ครึ่งปีหลัง 2568 ช่วงเวลาวัดใจ

เข้าสู่เดือนที่กำลังจะหมดไตรมาสที่สองของปีเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศที่ยังไม่มีปัจจัยอะไรในทางบวกแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศ ณ เวลานี้ที่ตัวเลขการท่องเที่ยวลดลงจากนักท่องเที่ยวจีน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น และสงครามกำแพงภาษีส่งผลต่อภาคการส่งออก ผู้เขียนเองมีโอกาสได้อ่านรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ไปจนถึงรายงานล่าสุดจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่มีเจ้าไหนให้พลังทางบวกแก่ผู้ประกอบการได้เลย

เมื่อรายงานสถาบันทางเศรษฐกิจระบุมาแบบนี้ ลองมาสำรวจกันดูทีว่าในช่วงครึ่งปีหลัง มีปัจจัยระดับโลกอะไรบ้างในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ดิ่งเหวลงไปอีก อันดับแรกคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดโลก อันดับต่อมาคือ สงครามยูเครน-รัสเซีย เป็นสงครามที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกผ่านหลายช่องทาง เช่น ราคาน้ำมันและอาหารพุ่งสูงขึ้น อันดับที่สามคือ การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เวลานี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วไปอยู่

ส่วนปัจจัยในประเทศคงไม่ต้องอธิบายมาก เริ่มตั้งแต่หนี้ครัวเรือนที่สูงจนน่าตกใจ และเป็นผลที่ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้จนกระทบต่อเงินในตลาด ขณะเดียวกัน บรรยากาศการลงทุนยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีผลต่อการส่งออกและการจ้างงาน สภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน รวมไปถึงตลาดหลักทรัพย์ที่ในช่วงครึ่งปีหลัง คงต้องคอยจับตาบรรดา บจ. ที่ปล่อยหุ้นกู้ จะสามารถให้ผลตอบแทนตามที่เคยประกาศไว้ได้หรือไม่ เพราะในเวลานี้มีหลาย บจ. ที่เห็นได้ชัดว่ากำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ปัจจัยภายในประเทศของเรานั้น ต้องบอกว่ามีหลายมิติที่น่ากังวลใจ ทั้งผลกระทบภายนอกจากสถานการณ์โลก ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเงินของผู้ประกอบการในประเทศ ยังมีมิติของการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแย่งตลาดคนไทย

จะเห็นได้ชัดว่าในช่วงสี่ห้าปีหลังมานี้ ผู้ประกอบการทั้งที่มีใบอนุญาตถูกต้องและไม่ถูกต้อง ล้วนเดินชนกันในตลาดอสังหาฯ ตลาดท่องเที่ยว ไปจนถึงแวดวงร้านอาหารต่างชาติ (ที่ไม่ต้องระบุประเทศคุณก็รู้ว่าใคร) เหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าเมืองด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และใช้ความได้เปรียบทางค่าเงินเข้าซื้อธุรกิจในชนิดที่เย้ยกฎหมายไทยอยู่หลายข้อ ขณะที่ทางการไทยได้แต่นั่งมองสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่แก้ไขอะไร

สถานการณ์ครึ่งปีหลัง ที่หลายคนบอกว่ายังมองไม่เห็นทางออก สำหรับผู้เขียนแล้วยิ่งกว่านั้น ด้วยเห็นวิธีการจัดการของภาครัฐทำให้รู้สึกมืดมนมากกว่า เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นแนวนโยบายแก้ไขจากทางการ

หกเดือนที่เหลือต่อจากนี้คงได้แต่อยู่กันไปแบบอึดอัดใจ สภาพไม่ต่างอะไรจากประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านที่เคยบอกกับสื่อเมื่อตอนน้ำท่วมว่า “เราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากไหว้พระและขอให้ท่านช่วยให้เราผ่านพ้นในวันที่ยากลำบากแบบนี้ให้ได้”

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ