
ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในตอนนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพิ่งลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าวตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนเสนอมา ส่งผลให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรสื่อมวลชนอีก 30 องค์กร รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอและให้มีการหารือร่วมกัน พร้อมกล่าวด้วยว่ายังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องพิจารณา เพราะหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐบาล ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ในรายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เรื่อง “การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ระบุไว้ว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อในปัจจุบันไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเห็นสมควรให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนายจ้าง หรือหน่วยงานใด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อย่างไรก็ตาม นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เปิดโอกาสให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และ 35 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อ และขัดกับมาตรา 77 บัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด
ส่วนเนื้อหาที่น่าสนใจในร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว มีดังนี้
-การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
มาตรา 76
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือบุคคลอื่นใด จะสั่งการหรือกระทำการใดให้การเสนอข่าวผิดไปจากจริยธรรมสื่อมวลชน หรือจำกัดการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระมิได้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องประพฤติและปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างจะกระทำการใดที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้รับผลร้ายในทางใด ๆ เพราะเหตุที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสุจริตและชอบด้วยจริยธรรมสื่อมวลชนมิได้
มาตรา 77
การกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือจริยธรรมสื่อมวลชน
-มาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
มาตรา 84
ผู้ใดได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน และประสงค์จะได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการเยียวยา ให้ร้องเรียนตามบทบัญญัติในมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 17 และ มาตรา 18 แล้วแต่กรณีผู้ร้องเรียนผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีในการใช้สิทธิทางศาล
มาตรา 85
ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ตักเตือน หรือตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษร
(2) มีคำสั่งให้เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ
(3) เผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ
(4) เพิกถอนสมาชิกสภาพ
-บทกำหนดโทษ
มาตรา89
ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับโทษตามมาตรา 85 (1) (2) (3) แต่ไม่ปฏิบัติตาม ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจปรับทางปกครอง ดังนี้
(1) ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพเป็นครั้งแรก ให้ลงโทษปรับทางปกครองชั้น 1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
(2) ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพเป็นครั้งที่สอง ให้ลงโทษปรับทางปกครองชั้น 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
(3) ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพในกรณีร้ายแรง ให้ลงโทษปรับทางปกครองชั้น 3 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และเพิกถอนสมาชิกสภาพ
มาตรา 90
ในกรณีที่ถูกลงโทษตามมาตรา ๘๙ แต่ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนถูกต้องให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 91
ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยไม่ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามมาตรา 30 (1) จากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ต้องระวางโทษจ าคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 92
องค์กรสื่อมวลชนใด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8 หรือ รับบุคคลซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลตามพระราชบัญญัตินี้เข้าปฏิบัติงานเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อมวลชนในองค์กรสื่อมวลชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ยินยอมแก้ไขตัดมาตรา 91 และ 92 เรื่องบทลงโทษสื่อมวลชนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทิ้งไปตามที่ถูกทักท้วงเข้ามา โดยจะเปลี่ยนจาก “ใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” เป็น “ใบรับรอง” ที่จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกใบรับรองให้แทน
ส่วนคำนิยาม “สื่อมวลชน”ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ เพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมากด้วย เพราะถือเป็นทั้งนักข่าว และบรรณาธิการ เพียงแต่ไม่มีสังกัด แม้ไม่มีรายได้เป็นค่าตอบแทนโดยตรง แต่มีรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากโฆษณาออนไลน์