“ทีวีดิจิตอล”กู้วิกฤติทันไหม?

วันนี้ขอเขียนเรื่องเครียดๆ บ้าง หลังจากได้ข่าวการปลดพนักงานของช่อง 3 ล่าสุด ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้พี่น้องสื่อและคนทำงานในวงการทีวีดิจิตอลไม่น้อย ขนาดช่องใหญ่ยังมีท่าทีซวดเซแบบนี้ แล้วช่องเล็กอื่นๆจะอยู่กันไปได้อีกนานแค่ไหน?

มองดูแล้วน่าเห็นใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ช่อง 3 เองในยุคอนาล็อกกำไรปีละหลายหมื่นล้าน พอเปลี่ยนเป็นยุคดิจิตอลเหลือหลักสิบล้าน อยู่ดีๆเงินหายวับไปกับตาอื้อซ่า แล้วจะหาทางรอดกันอย่างไร พนักงานที่เคยอยู่กันอย่างสุขสบายถ้าปรับตัวไม่เร็วพอ สุดท้ายก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

ปัจจุบันทีวีไทยจากเดิม 6 ช่อง เพิ่มเป็น 25 ช่อง แต่ยังมองไม่เห็นว่าคนดูจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นตรงไหนนอกจากเรื่องของปริมาณ รายการที่ผลิตมาซ้ำๆกันหมด แกะผังลอกผังเวลาฮิตกันมาเพราะความกดดันเรื่องเรตติ้งเพื่อจะไปหาโฆษณาให้ได้ หาไม่ได้ก็อยู่ไม่รอด ไม่มีเงินมาจ่ายค่าประมูล

ช่องไหนที่ไม่ค่อยมีแรงก็ต้องดัมพ์ราคาค่าโฆษณาลงมาสู้ จนปัจจุบันเหลือตัวละไม่กี่พันบาทแล้ว คูณกับเวลาที่อนุญาตให้ลงสปอตได้ เหลือต้นทุนในการทำรายการละไม่เกินสองสามหมื่นบาท มองไม่เห็นกำไร สุดท้ายแล้วจะไปผลิตรายการที่ดีที่ให้ประโยชน์กับผู้ชมได้อย่างไร?

พอทุนร่อยหรอเข้า ลงท้ายช่องเล็กๆก็ต้องปรับเป็นรายการขายของไปหมด สุดท้ายคงไม่แคล้วเป็นเหมือนช่องดาวเทียมสมัยก่อน เพียงแต่ยกขึ้นมาอยู่บนแพล็ตฟอร์มดิจิตอลเท่านั้นเอง (ความจริงแพล็ตฟอร์มดิจิตอลแต่คนส่วนใหญ่ยังรับชมจากกล่องดาวเทียมของเอกชน) แต่ต้องเสียค่าประมูลมหาโหดต่อไป ขณะที่คนอยู่นอกระบบสบายกว่า นี่มันปาหี่ หรืออะไรกันวะเนี่ยประเทศไทย

ปัจจุบันช่องที่ยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองมีผลกำไรทางธุรกิจมีไม่น่าเกิน 5 ช่อง บวกกับบางช่องที่มีเงินอื่นหนุนหลัง หรือนำกำไรจากธุรกิจอื่นๆในเครือมาลงจุนเจือเป็นกระบอกเสียงให้เครือตัวเองเท่านั้น ที่ยังพอจะลากต่อไปไหว พวกที่เป็นสื่อจริงๆตายอย่างเดียวเท่านั้น

คนที่ออกกติกาให้มีการประมูลกันยี่สิบกว่าช่องยังแผ่นเสียงตกร่อง เอะอะจะแก้ปัญหาด้วยการเยียวยาให้ผ่อนชำระเรื่องเงินอย่างเดียว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแค่การเลี้ยงไข้ผู้ป่วยไว้เท่านั้น ไม่ใช่การรักษาโรคที่แท้จริง

ด้วยจำนวนช่องที่มากเกินไปตั้งแต่ต้น แถมคนดูสวนทางมีแต่จะน้อยลงไป เพราะปัจจุบันเด็กวัยรุ่นก็แทบจะไม่ดูทีวีกันแล้ว ดูคลิปดูรายการผ่านทางอินเทอร์เน็ตกันหมด งบโฆษณาทางโทรทัศน์จึงไม่มีวันจะเพิ่มขึ้นมีแต่จะน้อยลง บวกกับเจอสภาพเศรษฐกิจเมืองไทยเป็นแบบนี้ด้วย ก็น่าหวั่นใจยิ่งนักว่าวิกฤติของทีวีดิจิตอล อาจจะมาเร็วกว่าที่บรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการเคยคาดการณ์ไว้.