ทีมงาน Tonkit360 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์และสอบถามความคิดเห็นทางการเมืองกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในประเด็นหลักว่าด้วย ทิศทางของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่ง รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ไว้ดังนี้
ประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางไหนหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ?
“ตรงนี้ผมคิดว่าในการเลือกตั้งปี 2562 ที่เกิดขึ้นค่อนข้างจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทยเลย เพราะว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะชี้ทิศทางอนาคตจะชี้ทิศทางอนาคตทางการเมือง แล้วก็จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์ของพี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อย คราวนี้พอเป็นการลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์เนี่ยเราก็จะพบได้เลยครับว่ากระบวนการในการลงคะแนนของประชาชนนั้นก็จะเป็นลักษณะของการมุ่งไปสู่การเกิดสองขั้วการเมืองใหญ่ ๆ แล้วคะแนนเสียงก็ปริ่มน้ำ หรือไล่เลี่ยกันค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
ดังนั้นทิศทางของการเมืองไทยหลังจากนี้ ผมคิดว่าคงจะมีทิศทางออกมาได้สัก 4 – 5 แบบ
แบบที่ 1
นั่นก็คือสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คือสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไปรวมกับสองสภาก็ได้เสียงเกินกว่า 376 ซึ่งอันนี้เป็นทางที่ไม่น่าจะมีปัญหาที่สุด
ทางที่ 2
คือสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แต่เป็นรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ถ้าเป็นแบบนี้โอกาสที่รัฐบาลจะเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองระยะยาวก็จะเกิดขึ้นนะครับ แล้วก็ในหลายกิจกรรมนั้นแม้ว่าส.ว.จะร่วมโหวตนายกฯก็จริง แต่ว่าลงมาร่วมกับทางส.ส.ได้ไม่ทั้งหมดในทุกกิจกรรมทางการเมือง แล้วก็จะเกิดปํญหาเรื่องของการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ดีหรือว่าในพรรคที่อยู่ในรัฐบาลด้วยกันก็ดี ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะเป็นปัญหาสำหรับการเมืองในลักษณะรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ในทางที่ 3
ก็คือสามารถรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกว่า 250 ขึ้นไปแต่ไม่สามารถรวมเสียงได้เกินกว่า 376 นั่นก็คือไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และถ้าเป็นอย่างนี้ จากสภาวะดังกล่าวก็จะเกิดปัญหาอีกแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีส.ส.ครบสมบูรณ์มีส.ว.ครบสมบูรณ์ แต่ว่าไม่สามารถจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติถือว่าสิ้นสภาพไปโดยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดปัจจุบันก็จะอยู่ต่อ
ซึ่งหมายถึงว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็จะต้องอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องของการทำงานระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารได้ และที่สำคัญถ้าประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง มาจากพรรคการเมืองซึ่งไม่ได้มีอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็จะยิ่งเกิดปัญหามากขึ้นไปอีก
แนวทางที่ 4
ก็คือการเกิดรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งการเกิดรัฐบาลแห่งชาตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายมากมายรูปแบบ อาจจะมีลักษณะของการที่มีนายกรัฐมนตรีคนนอก และสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนก็ได้ หรือมีพรรคฝ่ายค้านน้อยก็ได้ หรือจะไม่มีพรรคฝ่ายค้านเลยก็เป็นไปได้ อันนี้ก็เป็นอีกทางหนึ่ง
ทางสุดท้าย
ก็คือการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ซึ่งตรงนี้ก็จะส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนซึ่งเขาได้ไปแสดงเจตจำนงผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง แล้วก็ทำให้กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเริ่มต้นใหม่หมด พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็อาจจะต้องไปเลือกตั้งกันใหม่เพราะว่าไม่ได้รับการรับรอง หรือการเลือกตั้งนั้นก็เป็นโมฆะนั่นเอง ดั้งนั้น 4 – 5 แบบจะเป็นทิศทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นได้
หากการเลือกตั้งเกิดโมฆะขึ้นจริง การเมืองไทยจะกลับมาวนลูปเดิม ?
“ผมคิดว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ คำถามจะเกิดขึ้นจากสังคมต่อการทำงานของ กกต. จะยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้การทำงานของ กกต. ก็ถูกตั้งคำถามถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางพอสมควร และยิ่งถ้าการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกเรื่องความเชื่อมั่นของ กกต. ก็เป็นส่วนหนึ่ง และการวิพากย์วิจารณ์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือการตั้งคำถามต่อความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในภาพรวม
อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะว่าถ้าคนในสังคมไม่เชื่อมั่นว่ากลไกแบบรัฐสภาหรือกลไกในระบอบการเมืองแบบตัวแทนนั้นจะสามารถแก้ปัญหาให้กับเขาได้ระยะยาว อาจจะเกิดปัญหาที่ทำให้คนนั้นออกมาสู่การเมืองแบบมวลชนบนท้องถนน อย่างการเกิดม็อบ หรือเรื่องของมวลชนพยายามเข้าใช้อำนาจอธิปไตยเองโดยตรงไม่ผ่านการเมืองจากสภา ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เราก็ได้เห็นกันมาแล้วในช่วง 10 ปีแห่งความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในช่วงปี 48-49 มาจนถึงช่วงปี 51-53 จนปี 57 เราแทบจะเห็นโดยตลอดเวลา
ดังนั้นถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เรื่องคำถามต่อความล้มเหลวต่อระบอบรัฐสภานี้จะวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทย”
หากเกิดการมีนายกฯคนนอกจะส่งผลกับประเทศไทยยังไงบ้าง ?
“ถ้าจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จนะครับ กลไกในรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่านายกฯคนนอก ทีนี้การมีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีเนี่ยก็อยู่ในบทเฉพาะกาล มาตรา272 ในบทเฉพาะกาลดังกล่าวนี้ได้ทำให้เกิดกระบวนการที่ให้ ส.ส. รวมกับ ส.ว. ให้ได้เกินกว่า 376 เสียง ขอเปิดอภิปรายเพื่อที่จะปลดล็อคนายกฯ
ส่วนในขั้นตอนในการปลดล็อคนั้นต้องใช้เสียงเยอะเลยทีเดียว คือต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภาที่มีอยู่ 750 ก็คือ 500 เสียง และนอกจากนี้ยังต้องกลับมาเลือกนายกฯกันใหม่อีก โดยใช้เสียงในสภาไม่น้อยกว่า 376 ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่ากลไกมันซับซ้อน และนอกจากนี้ในความซับซ้อนตรงนี้ก็ต้องใช้เสียงซึ่งค่อนข้างจะเกือบเป็นฉันทานุมัติ ก็คือจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างยิ่งในการที่จะปลดล็อค
แต่กระนั้นก็ตามไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับการที่จะมีนายกฯคนนอก ผมคิดว่ามีทั้งปัจจัยก็ดี บริบท เงื่อนไขทางการเมืองต่าง ๆ ก็ดี ที่จะส่งผลต่อการเกิดนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือว่าอาจจะเรียกว่ารัฐบาลแห่งชาติก็แล้วแต่ ปัจจัยที่ว่านั้นมีอยู่ 2 เรื่อง
ก็คือกติกาได้เปิดช่องเอาไว้ กติกาเอื้ออำนวยที่จะเกิดนายกฯคนนอก เช่น มาตรา272 รัฐธรรมนูญให้มีนายกฯปลดล็อคได้ หรือการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีนั้นต้องเป็น ส.ส. หรือแม้กระทั่งกระบวนการในการเลือกตั้งที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้คะแนนเสียงกระจัดกระจาย และการจัดตั้งรัฐบาลนั้นก็ต้องอาศัยพรรคร่วมซึ่งทำให้ฝ่ายสภานั้นอาจจะอ่อนแอ ในขณะเดียวกันบริบททางการเมืองซึ่งเสียงวันนี้ค่อนข้างปริ่มน้ำระหว่างสองขั้วการเมืองใหญ่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการในเรื่องของการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้นเป็นไปได้ เพราะสองขั้วการเมืองใหญ่ไม่สามารถตัดสินได้อย่างเด็ดขาดว่าใครจะได้รับชัยชนะ
สำหรับเงื่อนไขก็มีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือการที่ในครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ยอมรับวินิจฉัยในเรื่องของการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็จะทำให้กระบวนการในการเดินหน้าต่อนั้นมีความเสี่ยงเพราะว่า กกต. ต้องวินิจฉัยเอง สุดท้ายจะเกิดกระบวนการที่ทำให้ กกต. มีผลเป็นโมฆะจากการวินิจฉัยผิดหรือไม่ หรือภายหลังมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญออกมา เช่น มีคนไปร้องเรียนหลังจากคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้ว หรือแม้กระทั่งคดีความต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับใบส้ม ใบเหลือง หรือหลังจากนี้อาจจะมีใบแดง หรือคดีต่าง ๆ อีกมากมาย”
เรื่องของวาทกรรมสร้างความแตกแยก
“เรื่องของวาทกรรมหรือที่เราเรียกว่า Hate speech เนี่ยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยค่อนข้างยืดเยื้อยาวนาน และหากถามว่าจะทำอย่างไรให้วาทกรรมความขัดแย้งลดลง ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะวันนี้ความขัดแย้งในสังคมไทยมันกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ว่ามีประเด็นอะไรเข้ามาสู่สังคมจะมีความเห็นที่ต่างกันไปเป็นสองมุมเสมอ และความเห็นสองมุมดังกล่าวก็จะทำให้เกิดประเด็นที่ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เกิดการใช้วาทกรรมเอาชนะกัน
หากคิดว่าใครควรเป็นคนเริ่มที่จะแก้ปัญหานี้ คงต้องบอกว่าทุกฝ่ายวาทกรรมความขัดแย้งนั้นมันมาจากคนทุกกลุ่มไม่ได้มาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นวันนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการยึดกติกา การเมืองต้องมีธรรมาภิบาลต้องมีเรื่องของหลักนิติธรรมและไม่เกิดการเลือกปฏิบัติหรือทำให้เกิดความไม่เสมอภาคต่าง ๆ และที่สำคัญกติกาต้องเป็นสิ่งที่ยอมรับร่วมกัน วันนี้เราเห็นได้เลยว่ากติกาที่เป็นจุดตั้งต้นคือรัฐธรรมนูญ 60 เนี่ยคนไม่ได้ยอมรับร่วมกัน ทีนี้พอไม่ยอมรับร่วมกันปัญหามันจึงเกิดขึ้น เพราะว่าผลผลิตของกติกาเหล่านั้นก็จะทำให้คนไม่ยอมรับด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การเลือกตั้งที่วันนี้คนไม่ยอมรับก็เพราะกติกาอย่างระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ถูกเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้กับ ส.ว. เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวาระแรก เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพให้เห็นว่า กติกาซึ่งเป็นจุดตั้งต้นถ้ามันไม่เป็นที่ยอมรับปัญหาอื่นมันก็จะเกิดขึ้น และเช่นเดียวกันกับเรื่องของ Hate speech มันก็มาจากการไม่ยอมรับกันเป็นหัวใจหลัก เพราะฉะนั้นการจะสร้างความยอมรับต้องเกิดความเป็นธรรมก่อน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมก็ไม่มีความปรองดอง “
ตัวแปรสำคัญที่จะนำพาประเทศเดินทางไปข้างหน้าระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า
“ปัญหาระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเมือง แต่ว่ามันเป็นการเปลี่ยนของบริบททางเศรษฐกิจทางสังคม และเป็นการเปลี่ยนตามโลกาภิวัฒน์ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าจะมีทัศนคติความเชื่อและค่านิยมที่ต่างกัน รวมถึงเรื่องการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน
ถ้าทำให้คนสองรุ่นมีจุดร่วมที่ตรงกันได้ เช่น คนรุ่นเก่าเองก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีโอกาสบ้างทั้งทางการเมืองหรือสังคม ในขณะเดียวกันบรรดาคนรุ่นใหม่เองก็ต้องมองว่าการเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ของคนรุ่นเก่ามาผยวกผสานกับความคิดของคนรุ่นใหม่ก็จะทำให้ทุกอย่างเดินไปได้
แต่วันนี้สองส่วนนี้กลายเป็นการเมืองในเชิงวัฒนธรรม เราจะเห็นได้ว่าการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันมันมีจุดหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่เรารู้กันคือ ความเป็นไทย ความเป็นไทยจะอยู่ยังไงในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งคนรุ่นใหม่เขาอยู่กับโลกาภิวัฒน์แต่คนรุ่นเก่าก็ยังอยู่กับวัฒนธรรมความเป็นไทยอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือฐานสำคัญที่จะมีผลต่อทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ ทางสังคม การเมือง และนำไปสู่การมีแนวคิดแม้กระทั่งกระบวนการต่าง ๆ ทางการเมืองที่จะตามมา
เพราะฉะนั้นทุกวันนี้วิธีคิดเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกันที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนสองกลุ่มเกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ถ้าเราปล่อยให้สังคมอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านนานเท่าไหร่สังคมไทยจะยิ่งถดถอยมากยิ่งขึ้น ทั้งการเมืองก็ดีหรือเศรษฐกิจก็ดี การที่จะทำให้ระยะเปลี่ยนผ่านสั้นลงคือการพูดคุยกันมากขึ้นหรือการปรับความเข้าใจของคนระหว่างสองเจเนเรชั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”