เทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ อยากเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคนไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่อัญเชิญมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อความเป็นสิริมงคลรับศักราชใหม่ โดยพระเขี้ยวแก้วนี้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 5 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 14 ก.พ. 2568 โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่น่ารู้ ดังนี้
พระเขี้ยวแก้ว คืออะไร
พระเขี้ยวแก้ว คือพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่เป็นพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้า ซึ่งตามลักขณสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้มีการกล่าวถึง “มหาปุริสลักขณะ 32 ประการ” หรือผู้ที่เกิดมามีลักษณะพิเศษ มีตอนหนึ่งที่ระบุถึงลักษณะของพระทาฐะ หรือเขี้ยวของมหาบุรุษว่า “เขี้ยวทั้งสี่งามบริสุทธิ์” ทำให้เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีด้วยกันทั้งหมด 4 องค์ โดย 2 องค์ ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และที่บาดาลภพของพญานาค สถานที่ละ 1 องค์
ส่วนอีก 2 องค์ที่เหลือ ประดิษฐานอยู่บนโลก องค์ที่ 1 ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว กลางเมืองแคนดี ที่ประเทศศรีลังกา มักเรียกกันว่า พระเขี้ยวแก้วศรีลังกา และองค์ที่ 2 เป็นองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในเวลานี้ โดยเป็นองค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศจีน เรียกกันว่า พระเขี้ยวแก้วจีนวัดหลิงกวง
ข้อมูลจากกรมประชาสัมพันธ์ วัดหลิงกวง เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชศกต้าลี่แห่งราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 766-779) ในชื่อ วัดหลงฉวน ต่อมาถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1162 สมัยราชวงศ์จิน และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดเจว๋ซาน ต่อมาในปี ค.ศ. 1071 ราชวงศ์เหลียว สร้างพระเจดีย์เจาเซียน เพื่อประดิษฐาน “พระเขี้ยวแก้ว” เป็นพระเจดีย์ที่มีสัณฐานทรงแปดเหลี่ยม สร้างด้วยอิฐสลัก มีขนาดใหญ่ จนมาในปี ค.ศ. 1436-1449 ราชวงศ์หมิงก็ได้มีการต่อเติมให้วัดมีขนาดใหญ่ขึ้น จากนั้น วัดหลิงกวงก็ได้กลายเป็นสถานที่สำคัญของกรุงปักกิ่งมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมและทัศนียภาพงดงาม
ตามตำนานเชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 2 ที่วัดหลิงกวง ถูกอัญเชิญมาจากอาณาจักรโบราณในพื้นที่ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน หลังจากนั้นได้รับการอัญเชิญต่อไปยังพื้นที่ทางตะวันตกของจีน (พื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียงฯ ในปัจจุบัน) กระทั่งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในยุคราชวงศ์ใต้ พระภิกษุฟาเหียนได้จาริกไปยังพื้นที่ดังกล่าว และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ไปยังกรุงเจี้ยนคัง เมืองหลวงของราชวงศ์ฉีใต้ (นครหนานจิงในปัจจุบัน) หลังการสถาปนาราชวงศ์สุย พระเขี้ยวแก้วได้รับการอัญเชิญไปยังนครฉางอาน ต่อมา ในยุคห้าราชวงศ์ ซึ่งเกิดความระส่ำระสายอย่างหนักในพื้นที่ตอนกลางของจีน พระเขี้ยวแก้วได้รับการอัญเชิญมาถึงยังเมืองกรุงเยี่ยนจิง (กรุงปักกิ่งในปัจจุบัน) เมืองหลวงของราชวงศ์เหลียวเหนือ และได้รับการประดิษฐานในพระเจดีย์เจาเซียนเมื่อปี ค.ศ. 1071
อย่างไรก็ตาม พระเจดีย์องค์นี้ถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1900 จากเหตุความวุ่นวายในกรุงปักกิ่งด้วยการบุกรุกของกองกำลังแปดชาติ ต่อมาในปี ค.ศ. 1901 ขณะที่ทำการเก็บกวาดซากปรักหักพัง คณะสงฆ์ได้ค้นพบกล่องศิลาบรรจุองค์พระเขี้ยวแก้ว ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ส่วนฐานของพระเจดีย์ กระทั่งปี ค.ศ. 1957 พุทธสมาคมจีนได้ริเริ่มการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นโดยการสนับสนุนของผู้นำจีน การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำการอัญเชิญองค์พระเขี้ยวแก้วเข้าประดิษฐานเป็นการถาวรในปี ค.ศ. 1964 จนในปี ค.ศ. 1983 วัดหลิงกวงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธที่สำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่น โดยคณะรัฐมนตรีจีน และในปัจจุบัน วัดหลิงกวงมิได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วในพระเจดีย์ได้เป็นการทั่วไป แต่ครั้งนี้ รัฐบาลไทยไปทำเรื่องขออัญเชิญมาได้
ซึ่งพระเขี้ยวแก้ว องค์ที่ 2 ที่วัดหลิงกวงนี้ เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในประเทศต่าง ๆ มาแล้ว 16 ครั้ง โดยประเทศไทยเคยได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอันเป็นสิริมงคลหนึ่งของประเทศไทย
พระเขี้ยวแก้ว สัญลักษณ์แห่งปัญญาตรัสรู้และแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม
แม้ว่าองค์พระบรมสารีริกธาตุจะมิใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและเป็นสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ พระเขี้ยวแก้วจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เนื่องจากตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้วมีด้วยกัน 2 องค์ (บนโลก) ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีความเชื่อหลัก ๆ แบ่งเป็น 2 ทาง ได้แก่ พระเขี้ยวแก้วศรีลังกา และพระเขี้ยวแก้วจีน ซึ่งก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วก็เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วคือสิ่งสำคัญสูงสุดอีกอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ด้วยเป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธ
สำหรับพระเขี้ยวแก้วศรีลังกา มีที่มาความเชื่อจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่บันทึกถึงการมาเยือนศรีลังกาของพระพุทธเจ้าเอาไว้ 3 ครั้ง ถือเป็นรากฐานศาสนาพุทธมาจนถึงปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วที่เป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้า จึงเชื่อกันว่าหากผู้ใดครอบครองจะเป็นผู้มีอำนาจดุจราชา พระเขี้ยวแก้วศรีลังกาจึงประดิษฐานอยู่ประเทศศรีลังกามายาวนานกว่า 1,700 ปี โดยมีผู้คนเข้ามาสักการะอยู่เสมอ และไม่เคยถูกนำไปประดิษฐานที่อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ในส่วนของพระเขี้ยวแก้วจากวัดหลินกวง เชื่อกันว่า ผู้คนต่างมองเห็นพระเขี้ยวแก้วในลักษณะและสีที่แตกต่างกัน บางคนเห็นเป็นสีทองล้วน บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วนหรือขาวหม่น ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พระเขี้ยวแก้วถือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเดิม เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาและการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รัฐบาลไทยอัญเชิญมาประดิษฐานที่ไทยชั่วคราว เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสสำคัญ
พระเขี้ยวแก้วจากวัดหลิงกวง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกอัญเชิญมามาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ บริเวณมณฑลพิธีทองสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และเนื่องในโอกาสการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568
พระเขี้ยวแก้วที่ถูกนำมาประดิษฐานที่ประเทศไทย จะเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่าง วันที่ 5 ธ.ค. 2567 – 14 ก.พ. 2568 เป็นเวลา 72 วัน ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. (โปรดแสดงบัตรประชาชน/ใบขับขี่/พาสปอร์ตต่อเจ้าหน้าที่ประตูทางเข้า เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เข้า หากไม่มีบัตรแสดงตน) และจะอัญเชิญกลับประเทศจีนในวันที่ 15 ก.พ. 2568
สำหรับพิธีสักการะ จะมีขึ้นทุกวัน แบ่งเป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.00-12.00 น. และช่วงเย็น เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ส่วนพิธีเจริญจิตตภาวนา จะมีขึ้นทุกวันพระ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตามวันสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 กิจกรรมวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่จีน) ในวันที่ 29 ม.ค. 2568 และกิจกรรมวันมาฆบูชา ในวันที่ 12 ก.พ. 2568
ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี
ไทยและจีน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) โดยนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายกรัฐมนตรีจีน โจว เอินไหล ในสมัยของประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในด้านต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
การเจริญสัมพันธทางการทูตในครั้งนั้น ทำให้ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง และสถานกงสุลใหญ่ 9 แห่ง คือที่นครกว่างโจว นครคุนหมิง นครเซี่ยงไฮ้ นครเฉิงตู นครหนานหนิง นครซีอาน เมืองเซี่ยเหมิน เมืองฮ่องกง และเมืองชิงต่าว และในส่วนของจีน มีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และสถานกงสุลใหญ่ในไทย 3 แห่ง สำนักงานการกงสุล 1 แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ สถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดสงขลา และสถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานการกงสุล ณ จังหวัดภูเก็ต
ขึ้นปีใหม่นี้ เชิญชวนไปสักการะพระเขี้ยวแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับใครที่ต้องการจะเดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล สามารถเดินทางไปด้วยรถสาธารณะจะสะดวกที่สุด เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถและอาจจะต้องเดินไกลมาก ซึ่งทาง ขสมก. ก็ได้จัดการเดินรถโดยสารให้บริการประชาชน จำนวน 2 เส้นทาง (จอดรับ-ส่งทุกป้าย) บริการตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2567 – 14 ก.พ. 2568 โดยท่าต้นทางเที่ยวแรก จะเริ่มเดินรถเวลา 07.00 น. และให้บริการเที่ยวสุดท้าย เวลา 19.30 น. ส่วนท่าปลายทาง เที่ยวสุดท้าย เวลา 20.30 น. หรือจนกว่าผู้มาร่วมงานหมดพื้นที่ โดยจะมีรถบริการทุก ๆ 20 นาที
เส้นทางที่ 1 เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามหลวง (จอดส่งใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร)
เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ฯ – ถนนพญาไท – แยกพญาไท – ถนนศรีอยุธยา – วัดเบญจมบพิตรฯ – แยกกองทัพภาคที่ 1 – ถนนราชดำเนินนอก – ถนนราชดำเนินกลาง – สุดเส้นทางที่สนามหลวง (บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า)
เส้นทางที่ 2 เส้นทางวงเวียนใหญ่-สนามหลวง (จอดส่งตรงข้ามศาลฎีกา)
เริ่มตันจากวงเวียนใหญ่ – ถนนประชาธิปก – ข้ามสะพานพุทธ – ถนนมหาราช – ถนนสนามไชย – ถนนราชดำเนินใน – สุดเส้นทางที่สนามหลวง (ตรงข้ามศาลฎีกา)