในอุทยานเกือบทั้งหมด เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา อาทิ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ ศาลพระอิศวร
5. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไปที่ดับสนิทแล้ว เป็นโบราณสถานเนื่องในอิทธิพลอารยธรรมเขมรโบราณที่มีความงดงาม และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ หนึ่งในสามเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู (ตรีมูรติ) ลัทธิไศวะนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ
6. อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จ.นครราชสีมา
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบราว 2,658 ไร่ โดยคำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมร ดังนั้นเมืองพิมาย จึงเชื่อได้ว่าเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ ที่มีการพัฒนาของชุมชนและสังคมตามลำดับ
7. อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี
ปราสาทเมืองสิงห์ เป็นโบราณสถานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศไทย ได้รับรูปแบบทางศาสนาและวัฒนธรรมมาจากประเทศกัมพูชา เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 (ศิลปะขอมแบบบายน) เป็นโบราณสถานในพุทธศาสนามหายาน ลักษณะของเมืองสิงห์เป็นเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย และกำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง ภายในตัวเมืองมีสระน้ำ 6 สระ และสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาอีก 4 แห่ง
8. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 ชื่อเรียก “ศรีเทพ” เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย โดยพื้นที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันยังปรากฎร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
9. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนเขาภูพระบาท ซึ่งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างตำบลเมืองพาน และตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ชื่อ “ภูพระบาท” มีที่มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้ และภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไป ซึ่งมีโบราณสถานที่น่าสนใจภายในอุทยาน อาทิ หอนางอุสา ถ้ำพระ ถ้ำวัว-ถ้ำคน เป็นต้น
10. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จ.เพชรบุรี
พระนครคีรีหรือเขาวัง เดิมเป็นพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่บนยอดเขา 3 ยอดติดต่อกัน ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญบนพระนครคีรี อาทิ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย พระที่นั่งสันถาคารสถานและกลุ่มอาคารในบริเวณ 8 หลัง โรงมหรสพ หรือ โรงโขน พระธาตุจอมเพชร เขตพุทธสถานวัดพระแก้ว(น้อย)
11. อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว
ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของประเทศไทย คำว่า “สด๊อกก๊อกธม” เป็นภาษาเขมร หมายถึง “กกกอใหญ่” โดยผังบริเวณของปราสาทสด๊อกก๊อกธม สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล ตั้งอยู่บนเนินดินสูงกว่าพื้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในบ้านหนองหญ้าแก้ว หมู่ 9 ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
ข้อมูลจาก : กรมศิลปากร และ www.museumthailand.com