Uber ขายกิจการทั้งหมดให้คู่แข่งอย่าง Grab อย่างนี้ “ลบแอพฯ Uber ที่มีอยู่ในเครื่องเลยไหม” หรือ “เป็นสมาชิกขับรถให้ Uber อยู่ต้องไปสมัครใหม่กับ Grab หรือเปล่า” แล้ว “UberEats ที่ให้บริการอยู่จะหยุดไปด้วยไหม” ตัวอย่างคำถามแบบนี้อยู่ในหัวคุณใช่ไหมละ เอาละ Tonkit360 จะพาคุณไปหาคำตอบกัน
รู้เรื่อง Uber ขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ Grab ภายในหนึ่งย่อหน้า
Uber เพิ่งทำข้อตกลงในการขายกิจการทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่งอย่าง Grab นับเป็นการขายกิจการครั้งที่สามของ Uber หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยขายให้กับคู่แข่งท้องถิ่นในจีน และรัสเซีย และการขายกิจการในครั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Uber “ดารา คอสราวชาฮี” จะได้เข้าร่วมบอร์ดบริหารของ Grab ด้วยและ Uber จะได้ถือหุ้น 27.5%ของ Grab
แม้ว่าจะขายกิจการให้กับ Grab ไปแล้วแต่ ผู้บริหารของ Uber ยังพยายามในการยืนยันว่า Uber ไม่ได้ถอนตัวจากภูมิภาคนี้ แต่การรวมกับ Grab ก็เพื่อทำให้ธุรกิจได้เติบโตมากขึ้น และเป็นการเสริมส่วนที่ขาดของกันและกัน ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าการรวมกันระหว่าง Grab และ Uber นั้นจะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น เนื่องจากไม่มีคู่แข่ง
แล้วผู้ใช้บริการUber ในประเทศไทยจะมีผลกระทบกระเทือนอย่างไร
Uber ในไทยนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากใน กรุงเทพฯ เพราะ Uber เปรียบเสมือนอู่แท๊กซี่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีรถเป็นของตนเอง เหล่าสมาชิกที่ใช้รถส่วนตัวหารายได้พิเศษ ของ Uber นั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนผู้ที่ต้องการใช้งานและเบื่อหน่ายกับ การให้บริการของแท๊กซี่ในกทม.
เช่นเดียวกับUberEats ก็เป็นบริการส่งอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน
สำหรับการขายกิจการของ Uber ชนิดที่ลบชื่อ Uber ออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเลยนั้น ทำให้ แอพฯ Uber ที่คุณโหลดมาใช้จะใช้ได้อีกประมาณสองสัปดาห์ และจะหยุดให้บริการในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน
แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะฐานข้อมูลทั้งหมดของ สมาชิก Uber นั้นจะถูกย้ายไปอยู่กับ Grab ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการอัพเดทหน้าตาของ แอพลิเคชั่น Grab ใหม่เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกคนหลังจากรวมกิจการกันแล้ว ส่วนสมาชิกที่เคยขับรถให้กับ Uber ก็ไม่ต้องตกใจไป ชื่อของคุณจะถูกโยกเข้าฐานข้อมูล Grab เช่นเดียวกับสมาชิกที่ใช้บริการเมื่อเป็นเช่นนั้น คุณก็ได้ย้ายสังกัดไปโดยปริยาย
แต่ส่วนที่ต้องระวังสำหรับผู้ใช้บริการคือ อัตราค่าบริการที่อาจจะมีอัตราที่สูงขึ้นเนื่องจากการขายกิจการของ Uber ทำให้มีผู้บริการเจ้าใหญ่เพียงเจ้าเดียว และนั่นหมายถึงระบบผูกขาด ทั้งในเรื่องของการกำหนดราคาค่าบริการ และการควบคุมคุณภาพ
โอกาสที่ดีในการปรับตัวของ แท๊กซี่ ท้องถิ่น
ในอีเมล์ที่ “ดารา คอสราวชาฮี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Uber ส่งเพื่อแจ้งข่าวให้กับผู้บริหาร Uber ทั่วโลกรับทราบ มีประโยคซึ่งมีนัยสำคัญแฝงอยู่ซึ่งเขียนว่า “สิ่งหนึ่งที่อันตรายต่อการพัฒนาศักยภาพของ Uber คือการวางกลยุทธกับตลาดทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาเรามีสนามรบทางการตลาดที่ต้องต่อสู้มากเกินไป และมีคู่แข่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว”
จากประโยคดังกล่าว นั่นแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจให้บริการรถขนส่งสาธารณะยังมีพื้นที่ในการทำการตลาดของตนเองอยู่ ดังเช่นในญี่ปุ่น ที่แม้ปัจจุบัน Uber จะยังคงดำเนินกิจการอยู่ พร้อมกับการให้ความสนับสนุนของ Softbank แต่คนญี่ปุ่นยังคงนิยมขึ้นรถแท๊กซี่ท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเพราะความคุ้นเคย และ อีกส่วนหนึ่งเพราะมั่นใจในบริการแท๊กซี่ท้องถิ่นของตนเอง มากกว่าคนขับรถส่วนตัวที่เอารถของตนเองมาทำเป็นรถรับจ้าง
ซึ่งกลับกันกับเมืองไทยที่รถแท๊กซี่ท้องถิ่น ไม่ได้สร้างมาตรฐานให้กับการให้บริการเดียวกัน ทำให้คนที่ใช้บริการแท๊กซี่ รู้สึกเอือมระอา กับระบบแท๊กซี่ไทย เมื่อขาด Uber ไปเหลือแต่เพียง Grab นี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่แท๊กซี่ไทยจะหันกลับมาสำรวจการให้บริการตนเอง แล้วปรับปรุงครั้งใหญ่ เพื่อให้บริการรถแท๊กซี่ไทยได้ใจคนไทยเหมือน แท๊กซี่ท้องถิ่นในญี่ปุ่นกันบ้าง