ความสั่นคลอนของครอบครัวไทยที่ความรักไม่อาจเยียวยา
เป็นอย่างไรบ้างคะ ช่วงหยุดสงกรานต์หวังว่าทุกท่านคงได้ใช้วันหยุดกันให้คุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 14 เมษายนที่ถูกจัดให้เป็นวันครอบครัวของประเทศไทย คำว่า ครอบครัว ในภาษาอังกฤษ Family ออกมาได้อย่างน่าสนใจว่า F= Father (พ่อ) A= and (และ) M=Mother (แม่) ILY = I love you (เรารักกัน) เป็นการตีความที่แยกพยัญชนะแต่ละตัวได้สอดคล้องกับคำว่าครอบครัวจริงๆค่ะ
แต่ดูเหมือนว่าคำว่าครอบครัวในปัจจุบันของสังคมไทย ออกจะสั่นคลอนไม่น้อย เพราะสถิติการหย่าร้างของกรมการปกครองเมื่อปี 2559 นั้นมีการหย่าร้างสูงขึ้นเพราะปีที่แล้วเพียงปีเดียวคู่สามีภรรยาในประเทศไทยหย่ากันไปแล้ว118,539 คู่ และสถิติหย่าร้างสูงสุดแยกเป็นรายจังหวัดนั้นได้แก่ เขต 10 กรุงเทพมหานคร ที่ปี 2559 หย่ากันไป 16,081 คู่ นั่นหมายความว่า มีการหย่าร้างประมาณ 44 คู่ต่อวัน (โอ้แม้เจ้า)
เป็นเรื่องน่าตกใจนะคะ เพราะนี่เป็นการเลิกร้างเฉพาะที่จดทะเบียน แล้วที่ไม่จดทะเบียนจะมีอีกจำนวนเท่าไร และกลายเป็นคำถามที่ผู้เขียนเองได้นำไปเปิดประเด็นกับเพื่อนฝูง ทั้งที่ผ่านการหย่ามาแล้ว ผู้ที่ขาเตียงยังแน่นเป็นสิบปี หรือแม้กระทั่ง คนที่หย่าไปแล้วและกำลังจะแต่งใหม่รอบที่สอง
ต้องบอกก่อนว่า เจนเนอเรชั่นของผู้เขียนนั้นเป็นพวกเจนเอ็กซ์ ดังนั้นอายุอานามก็ไม่ใช่วัยรุ่นกันแล้ว สำหรับเรื่องการหย่าร้าง ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับพวกเรา แต่สถิติที่สูงขึ้นต่างหากเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะคนในวัยผู้เขียนนั้นเติบโตมาในสังคมที่สถาบันครอบครัวค่อนข้างมีความเข็มแข็ง พ่อแม่ทะเลาะกันขนาดไหนก็ตาม เรื่องที่จะเดินไปอำเภอแล้วหย่ากันง่ายๆ เหมือนสมัยนี้ไม่มี เพราะนอกจากต้องการรักษาสภาพจิตใจของลูก (เชื่อเถอะว่าสภาพจิตใจของเด็กที่พ่อแม่เลิกกันไม่มีใครโอเคนะแม้พวกเขาจะบอกว่าโอเคอยู่ก็ตาม) สถานะทางสังคมในการเป็นพ่อม่าย แม่ม่ายจากการหย่านั้น มันไม่ได้ทำให้กลับมาเป็นหนุ่มสาวเนื้อหอมกันใหม่ เหมือนในสมัยนี้
เพื่อนฝูงที่ผ่านการหย่าร้างของผู้เขียนนั้นบอกว่าสมัยนี้ตัดสินใจเรื่องครอบครัวง่ายเพราะเมื่อแต่งงานกันแล้วจะกลายสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยวแยกออกมาจากพ่อแม่ของแต่ละฝ่ายกันหมด ทั้งหญิงและชาย หากมีงานทำก็จะตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายหญิง เพราะนั่นหมายความว่าสามารถดูแลได้ทั้งตนเองและลูก แม้จะหนักแต่ก็ดีกว่าต้องยอมทนอยู่ กับชีวิตคู่ที่ไม่พึงใจ
ส่วนเพื่อนชายที่กำลังจะแต่งงานรอบที่สองของผู้เขียนนั้น บอกว่า สมัยนี้สิทธิของหญิงและชายในเรื่องของครอบครัวนั้นเท่ากัน มันไม่ใช่การตัดสินใจของพ่อหรือสามีอย่างเดียวแล้ว ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็พัฒนาไปไกลเอื้อให้ได้เจอสิ่งเร้ารอบกายเยอะ มันก็เลยทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ถ้ารักกันไม่มาก สตรองไม่พอ เสาของคำว่าครอบครัวก็หักโค่นได้ง่าย เหนืออื่นใดบรรดาเพื่อนฝูงที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สมัยนี้คู่แต่งงานคู่ไหนถ้าไม่พอใจก็ไม่อดทนกันแล้วเพราะรู้สึกว่า ไม่จำเป็นเนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็ต้องการความพอใจของตนเองเป็นหลัก
ฟังคำอธิบายมาทั้งหมดนี้ นี่รู้สึกเศร้านะคะ เพราะนั่นหมายความว่าสถาบันครอบครัวในเมืองไทยจะต้องถูกท้าทายอย่างหนักจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม และทำให้รู้สึกว่า “ความรัก” ในยุคนี้กลายเป็นเพียงเครื่องประดับสถานะที่สามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ตลอดเวลา