อย่างที่เราเห็นว่าทุกวันนี้กรุงเทพฯ กำลังพัฒนาไปเรื่อย ๆ ด้วยการสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินต่อขยายเพิ่มอีกหลายสาย ที่น่าจะให้คนกรุงเทพฯ เดินทางกันได้สะดวกรวดเร็วขึ้น แต่สิ่งที่ตามมานั่นก็คือค่าเดินทางที่แพงขึ้น (มาก) อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะแพงกว่า 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก!
หากได้ลองฟังเสียงผู้ที่ต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) หรือรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินบนฟ้า มีราคาสูงมากหากเทียบกับค่าครองชีพและค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ใช้บริการ แล้วอ้างว่าค่าโดยสารเหมาะสมแล้ว!
ปัจจุบันนี้หากเราโดยสารด้วยรถไฟฟ้า BTS จะมีค่าโดยสารอยู่ที่ 16-44 บาทในเส้นทางปกติ (คือสายสีลมสุดที่สะพานตากสิน สายสุขุมวิทสุดที่อ่อนนุช หากจะนั่งไปสถานีหลังจากนั้นต้องเสียค่าบริการเพิ่ม 15 บาท กลายเป็น 59 บาท) และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รวมสายสีน้ำเงินและสีม่วงค่าโดยสารอยู่ที่ 14-48 บาท ซึ่งถือว่าราคาสูงถ้าเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ ค่าครองชีพ ค่าอาหาร และเทียบกับระยะทางของรถไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ครอบคลุมมากเท่าที่ควร นั่นหมายความว่า เราอาจจะต้องไปเสียค่าเดินทางด้วยยานพาหนะอื่นอีก
และที่มีข่าวฮือฮากันไปว่าราคารถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เมื่อสร้างส่วนต่อขยายเสร็จ จะมีราคาแพงสุดถึง 70 บาท! ส่วนราคาค่าโดยสารที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างหนักหน่วง คือ รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ที่ได้สิ้นสุดการเปิดให้บริการฟรี ไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา ล่าสุดกรุงเทพฯ ได้ปรับอัตราราคาค่าโดยสารตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท โดยมีการหารือกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารโครงการเดินรถ ไม่ว่าจะ BTS หรือ MRT ราคาที่ต้องจ่ายก็เป็นราคาที่มนุษย์เงินเดือนระดับกลาง ๆ ยังต้องคิดหนักถึงหนักมาก
ราคาค่าเดินทางในกรุงเทพฯ ที่แพงหูฉี่นี้ เราจึงอยากเอามาเทียบค่าโดยสารกับประเทศใกล้ ๆ ในเอเชียกันว่ามีราคาเท่าไรบ้าง?
ประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกอย่างสิงคโปร์
กลับมีราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เมืองที่ค่าอาหารทั่วไปเริ่มต้นที่ราคา 2-3 ดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป (หรือประมาณ 50-70 บาท) กลับมีค่ารถไฟฟ้าใต้ดินที่ถูกว่าไทยเยอะ! ด้วยการเริ่มต้นที่ราคา 20 บาท และแพงสุด 48 บาทเท่านั้น (ถ้าใช้บัตร EZ Link ราคาก็จะถูกลงอีกนิดหน่อย) ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 876 บาท (สิงคโปร์ไม่ได้มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย) บวกกับถ้าดูแผนผังของรถไฟใต้ดินก็จะพบว่าครอบคลุมทั่วเมือง ทำให้เราสามารถเดินทางได้สะดวกแม้จะไม่มีรถส่วนตัวก็ตาม
ด้านรถเมล์ก็มีราคาค่าโดยสารเริ่มต้นและแพงสุดไม่ต่างจากรถไฟใต้ดิน (แต่ถ้าไปไกลก็จะแพงกว่านิดหน่อย) แต่สำหรับสภาพการจราจร สภาพรถเมล์ และระบบต่าง ๆ ก็คุ้มค่าที่จะนั่งและคุ้มค่าที่จะจ่าย เพราะรถเมล์ที่สิงคโปร์มีเวลาบอกที่แน่นอนว่ารถจะถึงป้ายตอนไหนและมาตรงเวลา ทำให้เราวางแผนการเดินทางได้ถูกโดยไม่ต้องรออย่างไร้จุดหมาย
มาเลเซีย
มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้รถไฟฟ้าหลายแบบในการคมนาคม และมาเลเซียก็มีค่าแรงขั้นต่ำใกล้เคียงกับบ้านเรา อยู่ที่ประมาณ 336 บาท แต่ทุกแบบนั้นมีแผนผังที่รองรับและเชื่อมกัน ทำให้สะดวกในการเดินทาง ที่สำคัญคือค่าโดยสารถูกมาก! โดยเริ่มที่ 1.3-8 ริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 10 บาท และแพงสุด 62 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับระยะทางของรถไฟฟ้าจะถือว่าถูกมาก และมีราคาสำหรับตั๋วรายเดือน ที่จะลดค่าโดยสารลงอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ต่อให้จ่ายแพงที่สุดก็ยังถึงที่หมายได้โดยไม่ต้องจ่ายค่ายานพาหนะนู่นนั่นนี่เพิ่ม
เกาหลีใต้
ประเทศที่มีรถไฟฟ้าครอบคลุมอีกหนึ่งประเทศ เรียกว่าเห็นแผนที่เดินรถแล้วปวดหัว แต่เป็นข้อดีเพราะสามารถไปที่ไกล ๆ นอกเมืองได้โดยไม่ต้องง้อรถสาธารณะอื่น ค่ารถไฟฟ้าใต้ดินในเกาหลีใต้เริ่มต้นที่ราคา 1,250 วอน (หรือประมาณ 36 บาท) รถเมล์เกาหลีมีค่าโดยสารประมาณ 25-55 บาท แล้วแต่สาย ซึ่งการเดินทางทุกแบบสามารถใช้บัตร T-Money จ่ายได้ (รวมถึงสามารถซื้อของในซูเปอร์มาเก็ตได้ด้วย) ราคาจะถูกลงอีก 100 วอน (หรือประมาณ 3 บาท)
ญี่ปุ่น
เป็นอีกประเทศที่แผนผังรถไฟฟ้ายุ่งเหยิงมากเห็นแล้วปวดหัวไปหมด เพราะมีสายเยอะและมีจุดเชื่อมกันเยอะมาก ทำให้ต้องวางแผนดี ๆ ว่าจะต้องไปต่อตรงไหน โดยที่ค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 49-93 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำเขาสูงถึง 2,360 บาทต่อวัน และถ้าดูกันที่ระยะทางความครอบคลุมของเส้นทางและสถานที่ ก็ทำให้เราต้องยอมจ่าย จุดแข็งที่สุดคงเป็นความตรงต่อเวลาที่นับกันเป็นวินาทีเลยทีเดียว และถ้าเราไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นทางที่ดีที่สุดก็คือซื้อตั๋วรถไฟรายวันหรือรายสัปดาห์ไปเลย จะสะดวกตรงที่ไม่ต้องคอยมาซื้อทุกสถานี แล้วราคาก็จะถูกกว่าด้วยเพราะต้องใช้บริการเยอะมาก
ส่วนรถเมล์ที่ประเทศญี่ปุ่นก็สะดวกและตรงเวลามากเช่นกัน จะมีตารางเวลาบอกไว้ตรงป้ายรถเมล์เลยว่ารถสายไหนจะถึงเวลาไหน ค่าโดยสารอยู่ที่ 100 เยน หรือประมาณ 30 บาทขึ้นไป (หรือบางสายก็ 30 บาทตลอดสาย) เรียกว่าราคาสูงหน่อยแต่คุณภาพก็ดีตามไปด้วยเช่นกัน
ประเด็นค่าโดยสารของประเทศไทยเรายังไม่ได้พูดถึงคือรถเมล์บ้านเรา มีราคาดังนี้
- รถเมล์ธรรมดา (ครีม-แดง) 8 บาทตลอดสาย (กะสว่างเพิ่ม 1.50 บาท)
- รถเมล์ทางด่วน (ครีม-แดง) 10 บาทตลอดสาย
- รถเมล์บริการตลอดคืน (ครีม-แดง) 9.50 บาทตลอดสาย
- รถเมล์ธรรมดาร่วมบริการ 10 บาทตลอดสาย
- รถปรับอากาศ (ครีม–น้ำเงิน) 12-20 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่ม 2 บาท
- รถปรับอากาศยูโรทู (เหลือง–ส้ม) 13-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่ม 2 บาท
- รถปรับอากาศ (PBC) (ขาว) 13-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่ม 2 บาท
- รถปรับอากาศ ใช้ก๊าซ (NGV 489) (ฟ้า) 15-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่ม 2 บาท
แน่นอนว่าหากดูเพียงตัวเลข มันอาจจะดูไม่สูงเท่าไรนัก แต่ด้วยคุณภาพของรถ การบริการ และการจราจร ทำให้มีเสียงจากผู้ใช้จริงบ่นกันระงม กันว่าถ้าจะขึ้นค่าโดยสาร ก็ควรต้องปรับปรุงทุกอย่างให้ดีกว่านี้ด้วย ไม่งั้นก็กลายเป็นว่าเราต้องจ่ายทุกอย่างแพงขึ้นด้วยคุณภาพเท่าเดิม (หรือต่ำกว่าเดิม) ซึ่งไม่แฟร์กับผู้บริโภคเท่าที่ควร
เห็นแบบนี้แล้วต้องบอกว่าคนที่ได้เรียนหรือทำงานใกล้ ๆ บ้านนี่โชคดีจริง ๆ เพราะมีคนไม่น้อยเลยที่พักในเขตชานเมืองแต่ต้องเข้าไปทำงานในเมืองหรือกรุงเทพฯ ชั้นใน และต้องจ่ายค่าโดยสารไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาทต่อวัน (และอาจจะกลายเป็นหนึ่งร้อยบาทต่อเที่ยว!) ซึ่งเมื่อลองคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนแล้วก็ราคาสูงทีเดียว
เมื่อเปรียบเทียบให้เห็นดังนี้แล้ว จะเห็นว่าประเทศอื่น ๆ มีค่าโดยสารสาธารณะที่แตกต่างจากบ้านเราพอสมควร โดยเฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้า ไม่ใช่ให้เปรียบเทียบที่ตัวเลขค่าโดยสารของแต่ละประเทศ แต่ให้เปรียบค่าโดยสารกับค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับ ซึ่งหากค่าแรงขั้นต่ำบ้านเราอยู่ที่วันละประมาณ 330 บาท แต่อาจจะต้องเสียค่ารถไฟฟ้าตลอดสายอยู่ที่เที่ยวละ 104 บาท และอาจจะสูงได้มากถึง 158 บาทด้วยซ้ำ ไป-กลับเป็น 208 บาท (316 บาท) เราจะเหลือเงินกินข้าวกันเท่าไร?
นั่นจึงเป็นสิ่งที่บอกได้กลาย ๆ ว่า คนที่ยังต้องพึ่งรถสาธารณะก็คงต้องวางแผนการใช้เงินและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นให้มากที่สุด เพราะจากแนวโน้มที่เห็น ค่าเดินทางนี่มีแต่ขึ้นกับขึ้นจริง ๆ
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/917590 / https://www.tokyometro.jp/th/subwaymap/index.html / https://www.chilloutkorea.com/seoul-transportation/ / https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=628 / https://metro.bemplc.co.th/Fare-Calculation / https://www.bts.co.th/routemap.html