NGO หรือนักพัฒนาสังคม เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจ เพราะจะต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ ความรู้ความสามารถ และความเสียสละเพื่อประโยชน์ต่อสังคมในการแก้ปัญหา ซึ่งที่มูลนิธิกระจกเงาก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมในหลายๆ ด้าน อันได้แก่ งานด้านสิทธิมนุษยชน งานด้านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ งานพัฒนาอาสาสมัคร และการแบ่งปันทรัพยากร
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และการใช้ชีวิต โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งบนสังคมออนไลน์ สังคมเมืองและสังคมชนบท โดยทำหน้าที่เป็นกระจกเงา ที่สะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงของสังคม และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ สร้างคน สร้างนวัตกรรม สร้างการเปลี่ยนแปลง
โดยวันนี้ Tonkit360 จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาชีพนักพัฒนาสังคม (NGO) ให้มากขึ้นผ่าน “คุณเอก เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข” อายุ 35 ปี กรรมการมูลนิธิกระจกเงา และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย ที่จะมาตอบทุกคำถามที่เราสงสัยว่าใน 1 วันของอาชีพ NGO จะต้องทำอะไรบ้าง และสำหรับองค์กรพัฒนาภาคเอกชนนั้น เขามีกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานอย่างไร ไปฟังคำตอบทั้งหมดจากคุณเอกกันเลย
อาชีพนักพัฒนาสังคม (NGO) คืออะไร
คุณเอก : NGO คือ Non Governmental Organizations เป็นองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ โดยหลักตามภาษาไทยแล้วอาชีพ NGO จะเรียกว่านักพัฒนาสังคมครับ ซึ่งนิยามของคำนี้มาจากที่เมื่อก่อน คนอาจจะคิดว่าปัญหาสังคม ต้องถูกแก้ไขด้วยภาครัฐเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังมีองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรภาคเอกชน ที่หันมาทำงานแก้ไขปัญหาสังคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น และก็ยังมีบางโครงการที่เอกชนทำคู่ขนานกันไปกับภาครัฐ ทั้งในส่วนของการตรวจสอบ การสนับสนุนส่งเสริมกัน อย่างกรณีการติดตามหาคนหาย ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เอกชนกับรัฐทำงานสนับสนุนกันครับ
คุณเอกมาทำอาชีพนักพัฒนาสังคมได้อย่างไร
คุณเอก : เริ่มจากตอนแรกผมได้ไปทำงานทางด้านกฎหมายตามที่เรียนมาก่อนครับ หลังจากนั้นรู้สึกว่าอยากจะทำงานที่มันมีประโยชน์ ก็เลยพยายามที่จะเอาวิชาชีพทางกฎหมายมาประยุกต์ใช้ในสายงานนี้ แล้วผมค่อยได้มาทำงานที่มูลนิธิกระจกเงาในช่วงที่เรียนจบมาได้ไม่นานครับ
องค์กรพัฒนาภาคเอกชน มีกฎเกณฑ์การคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานอย่างไร
คุณเอก : ตามสากลแล้วมันมีวิธีกฎเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันครับ เช่น ในต่างประเทศก็จะเป็นองค์กรวิชาชีพเลย คือผู้คนต้องสมัครแข่งขัน สอบเข้ามาเพื่อทำงาน แต่ในประเทศไทยเนื่องจากงานในภาคสังคม มันไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา เพราะว่าเราต้องอยู่กับปัญหาความทุกข์ของคนอื่น บางทีเราต้องไปอยู่ในข้อขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ หรือข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะต้องทำในทางสาธารณะ ยกตัวอย่างการเข้ามาทำงานในมูลนิธิกระจกเงา ก็อาจจะเป็นในรูปแบบของอาสาสมัครก่อน พอเริ่มมีความรู้สึกว่าชอบหรือรักในงานนี้ รวมถึงอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ค่อยผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเต็มเวลา จะทำให้เวลามาทำงานมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
นักพัฒนาสังคม จำเป็นต้องเรียนจบนิติศาสตร์ หรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่
คุณเอก : จริงๆ ความรู้ทางวิชาชีพถ้ามีมาด้วยก็จะดีมาก หมายถึงเราต้องมองก่อนว่าเวลาจะแก้ไขปัญหาทางสังคม แล้วถ้าเรามีความรู้ทางวิชาชีพมาก่อน มันก็จะมาสนับสนุนงานในส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วในภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ยังมีบุคลากรที่จบมาจากหลากหลายวิชาชีพ หรือบางคนเรียนไม่จบก็มีนะครับ เพราะว่าส่วนหนึ่งจะเริ่มจากการเรียนรู้และประสบการณ์มากกว่า แต่ถ้าเรียนจบนิติศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อมมา ก็จะดีตรงที่หากมีความรู้ตรงสายงานตามที่ร่ำเรียนมา หรือแม้กระทั่งคนที่มีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ แล้วผันตัวเองเพื่อเอาความรู้ของตัวเอง มาทำงานในเชิงพัฒนาสังคมมันก็จะเป็นส่วนที่ดีมากๆ ครับ
1 วันของการเป็นนักพัฒนาสังคม (NGO) ต้องทำอะไรบ้าง
คุณเอก : ใน 1 วันเราก็จะดูข้อมูลของผู้ที่แจ้งเหตุเข้ามา ส่วนผมในฐานะหัวหน้าโครงการ ก็มีหน้าที่ในการบริหารส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในแต่ละวันก็จะมีเคสคนหายที่ถูกแจ้งเข้ามา ทีมงานก็จะประสานงานและให้คำแนะนำเบื้องต้นไป แล้วถ้าเคสไหนที่มีความยากหรือมีปัญหา ต้องคุยเพิ่มเติมเคสนั้นก็จะถูกส่งต่อมาที่ผม จากนั้นก็จะมีการประชุมทีมร่วมกัน ดูว่าตอนนี้มีเคสไหนที่น่าสนใจ เคสไหนที่ต้องดำเนินการ สมมติว่าวันหนึ่งรับสายแล้วเป็นเคสเร่งด่วน ตรงนี้ทุกคนก็ต้องพร้อมที่จะลงพื้นที่ได้ทันทีครับ
นักพัฒนาสังคม องค์กรภาคเอกชน มีสวัสดิการเพิ่มเติมหรือไม่
คุณเอก : ก็จะเป็นสวัสดิการตามพื้นฐานของรัฐครับ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนใหญ่จะมีแค่ประกันสังคม ที่เราใช้กลไกทางสังคมปกติเลย นอกนั้นก็มีวันลาหยุดลาป่วยบ้าง แต่ไม่เยอะมากครับจะอยู่ในสัดส่วนตามกฎหมาย แล้วก็ไม่มีวันลาพักร้อน ไม่มีโบนัส เพราะด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ได้มีกำไร ฉะนั้นจึงไม่สามารถให้โบนัสกับเจ้าหน้าที่ได้ หรือหากมีเงินที่ส่วนเหลือ เราก็จะนำไปใช้ในโครงการและกิจกรรมอื่นๆ ครับ