สารพิษตกค้างในอาหาร อันตรายและส่งผลอย่างไรบ้างกับเรา

อาหารการกินเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิต เนื่องด้วยความต้องการของร่างกายที่อาหารจะมอบให้ทั้งพลังงานและแร่ธาตุต่าง ๆ และเรื่องของอาหารถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนในแง่ของความถูกสุขอนามัยและสิ่งเจือปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพิษตกค้างในอาหารจากอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ถือเป็นวาระที่น่าจับตาระแวดระวังมากที่สุดในขณะนี้ ดังเช่นเรื่องของสารพิษตกค้าง

สังเกตกันไหมว่าในปัจจุบันมนุษย์เราเจ็บป่วยกันมากและง่ายขึ้น เรื่องภูมิคุ้มกันก็เป็นอีกส่วนหนึ่งแต่เรื่องที่ควรตระหนักรู้แท้จริงแล้วคือการสะสมของสารพิษในร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร ซึ่งสังคมไทยยังขาดการรับรู้ในเรื่องดังกล่าวอยู่มาก ความอันตรายนี้เกิดขึ้นกับทั้งตัวเกษตรกรเองและตัวผู้บริโภคด้วย อันตรายทั้งหมดนี้ล้วนพบว่ามาจากสารพิษตกค้างจากสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรเป็นหลัก

ปัญหาด้านอันตรายจากสารพิษตกค้าง

ผลกระทบต่อสุขภาพจากพิษของสารเคมีที่ตกค้างสู่ร่างกาย สารมารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

  1. ผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะมีอาการทันที เช่น อาเจียน เวียนหัว มีแผล ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว มีแผลลุกลาม เนื่องจากการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงด้วยความไม่รู้หรืออุบัติเหตุก็ตาม
  2. ผลกระทบที่สะสมเป็นพิษเรื้อรัง ซึ่งเป็นการสะสมของสารพิษในร่างกายผ่านการรับประทานเป็นหลัก สะสมจนเป็นผลให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคผิวหนัง โรคเกี่ยวกับความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และสามารถส่งต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์จนอาจทำให้ทารกพิการได้

หนึ่งในสารพิษที่ส่งผลกระทบซึ่งกำลังตกเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้คือ พาราควอต สารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้กำจัดวัชพืช เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติต่อการทำงานของใบพืชโดยทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้เมื่อฉีดพ่นจึงทำให้วัชพืชเหี่ยวตาย ทั้งยังคุ้มค่าต่อการลงทุนด้วยประสิทธิภาพที่สูงกับต้นทุนที่ต่ำซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

อันตรายจากสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรจากทั้งเชิงการใช้งานที่เกษตรกรอาจมีความหละหลวมในการป้องกันตัวจากสารเคมีที่มีพิษเหล่านี้ โดยอาจทำให้เกิดการรั่วไหลและเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้ ส่วนในเชิงของผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ คือการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมอย่างแหล่งน้ำและการตกค้างในผลผลิต

จากการเก็บตัวอย่างของผลผลิตเพื่อไปวัดและวิเคราะห์ค่าสารพิษตกค้าง ที่เรียกว่าค่า MRL (Maximum Residue Limit) เป็นค่ากำหนดมาตรฐานของปริมาณสารพิษตกค้างในอาหารตามประกาศขององค์การอาหารและยา โดยผลตรวจในปีนี้พบว่าผักและผลไม้มีค่าสารพิษตกค้างมากถึง 41% และมีข้อมูลระบุว่าผลผลิตที่นำเข้ามาค่าสารพิษตกค้างมากกว่าผลผลิตในประเทศ รวมถึงผักผลไม้ในห้างร้านปนเปื้อนมากกว่าในตลาดสด

เป็นสิ่งที่ตัวผู้บริโภคเองล้วนต้องตระหนักถึงผลกระทบในระยะยาว เพราะจัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสะสมสารพิษและส่งผลแบบเรื้อรังนำพาสู่โรคร้ายต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น การพิถีพิถันในการเลือกผักและผลไม้รวมถึงขั้นตอนการล้างก่อนปรุงล้วนสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น หรือการเลือกซื้อผักปลอดสารพิษที่เราได้รู้เห็นด้วยตัวเองว่ามาจากการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีจริง ๆ ถึงแม้สภาพอาจดูไม่สดสวยแต่เพื่อสุขภาพที่เสี่ยงต่ออาการป่วยน้อยลงถึงอย่างไรก็คุ้มค่า