เปิดกฎหมายเรื่อง “การขออนุญาตใช้เสียง” กรณีศึกษาจากงาน S2O

สืบเนื่องจากคอนเสิร์ต S2O Songkran Music Festival ซึ่งจัดโดยทีมงานของ “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา มีขึ้นต่อเนื่อง 3 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ย่านอาร์ซีเอ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนที่ผ่านมา จนทำให้คอนโดย่านพระรามเก้าที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากเสียงเพลงกระจกร้าวเป็นทางยาว และเจ้าของห้องไม่สามารถอยู่ในห้องพักได้ เนื่องจากมีเสียงดังตลอดทั้งคืนนั้น

https://www.facebook.com/queentogetherisone/videos/vb.871684976268005/937892039647298/?type=2&theater

ล่าสุดในวันนี้ เฟซบุ๊กเพจ Woody ชี้แจงอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ทีมงาน S2O ติดต่อกับทางนิติบุคคลของคอนโดดังกล่าวมาโดยตลอดตั้งแต่ทราบเรื่อง ซึ่งทีมงานได้ประสานไปแล้วว่าจะดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระจกให้ แต่เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล จึงเกิดความล่าช้าในการหาช่างเข้าไปซ่อม แต่ขณะที่ลงประกาศช่างกำลังเข้าไปภายในวันนี้แล้ว”

https://www.facebook.com/WOODYTALKSHOW/posts/10154607618462689

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า ฝ่ายผู้จัดคอนเสิร์ตได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 หรือไม่

พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535
โดยพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 5 ว่าด้วยเหตุรำคาญ มาตรา 25 (4) ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรําคาญ หากการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น หากจะจัดคอนเสิร์ต หรือมหรสพใดๆ จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการการจัดให้มีการแสดงดนตรี ดิสโก้เทคฯ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

พ.ร.บ.ควบคุมการใช้เสียง และเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493
ขณะเดียวกันก็ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้เสียง ตามพ.ร.บ.ควบคุมการใช้เสียง และเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย เพราะเข้าข่ายการโฆษณาใช้เสียงกิจการประเภทงานมหรสพต่างๆ ซึ่งในพ.ร.บ.ระบุว่าห้ามอนุญาตและห้ามใช้เสียงโฆษณาในระยะใกล้กว่า 100 เมตร จากบริเวณสถานที่ใดสถานที่หนึ่งดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรงพยาบาล วัด หรือสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจ และ ทางแยกที่มีการสัญจรไปมาคับคั่งอยู่เป็นปกติ

แจ้งตร.ในพื้นที่ให้ดูแลรับผิดชอบและรับทราบ
นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งการจัดงานมหรสพต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหรือเจ้าพนักงานตำรวจในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ให้มาควบคุมกำกับดูแลรับผิดชอบหรือได้รับทราบเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย หากไม่แจ้งแล้วเกิดเหตุร้ายขึ้นในงาน ผู้จัดงานถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา และความรับผิดทางแพ่งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย

ต้องยื่นขออนุญาตทั้งสน. และสำนักงานเขต
ส่วนขั้นตอนการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในการจัดกิจกรรม มหรสพ ผู้จัดงานจะต้องนำคำร้องที่จะยื่นขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงไปให้สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อขออนุญาตเบื้องต้น จากนั้นจึงจะนำมาให้สำนักงานเขตออกใบอนุญาต และกลับไปให้สถานีตำรวจท้องที่อีกครั้ง เพื่อลงชื่อรับรองในคำร้องอีกรอบ ก่อนนำไปอนุญาตใช้จัดงานได้