สำหรับประเด็นที่หมอช่วยให้ผู้ป่วยจบชีวิตเร็วขึ้นตามประสงค์ของผู้ป่วย หรือที่เรียกว่า “การุณยฆาต” นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมายาวนานทั่วโลก ว่า แท้จริงแล้ว “สิทธิในการเลือกที่จะมีชีวิตหรือจบชีวิต ควรจะอยู่ที่ตัวผู้ป่วยใช่หรือไม่”
โดยมีหลายประเทศที่มองว่า การุณยฆาตเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทั้งในทางการแพทย์ กฎหมาย และหลักศีลธรรม แต่ก็มีบางประเทศที่ออกกฏหมายรับรองเรื่องการทำการุณยฆาต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกจบชีวิตด้วยตัวเองได้
และวันนี้ Tonkit360 จะพาไปไขข้อข้องใจกันว่า การุณยฆาต คืออะไร ? มีกี่แบบ หรือมีประเทศใดบ้างที่การขอทำการุณยฆาตเป็นเรื่องถูกกฏหมาย
การุณยฆาต คือ ?
การทำให้บุคคล (ผู้ป่วย) เสียชีวิตโดยเจตนา เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานหรือความเจ็บปวดของบุคคลดังกล่าว ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา ด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก หรือการงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคล โดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ
ประเภทของการุณยฆาต
การุณยฆาตเชิงรุก คือ การให้สารหรือวัตถุใด ๆ เพื่อเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตโดยเจตนา ถือว่าเป็นการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อร่างกายของผู้ป่วยโดยตรง อาทิ การฉีดยา การยุติการใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันวิธีดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างว่า เป็นการกระทำที่เหมาะสมแล้วหรือไม่
การุณยฆาตเชิงรับ คือ การที่แพทย์สั่งหยุดการรักษาทั้งหมด หรือยกเลิกการรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือเรียกว่าเป็นการ “ปล่อยให้ตาย” นั่นเอง แต่แพทย์ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไป เพื่อช่วยลดทอนความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย จนกว่าจะเสียชีวิตไปเอง
สำหรับการทำการุณยฆาตเชิงรับนั้น เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับ และเป็นที่ปฏิบัติกันในสถานพยาบาลหลายแห่ง แต่ต้องมีจดหมายแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยเอง
การุณยฆาต กับกฎหมายไทย
ปัจจุบัน “ประเทศไทย” ยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่มีกฎหมายรับรองเรื่องการุณยฆาต โดยเฉพาะการทำการุณยฆาตในเชิงรุก ฉะนั้น หากแพทย์ฝ่าฝืนทำการุณยฆาต ด้วยการให้ยาหรือสารประเภทใด ประเภทหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต การกระทำดังกล่าวเข้าข่าย “ทำผิดกฎหมาย”
เว้นแต่ผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนงว่า ตนไม่ต้องการรับการรักษาที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิต ซึ่งเข้าข่ายการอนุญาตให้ทำการุณยฆาตเชิงรับ และการทำหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าข่าย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มาตรา 12 ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นมา เพื่อรับรองสิทธิของผู้ป่วย ที่จะปฏิเสธการรักษาหรือบริการที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายไว้ล่วงหน้า โดยการทำเป็นหนังสือสำหรับกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในฐานะที่ไม่อาจปฏิเสธการรักษาได้โดยตรง แต่ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวต้องถูกทำขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามกฎหมายด้วย
เนื้อหาใน มาตรา 12 มีดังนี้
“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
ประเทศที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต
สวิซเซอร์แลนด์
เป็นประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถสามารถจบชีวิตของตัวเองด้วยความช่วยเหลือของแพทย์ โดยการการุณยฆาตเชิงรุก (ฉีดยา/หยุดใช้เครื่องช่วยหายใจ) และเป็นประเทศเดียวในขณะนี้ ที่มี “สถาบันให้ความช่วยเหลือทางด้านการุณยฆาตสำหรับคนต่างชาติ”
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่แพทย์จะดำเนินการตามที่ผู้ป่วยร้องขอให้ช่วยจบชีวิตด้วยการการุณยฆาต จำต้องมีการตรวจสอบและได้อนุญาตจากสถาบันอีกทีหนึ่งก่อน ดังนี้
(1) การที่ผู้ป่วยร้องขอให้แพทย์ช่วยจบชีวิตตน ต้องไม่เป็นไปตามความเห็นแก่ตัว หรือเป็นการทำเพื่อทิ้งภาระต่าง ๆ ไว้กับคนที่อยู่เบื้องหลัง
(2) แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงญาติพี่น้องของผู้ป่วย ต้องได้รับทราบเรื่องดังกล่าวก่อน
เนเธอร์แลนด์
ถือว่า เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายรับรองการการุณยฆาต (เมื่อปี 2545) โดยกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน สามารถขอทำการุณยฆาตได้ แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องสามารถควบคุมความสามารถทางสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ขอการทำการุณยฆาตจากแพทย์
ลักเซมเบิร์ก
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรป ที่แพทย์สามารถยุติการใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี การตัดสินใจทำการุณยฆาตนั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ จำนวน 2 คน เสียก่อน
โคลอมเบีย
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบีย ได้กำหนดว่า ผู้ป่วยที่มีสิทธิขอการุณยฆาตจากแพทย์ ต้องเป็นผู้ป่วยหนัก เป็นบุคคลที่มีภาวะโรคร้ายที่คร่าชีวิต ซึ่งมาพร้อมกับความทุกข์ทรมาน อาทิ โรคเอดส์ หรืออาการไตวายล้มเหลวของมะเร็งตับ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี กฎหมายอนุญาตการุณยฆาตของโคลอมเบีย ยังไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคซึ่งเกิดจากความเสื่อม อย่างโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคพาร์กินสัน ร้องขอให้แพทย์ยุติชีวิตของตนด้วยการการุณยฆาตได้
ออสเตรเลีย
ขณะที่ออสเตรเลียนั้น การจบชีวิตโดยการช่วยเหลือของแพทย์ ยังถือว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่ เว้นแต่รัฐวิกตอเรียเท่านั้น เนื่องจาก “รัฐวิกตอเรีย” ได้ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการุณยฆาต เมื่อปี 2560 ซึ่งกฎหมายดังกล่าว อนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะเสียชีวิตในอีก 6 เดือนต่อมา (โดยเฉลี่ย) สามารถขอทำการุณยฆาตได้
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในรัฐวิกตอเรีย เดือนมิถุนายน 2562
สหรัฐอเมริกา
มีเพียง 5 รัฐเท่านั้น ที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาตในรูปแบบเชิงรับ ประกอบด้วย
- รัฐโอเรกอน เริ่มในปี 2540 โดยผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือไม่มีหนทางรักษา สามารถขอจบชีวิตโดยความช่วยเหลือจากแพทย์ได้ แต่ผู้ป่วยคนดังกล่าวต้องทำจดหมายและมีพยานในการกระทำสิ่งนี้ นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์อีก 2 คน
- รัฐวอชิงตัน เรียกว่าเป็นรัฐที่ 2 ต่อจากรัฐโอเรกอนซึ่งมีกฎหมายอนุญาตเรื่องดังกล่าว โดยเงื่อนไขก็คล้ายกับรัฐโอเรกอน เพียงแต่ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ต้องมีอายุขัยเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน
- รัฐมอนตานา เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ศาลปกครองของรัฐมอนตานา ได้อนุญาตให้การจบชีวิตโดยการช่วยเหลือของแพทย์เป็นเรื่องถูกกฏหมาย โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งยา และให้ผู้ป่วยเป็นคนจัดการด้วยตนเองเท่านั้น
- รัฐเวอร์มอนต์ ในปี 2556 ได้อนุญาตให้การจบชีวิตโดยการช่วยเหลือของแพทย์ถูกกฏหมาย แต่ต้องมีคำขอร้องจากผู้ป่วยปากเปล่า 2 ครั้ง และมีจดหมายแสดงเจตจำนง แบบเป็นลายลักษณ์อีก 1 ฉบับ
- รัฐแคลิฟอร์เนีย อนุญาตให้มีการช่วยเหลือโดยแพทย์ตามกฎหมายว่า ด้วยการยุติการใช้ชีวิต (มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559) แต่ผู้ป่วยดังกล่าว ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้
(1) เป็นผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ที่มีอายุขัยเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน
(2) ผู้ป่วยต้องส่งคำขอร้องปากเปล่าให้แพทย์ จำนวน 2 ครั้ง
(3) มีการทำจดหมายแสดงเจตจำนง แบบลายลักษณ์ 1 ฉบับ
แคนาดา
เมื่อปี 2559 วุฒิสภาแคนาดา ได้ผลักดันกฎหมายการุณยฆาตจนสำเร็จ โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมีอายุมากกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ที่มีประกันสุขภาพของแคนาดาเท่านั้น จึงสามารถร้องขอจบชีวิตตัวเองโดยอาศัยความช่วยเหลือของแพทย์ได้
เบลเยียม
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังมีการจำกัดอายุผู้ขอทำการุณยฆาตอยู่ กระทั่งปี 2557 เบลเยียมได้เปลี่ยนกฎหมายการุณยฆาตใหม่ โดยอนุญาตให้ผู้เยาว์สามารถขอทำการุณยฆาตได้ ส่งผลให้ “เบลเยียม” เป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้ผู้เยาว์ทำการุณฆาตได้ โดยไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำ
ในปี 2559 เบลเยียม ได้ออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่ออนุญาตให้เยาวชนที่ป่วยหนักสามารถเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง เพียงแต่เยาวชนคนนั้น จำต้องรู้สึกตัวและสามารถตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานของเหตุผล
ญี่ปุ่น
สำหรับประเทศญี่ปุ่น อนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งไม่มีหนทางรักษาหายได้ จึงมีสิทธิร้องขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต (แบบเชิงรุกและเชิงรับ) ได้ แต่การขอการุณยฆาตดังกล่าว ต้องได้รับการอนุญาตจากแพทย์ และครอบครัวของผู้ป่วยเสียก่อน
อินเดีย
ออกกฎหมายในสามารถทำการุณยฆาตในเชิงรับ ซึ่งคือการยุติการรักษาแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับตั้งแต่ปี 2554
ขณะที่การทำการุณยฆาตในเชิงรุก ซึ่งเป็นการเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น ยังถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในประเทศอินเดียอยู่
ข้อมูลจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), actionlife.org, therichest.com, newhealthguide.org