วิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 กับแนวทางรับมือของ กทม.

หลังกรุงเทพฯ เผชิญปัญหาฝุ่นละอองอย่างหนัก ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนเกิดแฮชแทค #PM25 #ฝุ่นละออง และ #ฝุ่นกรุงเทพ เพื่ออัพเดทสภาพมลพิษทางอากาศกันแบบรัว ๆ พร้อมทวงถามถึงมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานจากภาครัฐและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

และวันนี้ (14 มกราคม 2562) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหารือแนวทางการแก้ปัญหา โดยบทสรุปมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของ กทม. เบื้องต้น มีรายละเอียด ดังนี้

แผนระยะสั้น กทม. 

– สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต หมั่นล้างทำความสะอาดถนน ทางเท้า และเส้นทางที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า
– ระดมรถน้ำ​ รถดับเพลิง​ ของ ปภ. และ​ กทม.​ พ่นน้ำในอากาศเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดฝุ่นละออง หรือ PM 2.5
– แจกหน้ากาก N95 จำนวน 10,000 อัน ให้แก่ประชาชนตามจุดต่าง ๆ ของ กทม. อย่างบริเวณงานอุ่นไอรัก และหลังจากนี้ กทม. กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม จะเร่งจัดหาหน้ากาก N95 มาแจกเพิ่ม
– สั่งควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคาร การก่อสร้างรถไฟฟ้า อุโมงค์ และสะพานข้ามทางแยก ฯลฯ
– ประสานโครงการก่อสร้างทุกประเภท เพื่อขอความร่วมมือให้มีการล้างล้อรถบรรทุก ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง
– กำชับห้ามมิให้มีการเผาหญ้า หรือขยะในที่โล่งแจ้ง
– ประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อทำฝนเทียมในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากความชื้นสัมพันธ์ในอากาศยังต่ำกว่า 60%
– ประสานกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก ให้เพิ่มมาตรการตรวจจับรถควันดำ และเร่งระบายรถในบริเวณที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงกวดขันรถบรรทุกวิ่งผิดเวลาในเขตพื้นที่ กทม.
– ขอความร่วมมือประชาชน ให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว
– ขอความร่วมมือประชาชนให้ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ รวมทั้งหมั่นตรวจสอบรถยนต์ มิให้มีค่าควันดำเกินค่ามาตรฐาน

แผนระยะยาว กทม.

– กำหนดแนวทางการดำเนินมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า พร้อมทั้งโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเร็ว
– ผลักดันการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานเครื่องยนต์ใหม่และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น
– ควบคุมการใช้รถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี
– ส่งเสริมการใช้รถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงที่ปลอดมลพิษมาใช้ทดแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
– จัดหาพื้นที่จอดแล้วจรเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน
– เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ