“ครูพักลักจำ”

ภาพจาก Pixabay

“ครูพักลักจำ” จัดว่าเป็นสำนวนโบราณมีความหมายถึง คนที่ขาดโอกาสได้เรียนรู้กับครูดีๆที่มีวิชาซึ่งตัวเองสนใจ จึงต้องใช้วิธี “อีแอบ” ลอบดู ลอบจำ โดยที่คนต้นแบบเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกคนอื่นแอบจดจำเอาไปเป็นเยี่ยงอย่าง

สำนวนนี้จะมองเป็นแง่ดีก็ได้คือ สนับสนุนคนที่มีความทะเยอทะยานอยากพัฒนาตนเอง แม้จะไม่มีปัญญาหาอาจารย์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็ยังแอบเก็บเล็กผสมน้อย ดูจากตรงโน้นทีตรงนี้ที เพื่อนำไปฝึกฝนและใช้งานจนตัวเองเก่งขึ้นมาได้

หรือจะมองด้านลบคือเป็นการเรียนรู้ที่อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักสูตรตามตำราเสียทีเดียว มีโอกาสผิดเพี้ยนไปพอสมควร เพราะลูกศิษย์ไม่มีโอกาสได้ดูได้เห็นตัวอย่างแบบเต็มรูปแบบ ครบทุกบททุกตอนด้วยข้อจำกัดที่ตัวเองมี

พูดแล้วก็น่าเสียดาย เมื่อนึกถึงคนในปัจจุบันที่โอกาสมีมากกว่าในอดีตตั้งมากมาย แต่หลายคนกลับไม่รู้คุณค่าและไม่ได้ใช้มันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การเรียนรู้การค้นหาตัวเอง บางครั้งเลยอาจเป็นสิ่งที่ใช้เวลาเนินนานเสียเหลือเกิน

อีกแบบหนึ่งก็มีคือประเภท “ครูพักลักมาทั้งดุ้น” หลังๆมานี้เห็นกันเยอะ ประเภทรู้จักแต่ก๊อปปี้เขามา คือคิดอะไรไม่ออกเลย ก็ลอกเลียนแบบเขาเอามาทั้งดุ้น อันนี้เรียกว่าขาดความคิดสร้างสรรค์อย่างแรงจัด บางทีถึงขนาดแม้กระทั่งเสียงลมหายใจก็ยังพยายามเอาให้เหมือน

ของพวกนี้พอทำเข้าบ่อยๆเข้ากลายเป็นความเคยชิน ก๊อปคนโน้นมาอย่างหนึ่ง ก๊อปคนนี้มาอีกอย่างหนึ่ง มาใส่ตนเองจนหมดนึกว่าดี กลายเป็นว่าสุดท้ายไม่มีอะไรที่เป็นดั้งเดิมของตัวเองเลยสักอย่าง คือลอกเขามาหมดจนกลายเป็น “ปลอม”คือการสร้างภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ แทนที่จะพยายามหาตัวตนหรือเสน่ห์ที่แท้จริงของตัวเอง

สุดท้ายมันก็เลยกลายเป็นเพียงการ “สร้างภาพ” ไม่ใช่ “สร้างคุณภาพ” เป็นการพัฒนาแบบหลอกๆ ปลอมๆ ที่เราเห็นกันได้เยอะในปัจจุบันไม่ว่าวงการไหน

แต่ไม่ต้องเป็นห่วงสิ่งที่ไม่ใช่ “ของจริง” นั้นมักมีลักษณะอยู่ไม่คงทน สักพักเดียวพอคนเขาจับได้ก็มักจะต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน คุณภาพเปรียบเทียบแล้วเหมือนหนังแผ่นก๊อปกับแผ่นมาสเตอร์นั่นแหล่ะครับ

“ครูพักลักจำ” ในอดีตจึงต่างกับ “ครูพักลักมาทั้งดุ้น” ในปัจจุบัน การพัฒนาโดยลอกแบบเขามาทั้งหมดทั้งสิ้น โดยไม่คิด ไม่เลือก หรือไม่นำมาปรับแต่งบางส่วนให้เข้ากับตัวเราเอง จึงนับเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาและดูถูกตัวเองอย่างแท้จริง.