ดูเหมือนว่าการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยจะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กไทยในปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแต่มีความยุ่งยากในการสอบ เพราะแม้กระทั่งการสมัครสอบก็ยังต้องใช้เงินตั้งแต่หลักพันจนถึงหมื่น ทำให้คนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจากระบบเก่าที่สอบพร้อมกันทั้งประเทศแล้วใช้ฐานคะแนนเป็นเกณฑ์ในการ ผ่านหรือไม่ผ่านเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ได้แต่ยืนมองด้วยความงุนงง ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าในระยะเวลา ที่ผ่านมาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
2504 – 2542 ระบบ เอ็นทรานซ์ แพ้คัดออกสุดช้ำ
ระบบ Entrance แบบเดิม คือพอจบม.6 หรือสอบเทียบ สามารถสอบ Entrance ได้ โดยเลือกคณะที่อยากเรียนได้ทั้งหมด 6 อันดับจากนั้นภายหลังจะมีการปรับให้เหลือเพียง 4 อันดับโดยมีการสอบเพียงครั้งเดียว ตามวิชาบังคับของคณะที่เลือก ซึ่งการสอบในระบบนี้ทำให้นักเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และ ไม่ต้องเดินทางไปสอบหลายครั้ง แต่จะมีการสอบเพียงครั้งเดียวโดยจะวัดกันที่ความขยันของนักเรียนแต่ละคน ที่สำคัญวิชาที่สอบเป็นวิชาเฉพาะาสามารถคัดกรองนักเรียนได้ตรงตามคณะที่เปิดสอน แต่ด้วยความที่เป็นระบบแพ้คัดออกทำให้ คนที่พลาดในระบบเอ็นทรานซ์ หรือในอดีตจะเรียนกันว่า “เอ็นฯไม่ติด” นั้นจะต้องรีบหาที่เรียนใหม่ ซึ่งที่เรียนที่เปิดรองรับก็มีทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน หรือ สถาบันราชภัฎฯ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยเปิดอย่างรามคำแหง และ สุโขทัยธรรมาธิราช
2543 – 2548 ระบบแอดมิดชั่น เปิดโอกาสให้มีที่เรียน
เมื่อระบบ แพ้คัดออกทำให้เด็กม.6 ต้องเครียดกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก และบางคนผิดหวังจนไม่สามารถไปต่อได้ ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัย (ในเวลานั้น) ได้ตัดสินใจปรับรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ เป็นระบบแอดมิดชั่น
โดยนำเอา ผลการเรียนตลอดหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่ามาคิดคำนวนร้อยละ 10 รวมกับ ผลการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะ (หรือเรียกรวมว่า การสอบวัดความรู้) ที่นำมาคิดคำนวนร้อยละ 90 ทั้งนี้ การดำเนินการสอบวิชาเฉพาะและวิชาหลัก จัดปีละ 2 ครั้ง แล้วนำคะแนนครั้งที่มากมาคิดคำนวณจัดประมวลผลในการเรียงลำดับที่ของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งทำให้เด็กสามารถเลือกคณะได้ตามความสามารถของตนเอง และทำให้เด็กมีที่เรียนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ต้องสอบเพิ่มมากขึ้นกว่าระบบเอ็นทรานซ์ ที่ใช้วิธีการสอบรวมเพียงครั้งเดียว
2549 – 2552 ระบบแอดมิดชั่น เวอร์ชั่น 2.0 มี O-NET/ A-NET
หลังจากระบบแอดมิดชั่น แบบแรกใช้ไปด้ประมาณ 5 ปีก็มีการปรับเรื่องคะแนนที่ใช้คำนวนในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยองค์ประกอบของคะแนนที่จะนำมาช่วยคิดคำนวนนั้นประกอบไปด้วย GPAX 10 เปอร์เซนต์ GPA (กลุ่มสาระ) 20 เปอร์เซนต์ O-NET 35–70 เปอร์เซนต์ และ A-NET /วิชาเฉพาะไม่เกิน 3 วิชา 0–35 เปอร์เซนต์ ซึ่งการใช้ผลการเรียนของนักเรียนที่ได้รับจากสถานศึกษา ได้แก่ GPAX GPA กลุ่มสาระฯ O-NET จะทำให้นักเรียนมุ่งเรียนในห้องเรียนอย่างเต็มที ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการคัดเลือกที่ต้องการให้การนำผลการเรียนมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือก แต่ในขณะเดียวกันการสอบในระบบนี้ก็มีการถกเถียงกันว่า มาตรฐานของแต่ละโรงเรียนที่ไม่เท่านั้นส่งผลต่อการคัดเลือกนักเรียนโดยใช้คะแนนเฉลี่ยในรูปแบบดังกล่าว
2553 – 2560 ระบบแอดมิดชั่นที่มี GAT / PAT ลงตัวสุดแต่ค่าใช้จ่ายสูงสุด
การคัดเลือกด้วยระบบ Admissions ซึ่งเริ่มเมื่อปีการศึกษา 2549 ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ว่ามีการให้สัดส่วนผลการเรียนมากเกินไป จึงได้มีการจัดสัดส่วนของคะแนนที่จะนำมาคิดคำนวณใหม่เป็น GPAX 20 เปอร์เซนต์
O-NET (8 กลุ่มสาระ) 30 เปอร์เซนต์ GAT (General Aptitude Test) 10–50 เปอร์เซนต์ PAT (Professional Aptitude Test) 0–40 เปอร์เซนต์ โดยวิธีการสอบคัดเลือกดังกล่าวก็ใช้อยู่จนถึงปี 2560
2561 สอบเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็น TCAS เขาว่ายุติธรรม
TCAS การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาใหม่ (Thai university Central Admission System: TCAS) หลังจากระบบแอดมิดชั่น เข้ามาอยู่ในชีวิตนักเรียนไทยได้ 18 ปี ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารของกระทรวงศึกษา และมหาวิทยาลัย เห็นพ้องกันว่า ระบบเก่านั้นกดดันนักเรียนมากและต้องทำการสอบหลายต่อหลายครั้ง ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายก็พุ่งสูงในการสมัครสอบ โดยบางรายนั้นถึงหลักหมื่นเพราะต้องเสียค่าสอบรายวิชารวมไปถึงค่าสมัครสอบตรงตามคณะที่เลือกด้วย โดยระบบการสอบแบบ TCAS นั้นได้เริ่มไปแล้วตั้งแต่เดือกุมภาพันธ์ปี 2561 โดยมีวิธีการคำนวนคะแนนสอบ ด้วยกัน 5 ประเภท รอบที่ 1 : การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยไม่มีการสอบข้อเขียน รอบที่ 2 : การรับแบบโควตาที่มีการสอบปฏิบัติและข้อเขียน รอบที่ 3 : การรับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 : การรับแบบ Admission รอบที่ 5 : การรับตรงแบบอิสระ (รอบเก็บตก)
โดยข้อดีของระบบ TCAS นั้นเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนในคณะที่ต้องการมากขึ้น ไม่มีการมาสอบเพื่อกั๊กที่คนอื่น ขณะเดียวกันช่วยให้เด็กมีโอกาสที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้มีโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม เสียค่าใช้จ่ายไม่เยอะเท่าระบบเก่า แต่ข้อเสียของระบบนี้คือนักเรียนมีความกดดันมากขึ้นเพราะระยะเวลาสอบในแต่ละประเภทนั้นใกล้เคียงกันทำให้เด็กอาจเตรียมตัวไม่ทัน แต่ทั้งนี้ระบบที่เพิ่งเริ่มใช้ในปี 2561 อาจจะต้องมีการปรับปรุงอีกในอนาคตเหมือนดังที่ปรับระบบแอดมิดชั่น ส่วนจะปรับไปในทางที่ขึ้นหรือแย่ลง น้องๆนักเรียนและผู้ปกครองก็คงต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว