ประเด็นศาสนาเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอยู่ตลอดเวลา จนบางทีเราเกิดความคิดว่า เราสามารถแตะอะไรในประเด็นที่เกี่ยวข้องนี้บ้าง? ยิ่งเกิดประเด็นที่น่าสนใจอย่าง “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ขึ้นมาแล้วยิ่งเป็นกระแสที่สังคมแบ่งออกเป็นหลายความคิดเห็น แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแน่ ๆ
เราขอรวมข้อมูลน่าสนใจที่รู้เอาไว้ก็ไม่เสียหายเกี่ยวกับ พระพุทธรูป และ อุลตร้าแมน ว่ามีต้นกำเนิดอย่างไร?
จากรายการ เอาให้ชัด ทางช่อง ONE31 ที่ได้เชิญพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ มาสัมภาษณ์เพื่อซักถามความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ทำให้เราได้ประเด็นที่น่าสนใจมาหนึ่งเรื่องนั่นก็คือ แท้จริงแล้วอุลตร้าแมนอาจมีต้นแบบมาจาก พระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย
เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและน่าติดตามต่อมาก ๆ สำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อุลตร้าแมนคงจะเบื่อหน่ายกับประเด็นนี้ไปแล้ว เพราะปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์และการเคลมผลงานเป็นเรื่องที่รุงรังกันมาไม่รู้กี่สิบปี แต่สิ่งที่อาจเป็นเรื่องจริงนั่นก็คือต้นแบบของยอดมนุษย์อุลตร้าแมนที่เราคุ้นเคยกันดี อาจจะมาจากพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนี่เอง เพราะสมโพธิ แสงเดือนฉายคนไทยหนึ่งในทีมออกแบบอุลตร้าแมนได้นำพระพุทธรูป พระอัฏฐารส จังหวัดสุโขทัยไปเป็นต้นแบบในการออกแบบ

แต่เรื่องราวแท้จริงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เรารู้แต่เพียงว่าอุลตร้าแมนเป็นตัวละครที่มีคอนเซปต์ในด้านดี เป็นฮีโร่ที่คอยปกป้องโลก เป็นตัวละครฝ่ายธรรมะที่ทำแต่เรื่องดี ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คนมาตั้งแต่วัยเด็ก
พระอัฏฐารส ถือเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย เป็นเหมือนสัญลักษณ์หนึ่งของศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างแบบเดียวพระพุทธรูปในอินเดีย อัฟกานิสถาน ที่มักจะสร้างโดยการแกะภูเขาเข้าไป แต่เนื่องจากสุโขทัยไม่ค่อยมีภูเขาจึงสร้างคล้าย ๆ มณฑป หรือห้องสี่เหลี่ยมล้อมรอบเอาไว้ แต่จะแคบมาก มีไว้ค้ำยันไม่ให้พระพุทธรูปล้ม
มีการสร้างพระอัฏฐารสในหลายจังหวะ และก็มีความสำคัญต่อสถานที่นั้นในฐานะโบราณวัตถุที่ต่างกันออกไป
ต้นแบบพระพุทธรูปที่มาจากชาวตะวันตก
ถึงแม้จะเป็นศาสนาที่มีอายุกว่า 2,500 ปี แต่สมัยนั้นยังไม่ได้มีรูปเคารพที่เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ว่ากันว่าไม่มีใครกล้าสร้างรูปปั้นหน้าพระพุทธเจ้าเพราะกลัวว่าจะไม่เหมือน เลยได้แต่เผยแพร่คำสอนและสร้างสัญลักษณ์อย่างอื่นขึ้นมาแทน ไม่ว่าจะเป็นธรรมจักร สถูป ต้นโพธิ์ รอยพระพุทธบาท เป็นต้น
พระพุทธรูปองค์แรกบนโลกที่เป็นพระพุทธรูปสไตล์กรีก ซึ่งน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 200-300 ณ บริเวณประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่างจากกรีกจึงได้อิทธิพลและเทคนิคการสร้างประติมากรรมแบบกรีกไปเต็ม ๆ เป็นสไตล์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างรูปปั้นร่างกายแบบอุดมคติ เสื้อผ้ามีรายละเอียดรอยยับแบบกรีก รูปปั้นการยืนทิ้งน้ำหนักไปที่ขาข้างเดียว ผมหยิกแบบชาวเมดิเตอร์เรเนียน หรือเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเป็นศิลปะแบบ Greco-Buddhist art ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ Tokyo National Museum
แล้วเราก็จะพบว่าช่างชาวกรีกได้นำแนวความคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าไปสร้างเป็นประติมากรรมร่วมกับเทพปกรณัมกรีกโรมันหลายชิ้นเลยทีเดียว
หากเราศึกษาลึกลงไปอีกก็จะพบว่าพระพุทธรูปแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะไม่เหมือนกัน และจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามช่างแต่ละคน การได้รับอิทธิพลของศิลปะมาจากต่างที่กัน ก็ทำให้พระพุทธรูปมีรายละเอียดไม่เหมือนกันแล้ว นั่นทำให้เราต้องมองมุมใหม่ ไม่ยึดติดกับเปลือกที่เป็นเพียงตัวแทน แต่ให้ลองมองดูในคำสอนเหล่านั้นว่าสอนอะไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
Facebook ประวัติศาสตร์ศิลปะ
https://en.wikipedia.org/wiki/Greco-Buddhist_art