ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต การแต่งงานถูกกฎหมาย ความฝันของชาวสีรุ้ง

กลับมาเป็นประเด็นฮอตอีกครั้ง เมื่อคณะรัฐมนตรี เตรียมส่งร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …  ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ด้วยหวังยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีสาระสำคัญที่ควรรู้ ในเรื่องใดบ้าง

พ.ร.บ. คู่ชีวิต คืออะไร ?

ทำความเข้าใจก่อน คำว่า “คู่ชีวิต” นั้นไม่ได้หมายถึง “คู่สมรส” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้ “เพศชาย” กับ “เพศหญิง” เท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสได้ เมื่อจดทะเบียนสมรสก็ให้มีสถานะทางกฎหมายเป็น “คู่สมรส” หรือ “สามีภริยา” ตามกฎหมาย

ขณะที่คำว่า “คู่ชีวิต” เป็นคำที่ยังไม่เคยมีในบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใดในประเทศไทย กระทั่งคำนี้ถูกบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่งระบุว่า คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็น “เพศเดียวกันโดยกำเนิด” และได้จดทะเบียนตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต

และที่สำคัญ บุคคลทั้งสองต้องบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย และมีสัญชาติไทยหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทยด้วย จึงจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ นอกจากนี้ เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว จะมีสถานะเป็น “คู่สมรส” ตามกฎหมาย ทั้งยังได้รับสิทธิหน้าที่จากการเป็นคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามกฎหมาย หรือระเบียบอื่น ๆ

การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริต หรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

2. ถ้าบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย เป็นญาติสืบสายโลหิต เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาติดังกล่าวให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

3. มีคู่สมรส หรือได้จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว

4. บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย มีความสัมพันธ์เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม

สิทธิที่ได้รับ ตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต 

สำหรับบุคคลสองคนที่จดทะเบียนตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพื่ออยู่กินฉันสามีภรรยานั้น จะได้รับสิทธิตามร่าง พ.ร.บ. ดังนี้

  • สิทธิและหน้าที่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูระหว่างกัน
  • สิทธิในการยินยอมให้รักษาพยาบาล
  • อำนาจในการจัดการศพ
  • การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต
  • การเรียกร้องสินไหมทดแทนการจัดการทรัพย์สิน
  • มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของคู่ชีวิตอีกฝ่าย กรณีที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • การรับมรดก ฯลฯ

มีเรื่องใดบ้างที่ คู่ชีวิต ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังถูกจำกัดสิทธิ

แม้ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต จะให้สิทธิผู้จดทะเบียนสามารถดำเนินการแทนกันได้ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิในบางเรื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอีกหลายฉบับ โดยเรื่องที่ถูกจำกัดสิทธิ อาทิ

  • สิทธิการรับบุตรบุญธรรม
  • การเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือการเปลี่ยนชื่อสกุล
  • สวัสดิการของภาครัฐ เช่น สิทธิการลดหย่อนทางภาษีในแง่สามีภรรยา เป็นต้น

ความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิต จะยุติลงเมื่อใด

สำหรับการยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิตนั้น จะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อ

  • คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต
  • คู่ชีวิตสมัครใจจดทะเบียนเลิกจากการเป็นคู่ชีวิต
  • ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต อาทิ คู่ชีวิตฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีภรรยาหรือคู่ชีวิต เป็นต้น

หากร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ผ่านการพิจารณา สนช.

สุดท้ายแล้ว เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณารายละเอียดร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะถือว่า “ประเทศไทย” เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้